Go www.kriengsak.com

ประวัติ

ครอบครัว

งานวิชาการ

กิจกรรม

Press

Contact us

ค้นหา

 

ขอคิดอย่างสร้างสรรค์


เงินบาทแข็งค่า:ปัญหาและทางออกของผู้ส่งออกไทย  (2)
Baht Appreciation: Problems and solutions for Thai exporters ( 2 )
 

25  ธันวาคม 2549

เรียนมิตรสหายที่เคารพรัก                                   

             มาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทยในการสกัดการไหลเข้าของเงินทุนระยะสั้นโดยกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์กันสำรองเงินตราต่างประเทศร้อยละ  30  ได้สร้างผลกระทบต่อการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และบั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างประเทศอย่างมาก จึงควรเป็นบทเรียนครั้งสำคัญของภาครัฐโดยการกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาจะต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ และมีการประเมินผลกระทบให้รอบด้านมากกว่านี้

                 ทั้งนี้ ผมมีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับมาตรการแก้ไขปัญหาเงินบาทแข็งค่าในกรอบระยะสั้นและระยะยาว เพื่อส่งเสริมให้เศรษฐกิจไทยสามารถแข่งขันภายใต้ระบบเศรษฐกิจโลก  ดังนี้

1   มาตรการระยะสั้น

1.1     ดูแลอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้อยู่ในระดับที่สมดุล

ในภาวะที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้คาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อปี 2550 มีแนวโน้มชะลอตัวลง เนื่องจากเงินเฟ้อได้ผ่านจุดสูงสุดมาแล้ว เช่นเดียวกับอัตราดอกเบี้ยในประเทศที่อยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน นักลงทุนจึงคาดการณ์ว่า อัตราดอกเบี้ยจะมีแนวโน้มลดลง ซึ่งจะส่งผลทำให้ราคาของพันธบัตรในตลาดเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต (เพราะเมื่ออัตราดอกเบี้ยลดลง คนจะถอนเงินฝากไปซื้อพันธบัตรมากขึ้น) สถานการณ์เช่นนี้จึงดึงดูดให้นักลงทุนเข้ามาซื้อพันธบัตรเพื่อเก็งกำไร ผมจึงเห็นว่าธนาคารแห่งประเทศไทยควรพิจารณาแนวทางลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ และลดแรงดึงดูดเงินลงทุนระยะสั้นที่เข้ามาเก็งกำไรในตลาดพันธบัตร

1.2     สกัดกั้นการเก็งกำไรค่าเงินบาทต่อเนื่อง

ผมเห็นว่าเครื่องมือที่ใช้แก้ไขปัญหาในปัจจุบันยังมีความจำกัด ผมจึงขอเสนอแนะให้ภาครัฐทำการศึกษาวิจัยเครื่องมือใหม่ ๆ เพิ่มเติม    เพื่อทำให้มาตรการสกัดกั้นการเก็งกำไรค่าเงินบาทเกิดประสิทธิผลอย่างต่อเนื่อง และควรมีการทบทวนเพื่อเปรียบเทียบประสิทธิผลของมาตรการต่าง ๆ ที่ออกไปแล้วอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้รัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทยควรพิจารณานโยบายการส่งสัญญาณทางเศรษฐกิจ เพื่อสร้างความคาดหวัง (expectation) ของตลาดในทิศทางที่เหมาะสม (หรือที่เรียกว่า anticipated policy) อันจะทำให้ตลาดค่อย ๆ ปรับตัวเองไปในทิศทางที่พึงประสงค์ แม้ภาครัฐยังไม่ได้ดำเนินนโยบายใด ๆ

1.3     ขยายตลาดส่งออกในปี 2550 ให้มีความหลากหลายมากขึ้น

โครงสร้างการส่งออกของไทยพึ่งพาตลาดสหรัฐมาก ผมจึงเห็นว่าภาครัฐและภาคเอกชนของไทยควรร่วมมือกันในการพัฒนาและขยายตลาดส่งออกให้มีความหลากหลายมากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงจากการส่งออกเป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ

1.4     ลดการนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือย เพิ่มการนำเข้าสินค้าทุน

ผลกระทบจากค่าเงินบาทแข็งทำให้การนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือยเพิ่มมากขึ้น ขณะที่การนำเข้าสินค้าทุนและเครื่องจักรไม่ไดเพิ่มขึ้นมากนัก ผมจึงเห็นว่าภาครัฐและภาคเอกชนควรใช้วิกฤตเงินบาทแข็งค่าให้เป็นโอกาส ด้วยการลงทุนเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เนื่องจากการนำเข้าวัตถุดิบและเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมีราคาต่ำลง ในขณะเดียวกันควรรณรงค์ให้ประชาชนลดการบริโภคสินค้านำเข้าที่ฟุ่มเฟือย โดยดำเนินการอย่างต่อเนื่องไม่ใช่เฉพาะช่วงเวลาที่เงินบาทแข็งค่าเท่านั้น และอาจพิจารณาความเป็นไปได้ในการเพิ่มอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับสินค้านำเข้าที่เป็นสินค้าฟุ่มเฟือย

1.5     ลดอัตราดอกเบี้ยและภาษีแก่ผู้ส่งออกรายย่อยที่ได้รับผลกระทบ

ในกรณีที่ผู้ส่งออกรายย่อยได้รับผลกระทบมากจนมีความจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือ ผมขอเสนอให้รัฐบาลกำหนดนโยบายให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) พิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยแก่ผู้ส่งออกรายย่อย ที่ได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทแข็งมากกว่าผู้ประกอบการรายใหญ่ รวมถึงจัดสรรสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนกรณีพิเศษ เพื่อให้ผู้ประกอบการใช้ปรับโครงสร้างต้นทุนทางการเงิน (re-finance) และให้กระทรวงการคลังพิจารณาความเป็นไปได้ในการลดหย่อนภาษีบางประเภทเพื่อช่วยลดต้นทุนให้แก่ผู้ประกอบการ

1.6     ดูแลผู้ใช้แรงงานที่ได้รับผลกระทบ

ภาครัฐควรเตรียมมาตรการรองรับผลกระทบของค่าเงินต่อการส่งออกสินค้าเกษตร และในกรณีผู้ประกอบการธุรกิจส่งออกลดการจ้างงานโดยการปลดพนักงาน เช่น มาตรการเร่งรัดการลงทุนภาครัฐเพื่อเพิ่มอัตราการจ้างงาน มาตรการส่งเสริมให้ผู้ว่างงานประกอบอาชีพอิสระ มาตรการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน และการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าเกษตร  และการสร้างเครือข่ายรองรับทางสังคม (social safety net) ให้ครอบคลุมทุกปริมณฑลของประเทศ เป็นต้น

                    2 มาตรการระยะยาว

2.1 ผลักดันนโยบายเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้เป็นวาระเร่งด่วนของชาติ

ภาครัฐควรผลักดันนโยบายเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้เป็นวาระเร่งด่วนของชาติ โดยดำเนินการอย่างเป็นระบบ ต่อเนื่อง และจริงจัง โดยมีแผนแม่บทเพื่อสร้างขีดความสามารถการแข่งขันระยะยาวที่ชัดเจนให้แก่ประเทศ ดำเนินการอย่างครอบคลุมทั้งเรื่องการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ การเพิ่มคุณภาพการผลิต การพัฒนาเทคโนโลยี การเพิ่มทักษะของคน  การผลิตสินค้าที่มีมูลค่าสูง  พัฒนาด้านการวิจัย และ โครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ  เป็นต้น

                    2.2 เร่งรัดการพัฒนาระบบโลจิสติกส์และการใช้พลังงานทางเลือก

ภาครัฐควรเร่งดำเนินการพัฒนาระบบโลจิสติกส์และการใช้พลังงานทางเลือก เพื่อส่งเสริมการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตและเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันแก่ผู้ประกอบการไทย เนื่องจากภาคการผลิตในประเทศไทยมีต้นทุนด้านโลจิสติกส์และพลังงานค่อนข้างสูงมาก

2.3  ผลักดันนโยบายการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้เป็นวาระเร่งด่วนของชาติ

เหตุที่การเปลี่ยนแปลงของค่าเงินเพียงเล็กน้อยส่งผลกระทบ ทำให้ผู้ประกอบการในบางอุตสาหกรรมขาดความสามารถในการแข่งขัน เนื่องจากมูลค่าเพิ่มของสินค้าส่งออกค่อนข้างต่ำ ทำให้ผู้ส่งออกต้องแข่งขันด้านราคาเป็นหลัก ปัญหามูลค่าเพิ่มของการผลิตต่ำส่วนหนึ่งเกิดจากความล่าช้าอย่างมากในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ รวมทั้งขาดทิศทางการพัฒนาที่ชัดเจน ผมขอเสนอให้รัฐบาลจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยบูรณาการการพัฒนาให้เชื่อมโยงระหว่างกระทรวงต่าง ๆ อย่างเป็นระบบ เพื่อตอบโจทย์ของประเทศได้อย่างครบถ้วนทุกมิติ

 


-------------------------------