จากการปราศรัยของ ฯพณฯ ทักษิณ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี
และหัวหน้าพรรคไทยรักไทย เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2549 ณ ท้องสนามหลวง
ซึ่งรักษาการนายกฯ กล่าวไว้ก่อนการปราศรัยว่า เป็นการเปิดใจ
และตอบข้อสงสัยในประเด็นคำถามที่คนสงสัย
แต่หากพิจารณาเนื้อหาของคำปราศรัยของรักษาการนายกฯ พบว่าเนื้อหาส่วนใหญ่
ทั้งเหตุผลของการยุบสภาและการจัดการเลือกตั้งอย่างเร่งรีบ ผลการบริหารเศรษฐกิจ
นโยบายของรัฐบาล และการชี้แจงกรณีการขายหุ้นชินคอร์ป
ล้วนเป็นข้อมูลที่สาธารณชนได้รับทราบอยู่แล้ว
และเป็นข้อมูลที่คุณทักษิณได้เคยชี้แจงผ่านช่องทางต่าง ๆ มาแล้วหลายครั้ง อาทิ
การชี้แจงโดยโฆษกประจำตระกูล เว็บไซต์ของบริษัทที่เป็นกิจการของครอบครัวคุณทักษิณ
การปราศรัยหาเสียง การชี้แจงและโฆษณาผลงานผ่านทางสื่อวิทยุ โทรทัศน์
และหนังสือพิมพ์
ประเด็นที่เป็นสิ่งใหม่ที่เกิดจากการปราศรัยของหัวหน้าพรรคไทยรักไทยในครั้งนี้ คือ
หนึ่ง การประกาศเดิมพันว่า หากประชาชนเลือกพรรคไทยรักไทยไม่ถึงร้อยละ 50
ของผู้ที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง คุณทักษิณจะไม่เป็นนายกรัฐมนตรี สอง
การยืนยันว่าจะให้คนกลางมาแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี บวกลบไม่เกิน 3
เดือน หลังจากนั้นจะยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ และ สาม
การแสดงท่าทีว่าจะกลับตัวกลับใจ โดยขอให้อดีตพรรคร่วมฝ่ายค้านลงเลือกตั้ง
และขอให้คุณสนธิ ลิ้มทองกุล พลตรีจำลอง ศรีเมือง และคุณเสนาะ เทียนทอง มาพูดคุยกัน
จากคำแถลงและท่าทีของคุณทักษิณ
ผมพบว่าคุณทักษิณทำผิดอย่างน้อย 3 ประเด็น ดังนี้
ประเด็นแรก สมมติฐานที่ผิด
การที่รักษาการนายกฯ เดิมพันว่า
จะไม่เป็นนายกรัฐมนตรี หากประชาชนเลือกพรรคไทยรักไทยไม่ถึงร้อยละ 50
ของผู้ที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง สะท้อนให้เห็นว่า คุณทักษิณมีสมมติฐานว่า
ปัญหาความขัดแย้งของสังคมที่เกิดขึ้นในเวลานี้ ไม่ได้เกิดจากตัวคุณทักษิณ
ซึ่งเป็นสมมติฐานที่ผิด และไม่อาจทำให้ความขัดแย้งคลี่คลายลงได้
เพราะในความเป็นจริง
ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทั้งหมด เกิดจากปัญหาคุณธรรมและจริยธรรม
ตลอดจนข้อสงสัยเกี่ยวกับความผิดทางกฎหมายของคุณทักษิณ ซึ่งปัญหาเหล่านี้
สามารถแก้ไขได้ด้วยวิธีการใช้กลไกตรวจสอบต่าง ๆ กระบวนการตุลาการ
รวมทั้งการตอบคำถามและแสดงหลักฐานทุกข้อสงสัยที่ยังมีอยู่
ขณะที่การเลือกตั้งเพื่อให้ประชาชนตัดสินว่า
ต้องการให้หัวหน้าพรรคไทยรักไทยเป็นนายกฯ หรือไม่นั้น
การเลือกตั้งไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อการตรวจสอบหรือพิพากษา
เพราะประชาชนไม่มีอำนาจตัดสินว่าใครบริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์
การใช้การเลือกตั้งมาฟอกตัว จึงไม่ต่างจากการใช้ ศาลเตี้ย หรือใช้
กฎหมู่อยู่เหนือกฎหมาย ดังที่คุณทักษิณเคยกล่าวหากลุ่มผู้ชุมนุมต่อต้านนายกฯ
ประเด็นที่สอง ท่าทีที่ผิด
การจัดการปราศรัยใหญ่ของรักษาการนายกฯ และพรรคไทยรักไทยในครั้งนี้
แม้จะอ้างว่าเป็นการเปิดใจ และตอบข้อสงสัยในประเด็นคำถามที่คนสงสัย
รวมทั้งความพยายามแสดงท่าทียอมถอย ยอมเจรจาของหัวหน้าพรรคไทยรักไทย
แต่จากคำปราศรัยและวิธีการจัดปราศรัย สะท้อนให้เห็นถึงท่าทีแบบ ตาต่อตา ฟันต่อฟัน
ซึ่งเป็นท่าทีอาจนำไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงยิ่งขึ้น
เราจะสังเกตได้จาก
ความพยายามจัดปราศรัยด้วยวิธีการเดียวกับการชุมนุมขับไล่นายกฯ
ตั้งแต่การเลือกสถานที่จัดปราศรัยที่ท้องสนามหลวง
การระดมพลให้มีเป็นจำนวนมากเพื่อประลองกำลังกับกลุ่มผู้ชุมนุมขับไล่นายกฯ การใช้วลี
ทักษิณ สู้สู้ การอ้างอิงสถาบันกษัตริย์
หรือแม้แต่การจบด้วยเพลงสรรเสริญพระบารมี
ส่วนการอ้างว่า
ตนเองยอมถอยสองก้าวนั้นหรือแสดงท่าทีว่าจะกลับตัวกลับใจนั้น
เป็นเพียงการแสดงละครอ้อนขอความเห็นใจจากประชาชน เพราะรู้ว่าคนไทยส่วนใหญ่ขี้สงสาร
แต่ท่าทีที่แท้จริงนั้น หัวหน้าพรรคไทยรักไทยยังไม่ได้ถอยเลยแม้แต่ก้าวเดียว
แต่พยายามเรียกร้องให้คนอื่นถอย โดยพยายามยัดเยียดข้อหาว่าอดีตพรรคร่วมฝ่ายค้านและกลุ่มผู้ชุมนุมคัดค้านนายกฯ
เป็นพวกไม่รักสันติ ไม่รักประชาธิปไตย และไม่อยู่ในกติกา
ประเด็นที่สาม ช่วงเวลาที่ผิด
การที่คุณทักษิณสัญญาว่า
จะตั้งคนกลางมาแก้ไขรัฐธรรมนูญ
และจะยุบสภาเมื่อร่างรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ตลอดจนการขอให้อดีตพรรคร่วมฝ่ายค้านลงสมัครเลือกตั้ง และขอให้เพื่อน ๆ
มาพูดคุยกันนั้น อาจเป็นข้อเสนอที่สายเกินไป
เพราะพรรคฝ่ายค้านได้เคยเสนอไว้ตั้งแต่ก่อนยุบสภาแล้ว และเพื่อน ๆ ของคุณทักษิณเอง
ได้พยายามจะพูดคุยกับคุณทักษิณด้วยวิธีต่าง ๆ มานานแล้ว แต่คุณทักษิณไม่ตอบสนอง
หากท่านปรารถนาจะพูดคุยกันด้วยใจจริงแล้ว
เหตุใดท่านไม่เคยเปิดใจคุยกับกลุ่มคนเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็น
การไม่ตอบคำถามของคุณสนธิ ที่เริ่มตั้งคำถามมาตั้งแต่เดือนกันยายน 2548
ไม่ตอบจดหมายของพลตรีจำลอง ที่ยื่นผ่านสื่อเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2549
หรือไม่พูดคุยกับคุณเสนาะ ตั้งแต่การอภิปรายโจมตีรัฐบาลตั้งแต่ปีที่แล้ว
ตลอดจนไม่ผลักดันการปฏิรูปการเมืองตั้งแต่ก่อนการยุบสภา และไม่รับสัตยาบรรณ ทั้ง ๆ
ที่อดีตพรรคร่วมฝ่ายค้านยอมถอยให้แล้ว แต่กลับปล่อยให้เหตุการณ์ล่วงเลย
จนยากเกินกว่าจะแก้ไขแล้ว
การปราศรัยของคุณทักษิณในครั้งนี้
จึงไม่ได้แสดงอาการว่ารักษาการนายกฯ จะกลับตัวกลับใจแต่อย่างใด
เพราะท่านยังมีสมมติฐานในใจเช่นเดิมและท่าทีเหมือนเดิม
คำปราศรัยดังกล่าวจึงยิ่งทำให้ความขัดแย้งทวีความรุนแรงขึ้นไปอีก
สถานการณ์ในเวลานี้จึงเปรียบเหมือนการ ตบหัวแล้วลูบหลัง ซึ่งไม่มีประโยชน์อันใด
หากคุณทักษิณมิได้มีหัวใจที่ใฝ่สันติ