Go www.kriengsak.com

ประวัติ

ครอบครัว

งานวิชาการ

กิจกรรม

Press

Contact us

ค้นหา

 

ขอคิดอย่างสร้างสรรค์

 

ผังเมืองกทม.ไม่ควร “เอื้ออาทร”
Bangkok’s City Planning Should Not Be Compromised

 

 

3  มิถุนายน 2549

เรียนมิตรสหายที่เคารพรัก   

ในวันที่ 23 กรกฎาคมนี้ จะเป็นวันสำคัญของชาวกทม.อีกวันหนึ่ง เพราะเป็นวันเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (สก.) และเลือกสมาชิกสภาเขต (สข.) ในเขตที่เหลือ หลังจากวันนี้ เราคงได้เห็น “ตัวแทนประชาชนชาวเมืองหลวง” ชุดใหม่เข้าปฏิบัติหน้าที่ในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติ

ในฐานะคน กทม. มีบางเรื่องที่อยากฝากให้ สก. และ สข. ชุดใหม่ที่จะเข้าปฏิบัติ ร่วมกับคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ได้พิจารณาในประเด็น “ความยุติธรรม” ของการบังคับใช้ผังเมืองฉบับใหม่

หลังจากแก้ไขปรับปรุงยาวนานถึง 2 ปี ในที่สุด กทม.ก็ได้ประกาศการใช้ผังเมืองรวม กทม. ใหม่ (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2) เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ..2549 ที่ผ่านมา สาระสำคัญประกอบด้วยแผนผังกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดิน เพื่อรองรับการขยายตัวของชุมชนในอนาคตไม่ให้เติบโตอย่างไร้ทิศทาง ได้แก้ไขรายละเอียดการใช้ประโยชน์ที่ดินให้สอดคล้องกับการเจริญเติบโตของเมือง ด้วยการวางผังแบบโรดแมป เพื่อรองรับจำนวนประชากรที่อาศัยอยู่ใน กทม.ล่วงหน้าไปถึง 20 ปี

 แม้ว่า การจัดวางผังเมืองกทม.ครั้งนี้ จะมีเสียงคัดค้านจากผู้ประกอบการและผู้ที่เกี่ยวข้องในแวดวงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ประเภทอาคารสูง เนื่องจากได้รับผลกระทบทำให้ต้นทุนที่ใช้ในการก่อสร้างสูงขึ้น พื้นที่ประโยชน์ใช้สอยลดน้อยลง และราคาขายสูงขึ้น เพราะต้องมีแนวร่นที่ต้องปล่อยไว้เป็นที่ว่าง และบางย่านที่เป็นย่านธุรกิจกลางใจเมืองไม่สามารถพัฒนาตึกสูงได้ แต่ในที่สุด จนถึงวันนี้ ผมก็คิดว่าผู้ประกอบการยินดีเสียสละและปฏิบัติตามโดยดี เพื่อให้เมืองของเรามีสภาพแวดล้อมที่น่าอยู่มากยิ่งขึ้น ไม่กลายสภาพเป็นชุมชนแออัดในอนาคต

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ผังเมืองฉบับใหม่นี้กลับยกเว้นให้กับ โครงการบ้านเอื้ออาทรของการเคหะแห่งชาติ กลับได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามเหมือนภาคเอกชน โดยอ้างว่าเป็นที่พักอาศัยของคนจน ต้นทุนต่ำ ถ้าทำตามกฎนี้ต้นทุนเพิ่มขึ้นทั้ง ๆ ที่โครงการเอื้ออาทรเป็นโครงการขนาดใหญ่ และมีคนอาศัยอยู่จำนวนมาก ซึ่งโอกาสที่ปัญหาสิ่งแวดล้อมย่อมเกิดขึ้นตามมาโดยง่าย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาขยะ น้ำเสีย ปัญหาชุมชนแออัด ปัญหาอาชญากรรม ฯลฯ

กทม.ควรใช้กฎนี้อย่างครอบคลุม และควรให้รัฐบาลหาวิธีช่วยเหลือทางอื่น เช่น สนับสนุนค่าก่อสร้าง ย้ายไปปลูกสร้างในพื้นที่ไกลออกไป หรือวิธีอื่น ๆ แต่ไม่ควรยกเว้นในลักษณะเช่นนี้ เพราะจะกลายเป็นบันทัดฐานที่ไม่ถูกต้อง เมื่อนำไปปฏิบัติเรื่องอื่น ๆ ย่อมจะมีข้อยกเว้นให้คนบางกลุ่มอย่างไม่ยุติธรรมได้

จึงอยากขอฝากให้ทั้งฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติของกทม. ช่วยพิจารณาในเรื่องนี้ให้เกิดความยุติธรรมแก่ทุกฝ่าย และเพื่อให้กรุงเทพมหานครของเราเป็น “เมืองน่าอยู่” ที่ไม่ได้กลายสภาพเป็นชุมชนแออัดในรุ่นลูกรุ่นหลานของเรา

 



-------------------------------