จากการประกาศนโยบายการปลดหนี้ภาคประชาชน ซึ่งได้ประกาศมาตรการแก้หนี้ไป เมื่อ
18 ตุลาคม 2548
และหนี้สินภาคเกษตรกรที่กำลังดำเนินการอยู่ในเวลานี้ และหนี้สินอื่น ๆ
ที่ยังรอดำเนินการ เช่น หนี้กองทุนหมู่บ้าน หนี้สหกรณ์ หนี้กลุ่มออมทรัพย์
หนี้บัตรเครดิต ฯลฯ
ผมเชื่อว่านโยบายการปลดหนี้ภาคประชาชน
นอกจากจะเป็นเครื่องมือในการเรียกคะแนนนิยมแล้ว แต่มากไปกว่านั้นคือ
เป็นเครื่องมือเพื่อรักษาอำนาจของรัฐบาลอีกด้วย
หลายนโยบายของรัฐบาลส่งเสริมให้ประชาชนเป็นหนี้
ที่เรารู้จักกันดี เช่น กองทุนหมู่บ้าน การแปลงสินทรัพย์เป็นทุน ธนาคารประชาชน
เป็นต้น ล้วนส่งเสริมให้เป็นหนี้มากขึ้น
เมื่อประชาชน
ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนจนและมีหนี้ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้
ไม่มีเงินใช้คืน รัฐบาลจะเข้าไปช่วยล้างหนี้ให้
โดยใช้สถาบันการเงินของรัฐเป็นเครื่องมือ เช่น ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย ธกส.
เป็นต้น
จากนั้น
รัฐบาลจะมีนโยบายส่งเสริมให้ประชาชนเป็นหนี้รอบใหม่อีก
พร้อมทั้งจะเข้าไปช่วยเมื่อลูกหนี้เกิดปัญหาหนี้เสีย
กระบวนการจะวนไปวนมาอยู่อย่างนี้ไม่มีวันจบสิ้น
ในที่สุดประชาชนจะตกอยู่ในวงจรของหนี้ เมื่อจนมากขึ้น
ยิ่งต้องกู้เงินมากขึ้นเป็นเงาตามตัว ประชาชนแทนที่จะรวยขึ้นตามนโยบายของรัฐบาลที่ชอบกล่าวอ้างแต่กลับจนลง
ตัวเลขของสำนักงานสถิติฯชี้ให้เห็นชัดเจนว่าคนไทยจนลงเพราะหนี้เพิ่ม เฉพาะปี
2545-2547
หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 23.6 จาก
70,586 บาทต่อครัวเรือน ในปี 2543
เป็น 84,603 บาทต่อครัวเรือน และ 104,571
บาทต่อครัวเรือน ในปี 2545 และ 2547
เมื่อประชาชนผู้เป็นหนี้เพิ่มจำนวนขึ้นและมีหนี้มากขึ้น
ความหวังเดียวของพวกเขาคือรอรัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือ
นโยบายนี้จึงเป็นการควบคุมลูกหนี้ในทางอ้อม เพื่อให้ลูกหนี้เหล่านี้ลงคะแนนเลือกรัฐบาลกลับมามีอีก
เพื่อมาช่วยปลดหนี้ของพวกเขา
หากเป็นเช่นนั้น ประชาชนที่ยากจนจะอยู่ในสภาพคล้ายถูกพันธนาการโดยหนี้สิน
อันทำให้ต้องการใครก็ตามที่สัญญาจะปลดหนี้ให้อย่างรวดเร็ว ทันใจ
เพื่อจะสามารถไปสร้างหนี้ใหม่ได้อย่างต่อเนื่องไม่รู้จบ