Go www.kriengsak.com

ประวัติ

ครอบครัว

งานวิชาการ

กิจกรรม

Press

Contact us

ค้นหา

 

ขอคิดอย่างสร้างสรรค์


เงินบาทแข็งค่า
: ปัญหาและทางออกของผู้ส่งออกไทย
Baht fluctuation: Problems and solutions for Thai exporters
 

16 ธันวาคม 2549

เรียนมิตรสหายที่เคารพรัก                                   

ปัจจุบันผู้ประกอบการส่งออกของไทย อาทิ กลุ่มธุรกิจการเกษตร สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม รองเท้า เครื่องหนัง เฟอร์นิเจอร์ ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเลคทรอนิคส์ อาหาร รวมทั้งผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม ต่างได้รับผลกระทบจากเงินบาทแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ โดยตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันเงินบาทแข็งค่าขึ้นกว่าร้อยละ12

หากวิเคราะห์สาเหตุที่ทำให้เงินบาทแข็งค่า ผมเห็นว่ามาจากปัจจัยด้านอุปสงค์และอุปทาน (Demand and Supply) ของค่าเงินบาทและดอลลาร์สหรัฐ โดยปัจจุบันตลาดเงินตราต่างประเทศทั้งในและระหว่างประเทศมีความต้องการซื้อเงินบาทมากกว่าความต้องการขาย ตรงข้ามกับค่าเงินดอลลาร์ของสหรัฐที่ตลาดมีความต้องการขายมากกว่า ทั้งนี้ผมประเมินว่าการที่เงินบาทมีความต้องการสูงในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐมาจากสาเหตุ ดังนี้

ประการแรกภาวะความไม่สมดุลของเศรษฐกิจโลก (Global Imbalance) สาเหตุหลักของค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเกิดจากปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจของสหรัฐที่อยู่ในภาวะขาดดุลแฝดต่อเนื่อง กล่าวคือ มีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและขาดดุลงบประมาณจำนวนมาก ปัญหาดังกล่าวทำให้ความเชื่อมั่นที่มีต่อค่าเงินดอลลาร์สหรัฐลดลง ค่าเงินดอลลาร์จึงอ่อนค่าและถูกเทขายอย่างต่อเนื่อง โดยนับตั้งแต่ปี 2545 ถึงปัจจุบันเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงแล้วกว่าร้อยละ 23 เมื่อเงินดอลลาร์อ่อนค่าจึงทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นโดยเปรียบเทียบ

ประการที่สองกระแสเงินทุนไหลเข้าไทยและภูมิภาคเอเชีย เงินบาทแข็งค่าตามค่าเงินในเอเชียที่แข็งค่าต่อเนื่อง เพราะกระแสเงินทุนไหลเข้าจากประเทศที่ขาดดุล โดยเฉพาะจากสหรัฐไปสู่ประเทศที่เกินดุลในภูมิภาคเอเชีย โดยเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียที่มีการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ทำให้มีกระแสเงินทุนไหลเข้าไทยอย่างต่อเนื่องทั้งตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตร โดยในเดือนกรกฎาคม 2549 มีเงินทุนเข้าไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ไหลเข้ามาในเอเชียเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 4.9

ประการที่สามต่างชาติเก็งกำไรค่าเงินบาท เนื่องจากเงินบาทแข็งค่าเร็วกว่าพื้นฐานเศรษฐกิจ ทำให้ต่างชาติหาช่องเก็งกำไรโดยใช้วิธีนำเงินดอลลาร์เข้ามาซื้อเงินบาทเพื่อซื้อพันธบัตรที่ธนาคารพาณิชย์ถืออยู่ในช่วงสั้น ทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นและราคาพันธบัตรสูงขึ้น แล้วจึงขายพันธบัตรและขายเงินบาทเพื่อทำกำไร ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงและราคาพันธบัตรต่ำลง หลังจากนั้นนักเก็งกำไรจะนำเงินกลับเข้ามาลงทุนใหม่อีกหลายรอบ (Sell-Buyback) ซึ่งวิธีการเข้ามาซื้อพันธบัตรเป็นการหาช่องว่างจากกฎของธนาคารแห่งประเทศไทยที่จำกัดวงเงินบัญชีของผู้ที่มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ (Non-residence)

ประการที่สี่การขยายตัวของการส่งออก ประเทศไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่อง 3 ไตรมาสที่ผ่านมา โดยมีมูลค่าการเกินดุลฯรวม 2.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ปี 2548 ขาดดุล 3,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากภาคส่งออกขยายตัวในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2549 ถึงร้อยละ 16.7 มีมูลค่าส่งออกรวมกว่า 95,616.8 ล้านดอลลาร์ ทำให้ทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มสูงขึ้นเป็น 6.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นปัจจัยเกื้อหนุนให้เงินบาทแข็งค่ามากขึ้น

ภาวะเงินบาทแข็งค่าดังกล่าว ทำให้ผมกังวลถึงผลกระทบต่อผู้ส่งออก โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้วัตถุดิบในประเทศจะได้รับผลกระทบมาก เช่น กลุ่มผู้ประกอบการที่มีส่วนต่างระหว่างต้นทุนกับผลกำไรไม่สูง กลุ่มธุรกิจที่ผลิตเพื่อขายตลาดต่างประเทศในสัดส่วนที่สูงหรือมีรายรับส่วนใหญ่ในรูปสกุลเงินดอลลาร์ รวมถึงผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออกสินค้าเกษตรและอาหาร เป็นต้น กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการจ้างงานสูงอาจต้องปลดพนักงานบางส่วนหรือชะลอการจ้างงาน ชะลอหรือหยุดการผลิต ปัจจุบันมีผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อยต้องชะลอคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ เพราะไม่สามารถส่งสินค้าในราคาที่ลูกค้าต้องการได้เนื่องจากความผันผวนของค่าเงิน

เมื่อพิจารณาข้อเรียกร้องของผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ พบว่ามีทั้งการขอผ่อนคลายมาตรการทางการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย และมาตรการอุดหนุนเพื่อลดผลกระทบ เช่น มาตรการภาษี การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย รวมถึงการขอให้ภาครัฐดูแลไม่ให้เงินบาทแข็งค่าเกินกว่าร้อยละ 1-2 ซึ่งเป็นระดับที่ผู้ส่งออกสามารถยอมรับได้

ในทัศนะของผมเห็นว่าแนวโน้มเงินบาทจะมีทิศทางแข็งค่าต่อไปในปี 2550 จากกระแสเงินทุนไหลเข้าประเทศอย่างต่อเนื่อง ปัจจัยสำคัญมาจากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยทิศทางค่าเงินดอลลาร์สหรัฐในระยะยาวจะอ่อนค่าลงสม่ำเสมอ เพราะเศรษฐกิจสหรัฐจะเผชิญความเสี่ยง 2 ประการคือประเทศต่าง ๆ ในโลกอาจจะลดหรือละทิ้งสินทรัพย์สกุลดอลลาร์จำนวนมาก และสหรัฐจะยังคงเผชิญปัญหาขาดดุลการค้าต่อไป โดยเฉพาะกับจีน ทั้งนี้ผมประเมินว่าเงินบาทในปี 2550 จะแข็งค่าขึ้นกว่าปีนี้ประมาณ 1-1.5 บาท อยู่ระหว่าง 35-36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

อย่างไรก็ตามการกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาเงินบาทแข็งค่าจะต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ  โดยการดำเนินมาตรการดูแลค่าเงินบาทไม่ให้เข้มงวดจนส่งผลกระทบต่อภาวะการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งจะทำให้ขาดความยืดหยุ่นในการนำเงินเข้ามาลงทุนที่ไม่ได้หวังเก็งกำไรในระยะสั้น โดยธนาคารแห่งประเทศไทยควรดำเนินมาตรการดูแลไม่ให้ค่าเงินผันผวนมากเกินไป และดำเนินมาตรการสกัดกั้นการเก็งกำไรค่าเงินบาทให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น ควรพิจารณาความเป็นไปได้ในการเก็บภาษีเงินทุนระยะสั้นมาบังคับใช้ เป็นต้น

ผมเห็นว่าไทยควรมีมาตรการแก้ไขปัญหาเงินบาทแข็งค่าที่มีความสมดุลและยั่งยืน โดยกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาทั้งในกรอบระยะสั้น ปานกลาง และระยะยาว เพื่อให้เศรษฐกิจไทยสามารถแข่งขันภายใต้ระบบเศรษฐกิจโลกได้อย่างแท้จริง ซึ่งผมจะขอนำเสนอในโอกาสต่อไป

  



-------------------------------