Go www.kriengsak.com

ประวัติ

ครอบครัว

งานวิชาการ

กิจกรรม

Press

Contact us

ค้นหา

 

ขอคิดอย่างสร้างสรรค์

ความฉาบฉวยของนโยบาย SME
The Slovenliness of SME Policy

 

6 ธันวาคม 2548

 

เรียนมิตรสหายที่เคารพรัก

จากการพิจารณารายงานประจำปี 2547 ของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ SME Bank ซึ่งระบุว่าธนาคารได้รับการคัดเลือกให้เป็น “ธนาคารดีเด่นแห่งปี 2547” จากนิตยสารดอกเบี้ย และมูดี้ส์ฯจัดอันดับธนาคารและตราสารหนี้ระยะยาวที่เป็นสกุลเงินตราต่างประเทศและตราสารหนี้ระยะสั้น ว่าเป็นอันดับความน่าเชื่อถือที่ดี

ผมมั่นใจว่า รางวัลที่ SME Bank ได้รับเป็นฝีมือของผู้บริหารและพนักงานล้วนๆ แต่น่าจะทำได้ดียิ่งกว่านี้อีก หากไม่ถูกฉุดรั้งด้วยนโยบายของรัฐบาล ซึ่งกลายเป็นจุดบกพร่องในผลการดำเนินงาน อาจทำให้ไม่เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด หรือทำให้ธนาคารเสียหายได้ แม้ผู้บริหารและพนักงานทำงานอย่างดีที่สุดแล้วก็ตาม

ประการแรก นโยบายที่สุ่มเสี่ยง นโยบายรัฐบาลได้สร้างความเสี่ยงที่เกินความจำเป็นให้แก่ SME Bank อาทิ โครงการสินเชื่อ fast-track คือ ให้กู้โดยไม่ต้องมีวงเงินค้ำประกัน แต่ใช้เพียงผู้ค้ำประกันเท่านั้น ทำให้มีโอกาสเบี้ยวหนี้สูงกว่าการใช้หลักทรัพย์ ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่ NPL ของ SME Bank จะอยู่ในระดับสูงกว่าสถาบันการเงินอื่นๆ ณ สิ้นปี 2547 มี NPL ถึง 22.52% ของยอดสินเชื่อ หรือสูงขึ้น 70.44% เมื่อเทียบกับปี 2546

ประการต่อมา นโยบายที่กระเซ็นกระสาย รัฐบาลให้ SME Bank รับผิดชอบปล่อยกู้ในโครงการต่าง ๆ เช่น สินเชื่อ OTOP ครัวไทยสู่โลก แก้ไขหนี้ภาคประชาชน เป็นต้น แต่กลับพบว่าแต่ละโครงการมีจำนวนผู้ได้รับสินเชื่อน้อยมาก และมีวงเงินให้สินเชื่อต่ำกว่าเป้าหมายมาก ทั้งนี้จากทั้งหมด 11 โครงการ ยกเว้นสินเชื่อปกติและ fast track มีการให้สินเชื่อไม่ถึง 1%ของเป้าหมายถึง 10 โครงการ

ประการที่สาม นโยบายที่ขัดแย้งกันเอง ด้านหนึ่งรัฐบาลสนับสนุน SME Bank โดยให้สินเชื่อให้กับ SME แต่อีกด้านหนึ่งรัฐบาลกลับอนุญาติให้ร้านค้าปลีกขนาดใหญ่มาตั้งใกล้เขตเมืองได้มากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อกิจการค้าปลีกรายย่อย ซึ่งมีจำนวนถึง 36% ของ SME ทั้งหมด ถึงแม้ประกาศดังกล่าวจะถูกระงับไปแล้ว แต่กรณีนี้สะท้อนให้เห็นถึงความขัดแย้งเชิงนโยบายของรัฐบาล

แม้ผลการดำเนินงานของ SME Bank ได้รับรางวัลมากมาย แต่ผลการดำเนินงานบางส่วนยังซ่อนความล้มเหลว ไม่ใช่เพราะว่าผู้บริหารไม่มีฝีมือหรือพนักงานไม่เก่ง แต่เป็นผลจากนโยบายที่ฉาบฉวยของรัฐบาลทำให้การทำงานในโครงการต่าง ๆ อาจได้ผลงานที่ไม่ยั่งยืน