Go www.kriengsak.com

ประวัติ

ครอบครัว

งานวิชาการ

กิจกรรม

Press

Contact us

ค้นหา

 

ขอคิดอย่างสร้างสรรค์


ปฏิรูประบบอุดหนุน กศ.
Reform the educational subsidy.

 

15 พฤศจิกายน 2549

เรียนมิตรสหายที่เคารพรัก                     

                ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา สำนักรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ได้ประเมินคุณภาพภายนอกสถานศึกษาในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รอบแรก พ.. 2544-2548) จำนวน 30,010 โรง ผลการประเมินพบว่า มีโรงเรียนจำนวน 1 ใน 3 อยู่ในมาตรฐานขั้นต่ำ และจำนวน 2 ใน 3 มีคุณภาพต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำกว่ามาตรฐาน ความคิดสร้างสรรค์ และการใฝ่รู้ต่ำ

จากผลการประเมินนี้ สะท้อนให้เห็นว่า นับตั้งแต่มีการปฏิรูปการศึกษาปี 2542 คุณภาพการศึกษาไทย ยังไม่ถูกพัฒนาให้ก้าวหน้าไปเท่าที่ควร แม้ที่ผ่านมาได้มีนักวิชาการ นักการศึกษา รวมทั้ง สมศ. พยายาม เสนอแนวทางพัฒนาคุณภาพการศึกษาไว้หลากหลาย แต่ผมคิดเห็นว่า แนวทางสำคัญที่เป็นคานงัดที่จะมีส่วนช่วยในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทยได้ จำเป็นต้องเริ่มจากการปรับปุรงจำนวนเงินอุดหนุนรายหัว เนื่องจากด้วยเป็นปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพในการจัดการศึกษาและผู้เรียนโดยตรง

สภาพการอุดหนุนที่ผ่านมาพบว่า นักเรียนในโรงเรียนต่าง ๆ ทั่วประเทศ จะได้รับเงินเงินอุดหนุนรายหัวในจำนวนที่เท่ากัน ซึ่งเป็นการอุดหนุนในเชิงปริมาณ แต่ไม่ได้ก่อให้เกิดการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนเท่าที่ควร โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกล ขาดแคลนทั้งครู และทรัพยากรทางการศึกษาที่จำเป็น ส่งผลให้คุณภาพการศึกษาด้อยกว่าโรงเรียนขนาดใหญ่ ดังนั้นโรงเรียนขนาดเล็กจึงจำเป็นต้องการงบประมาณที่มากขึ้น เพื่อปรับปรุงคุณภาพการศึกษา

ในประเด็นนี้ ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้นำมาจัดไว้ในนโยบายทิศทางการปฏิรูปการศึกษา ซึ่งได้แถลงต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2549 ที่ผ่านมา อีกทั้ง ได้มีการจัดทำแผนงบประมาณ เพื่อเพิ่มเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายรายหัว สำหรับนักเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในปีการศึกษา 2550 เพื่อให้สำนักงบประมาณพิจารณา โดยจะมีการเพิ่มเงินอุดหนุนให้แก่โรงเรียนขนาดเล็ก เพื่อช่วยเหลือเรื่องค่าใช้จ่าย และเพิ่มคุณภาพการศึกษา

บทความนี้  ผมขอสรุปซึ่งที่เคยนำเสนอบทความเรื่อง  จัดโรงเรียนเข้าชั้น ด้วยมาตรฐานเกณฑ์  เมื่อปี 2547 โดยนำเสนอระบบอุดหนุนการศึกษา โดยใช้เกณฑ์พิจารณาด้านคุณภาพและประสิทธิภาพการจัดการศึกษาของแต่ละโรงเรียน ซึ่งเป็นเกณฑ์พิจารณาเพิ่มเติม จากการใช้เกณฑ์ความเสมอภาคในการจัดสรรงบอุดหนุนการศึกษาที่ประเทศไทยใช้อยู่ เพื่อวางแผนจัดสรรเงินอุดหนุนรายหัวที่สอดคล้องความจำเป็น มีส่วนจูงใจและผลักดัน ให้เกิดการขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทย ดังนี้

ขั้นตอนที่ 1 กำหนดตัวชี้วัดของสถานศึกษาด้านคุณภาพและประสิทธิภาพ

การกำหนดตัวชี้วัดด้านคุณภาพและประสิทธิภาพของแต่ละโรงเรียน ใช้ในการวัดและจัดกลุ่มโรงเรียนว่ามีคุณภาพและประสิทธิภาพในระดับใด ตัวชี้วัดด้านคุณภาพของสถานศึกษา สามารถนำมาตรฐานการศึกษา ตัวบ่งชี้ และเกณฑ์การพิจารณา เพื่อการประเมินภายนอก ของสถานศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งมี 3 มาตรฐานคือ มาตรฐานด้านผู้เรียน มาตรฐานด้านครู และมาตรฐานด้านผู้บริหาร ส่วนตัวชี้วัดด้านประสิทธิภาพของโรงเรียน จะวัดด้านปัจจัยนำเข้า (input) และผลผลิต (output) ตัวอย่างตัวชี้วัดด้านปัจจัยนำเข้า ได้แก่ ค่าใช้จ่ายต่อหัวผู้เรียน จำนวนครู งบประมาณ ฯลฯ ตัวชี้วัดด้านผลผลิต เช่น ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน อัตราการจบการศึกษา อัตราการลาออกกลางคัน การเข้าศึกษาต่อ การมีงานทำ รวมถึงการมีคุณสมบัติที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน เป็นต้น

ขั้นตอนที่ 2 จัดกลุ่มโรงเรียน

จากการกำหนดตัวชี้วัดด้านคุณภาพ และประสิทธิภาพ สามารถนำมาจัดกลุ่มโรงเรียนได้เป็น 6 กลุ่มโรงเรียน ดังภาพนี้

                                                                                                                    

คุณภาพสูง

ข.

ก.

 

คุณภาพผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำ

ง.

ค.

เส้นคุณภาพขั้นต่ำ

คุณภาพต่ำ

ฉ.

จ.

 

 

ประสิทธิภาพต่ำ

ประสิทธิภาพสูง

 

           

กลุ่ม ก. โรงเรียนชั้นนำ (elite school) คือ โรงเรียนคุณภาพสูง และคุณภาพสูง

กลุ่ม ข. โรงเรียนคุณภาพสูง คือ โรงเรียนที่มีคุณภาพสูงแต่ประสิทธิภาพต่ำ

กลุ่ม ค. โรงเรียนประสิทธิภาพสูง คือ โรงเรียนที่มีคุณภาพตามมาตรฐานและประสิทธิภาพสูง

กลุ่ม ง. โรงเรียนธรรมดา คือ โรงเรียนที่มีคุณภาพตามมาตรฐานและประสิทธิภาพต่ำ

กลุ่ม จ. โรงเรียนต่ำกว่ามาตรฐาน คือ โรงเรียนที่มีคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐาน แต่มีประสิทธิภาพสูง

กลุ่ม ฉ. โรงเรียนตาย คือ โรงเรียนที่มีคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐานและประสิทธิภาพต่ำ

แนวทางการอุดหนุนโรงเรียนทั้ง 6 กลุ่ม

กลุ่มโรงเรียนชั้นนำ โรงเรียนในกลุ่มนี้รัฐบาลควรอนุญาตให้มีการแข่งขันเสรี และให้เก็บค่าเล่าเรียนลอยตัวได้ เพราะการแข่งขันอย่างเสรีและกลไกตลาดเป็นเครื่องมือสำคัญต่อการตรวจสอบคุณภาพ แต่คุณภาพสูงย่อมมาพร้อมกับค่าใช้จ่ายสูง ซึ่งรัฐจะต้องอุดหนุนนักเรียนเก่งแต่ยากจนให้มีโอกาสเข้าเรียนด้วย

กลุ่มโรงเรียนคุณภาพสูง เป็นกลุ่มโรงเรียนที่ต้องใช้ต้นทุนสูงในการจัดการศึกษา เพื่อให้คุณภาพเทียบเท่ากับโรงเรียนชั้นนำ รัฐบาลจึงควรสนับสนุนโรงเรียนกลุ่มนี้ โดยให้เงินสนับสนุนตามปกติ แต่อนุญาตให้เก็บค่าเล่าเรียนเพิ่มเติม เพื่อจูงใจให้โรงเรียนพัฒนาคุณภาพมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ควรมีมาตรการบังคับให้โรงเรียนกลุ่มนี้ ยกประสิทธิภาพการบริหารจัดการให้สูงขึ้น ในระยะเวลาที่กำหนด รวมทั้งอาจสนับสนุนให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมลงทุน (joint venture) เพื่อทำให้เกิดประสิทธิภาพในการดำเนินการมากขึ้น

กลุ่มโรงเรียนประสิทธิภาพสูง โรงเรียนกลุ่มนี้ควรได้รับการอุดหนุนมากกว่าปกติ หรือสนับสนุนให้ภาคเอกชนร่วมลงทุน เนื่องจากมีแนวโน้มที่โรงเรียนกลุ่มนี้จะพัฒนาคุณภาพได้เร็ว เพื่อให้มีทุนพัฒนาคุณภาพจนกลายเป็นโรงเรียนชั้นนำ

กลุ่มโรงเรียนธรรมดา รัฐบาลควรให้การอุดหนุนงบประมาณตามอัตราปกติ แต่ควรมีมาตรการช่วยเหลือด้านวิชาการ และการสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญเข้าไปช่วยเพิ่มคุณภาพ และประสิทธิภาพในการจัดการศึกษาในโรงเรียนกลุ่มนี้

กลุ่มโรงเรียนต่ำกว่ามาตรฐาน รัฐควรเพิ่มการอุดหนุนด้านงบประมาณ ด้านวิชาการ และสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญเข้าไปช่วยเพิ่มคุณภาพการจัดการศึกษา หรือให้เอกชนเข้ามาเพิ่มทุนดำเนินการ รวมทั้งมีการกำหนดเส้นตายให้โรงเรียนพัฒนาคุณภาพตนเอง หากทำไม่ได้ต้องให้ปิดโรงเรียน หรือบังคับขายให้ภาคเอกชนอื่นเข้ามาดำเนินการแทน

กลุ่มโรงเรียนตาย รัฐบาลไม่ควรอนุญาตให้โรงเรียนกลุ่มนี้ทำการเรียนการสอน เปลี่ยนผู้บริหาร หรือการยุบรวมกับโรงเรียนอื่น หรือขายกิจการให้ภาคเอกชนเข้ามาฟื้นฟูกิจการ อย่างไรก็ตาม หากโรงเรียนบางแห่งในกลุ่มนี้อยู่ในชนบทห่างไกล หรือเป็นโรงเรียนสำหรับกลุ่มคนพิเศษที่ไม่สามารถยุบได้ รัฐบาลอาจต้องอุดหนุนเพิ่มขึ้น เพื่อยกระดับความสามารถในการจัดการศึกษาได้ตามเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพขั้นต่ำ 

สิ่งที่กล่าวมาข้างต้นนี้ เป็นการนำเสนอวิธีจัดกลุ่มโรงเรียน เพื่อเป็นแนวทางสู่การกำหนดวิธีจัดสรรงบอุดหนุนการศึกษาขั้นพื้นฐานไปยังกลุ่มโรงเรียนต่าง ๆ ซึ่งจะสังเกตเห็นได้ว่า การปรับเพิ่มงบประมาณอุดหนุนให้แก่โรงเรียนเป็นเรื่องที่จำเป็น แต่การอุดหนุนด้วยตัวเงินเพียงอย่างเดียว ไม่เพียงพอต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียน ดังนั้นรัฐบาลจึงควรหาแนวทางการอุดหนุนในรูปแบบอื่นร่วมด้วย เช่น จัดหาผู้เชี่ยวชาญ การให้อิสระในการบริหารตนเอง รวมถึงการหามาตรการลงโทษ สำหรับโรงเรียนที่ไม่พัฒนาตนเอง ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการพัฒนาโรงเรียน ทั้งในด้านคุณภาพและประสิทธิภาพ

 



-------------------------------