Go www.kriengsak.com

ประวัติ

ครอบครัว

งานวิชาการ

กิจกรรม

Press

Contact us

ค้นหา

 

ขอคิดอย่างสร้างสรรค์

“สิทธิในการเลือกที่จะตาย” จุดเริ่มของการบิดเบือนคุณค่าชีวิตมนุษย์
“The Right to Die” Starting Point to the Devaluation of Human Life.

 

2 ตุลาคม 2548

 

เรียนมิตรสหายที่เคารพรัก     

เมื่อเร็ว ๆ นี้ท่านเลขาธิการสำนักงานปฏิรูประบบสุขภาพ (สปรส.) ให้สัมภาษณ์ว่า ร่าง พ... สุขภาพแห่งชาติได้ผ่านความเห็นชอบจาก ครม. แล้วและกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาในชั้นสภาผู้แทนราษฎร

โดยใจความสำคัญในร่าง พ
... ฉบับนี้กล่าวว่า บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยีดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิต หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้ เช่น บุคคลอาจทำพินัยกรรมแจ้งลูกหลานญาติพี่น้องไว้ล่วงหน้าว่าถ้าหากเจ้าตัวเกิดเจ็บป่วยรุนแรง ไม่รู้สึกตัว สมองตาย หยุดหายใจ หรือรักษาแล้วไม่หาย ขอให้คนที่อยู่ข้างหลังเคารพสิทธิการตายด้วยการปล่อยให้เจ้าตัวจากไปอย่างสงบ และหมอที่ปฎิบัติตามเจตนาของผู้ป่วยจะไม่ถือว่าเป็นการทำผิดกฎหมายแต่อย่างใด

ประเด็นดังกล่าวมีทั้งผ่ายที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย โดยต่างเสนอเหตุผลของตนที่แตกต่างกันไป อาทิ ฝ่ายที่เห็นด้วยให้เหตุผลว่าเป็นการช่วยผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่ไม่มีทางรักษาให้หายให้ไม่ต้องทนทุกข์ทรมานด้วยโรคภัยที่มารุมเร้า เป็นการช่วยแบ่งเบาภาระญาติพี่น้องในเรื่องค่ารักษาพยาบาล และเป็นสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลของผู้ป่วยในการเลือกที่จะอยู่หรือจะตาย  ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยให้เหตุผลว่าอาจก่อให้เกิดปัญหาอาชญากรรมที่แฝงมา เช่น การค้าอวัยวะ การช่วงชิงมรดก  จะใช้หลักเกณฑ์อะไรมาเป็นตัวชี้วัดว่าบุคคลผู้นั้นสมควรที่จะตายหรือไม่  เป็นต้น และจากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อเรื่องนี้ โดยรายการทีวีช่องหนึ่งได้นำประเด็นดังกล่าวมาพูดคุยถกเถียงกันโดยเปิดโอกาสให้ผู้ชมทางบ้านสามารถโหวตมาแสดงความคิดเห็นได้ ผลการโหวตพบว่ามีผู้ที่เห็นด้วยกับการให้ผู้ป่วยมีสิทธิที่จะเลือกตายได้มากถึงร้อยละ 91 

การที่ประชาชนส่วนใหญ่โหวต
“เห็นด้วย” มากเช่นนี้ นับว่าเป็นเรื่องที่น่าตกใจมากสำหรับสังคมไทยที่ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธมีความเชื่อในเรื่องบาปบุญคุณโทษ กฎแห่งกรรม การทำความดี การถือรักษาศีล 5  ซึ่งศีลข้อแรกได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนในเรื่องการไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต หรือแม้แต่การฆ่าตัวตายก็ยังถือเป็นการทำบาปด้วยเช่นกัน

สิ่งที่ผมมีความห่วงใยไม่ใช่เพียงการที่กฏหมายนี้จะถูกนำออกมาใช้โดยอาจยังคิดไม่รอบคอบเพียงพอเท่านั้น แต่สิ่งที่ผมรู้สึกเป็นกังวลอย่างยิ่งคือในเรื่อง
“การบิด” ขอบเขตคุณธรรมจริยธรรมเพื่อสนองต่ออัตตานิยมของตนเองมากกว่าการตอบสนองต่อหลักศาสนาที่สอนให้คนทำคุณงามความดีและเห็นคุณค่าที่มีอยู่ในชีวิตทุก ๆ ชีวิต  คนในสังคมจะตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ บนพื้นฐานผลประโยชน์ของตัวเองเป็นที่ตั้งมากขึ้นอย่างน่าสะพรึงกลัว อาทิ การอนุญาติให้คนชรา คนพิการ ที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองและเป็นภาระของสังคมสามารถขอจบชีวิตของตนเองได้อย่างถูกต้องตามกฏหมาย การอนุญาติให้มีการทำแท้งเสรี        การอนุญาติให้ฆ่าตัวอ่อนของทารกได้เพื่อนำเซลต้นกำเนิด (stem cell) มารักษาพยาบาลผู้ป่วยที่กำลังเป็นโรคร้ายแรง   ฯลฯ  

การตัดสินใจบนพื้นฐานให้สิทธิของตนเองเป็นใหญ่สูงสุด
โดยเพิกเฉยต่อหลักการทางศาสนาในเรื่องการเห็นถึงคุณค่าของชีวิต  เป็นปรากฎการณ์ที่น่าอันตรายในสังคมไทยที่กำลังพยายามสร้างแรงกดดันโดยอ้อมให้ผู้ที่อ่อนแอกลับไปพิจารณาตัวเองว่า “เขาสมควรที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไปเพื่อทำให้คนอื่นเดือนร้อน หรือควรที่จะตาย ๆ ไปซะเพื่อประโยชน์ของสังคมภาพรวม” หรือการจัดนิยามทางกฎหมายให้กับคนในกลุ่มนี้ว่าเป็น “ผู้ที่ไม่เหลือศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์” ดังนั้นใครจะรู้ได้ว่าผู้ที่ขอใช้สิทธิการตายนั้นอาจไม่ได้ อยากตายจริงก็ได้แต่เพราะค่านิยมของสังคมที่กำลังบิดเบือนไปนี้ต่างหากที่กดดันให้เขาต้องตัดสินใจทำ 

สังคมในอุดมคติไม่ใช่สังคมที่มีแต่คนเข้มแข็งปราศจากคนที่อ่อนแอ  แต่สังคมในอุดมคติคือสังคมที่มีทั้งผู้ที่เข้มแข็งกว่าและผู้ที่อ่อนแอกว่ามาอยู่ร่วมกันอย่างมีหัวใจแห่งความรักความเมตตากรุณาต่อกัน  ผู้ที่เข้มแข็งกว่าจะถูกฝึกหัวใจให้ไม่แข็งกระด้างจนเกินไปที่จะช่วยเหลือผู้ที่อ่อนแอกว่า และเป็นการ ฝึกหัวใจของผู้ที่อ่อนแอกว่าให้เห็นถึงคุณค่าตนเอง ไม่ยอมแพ้หรือสิ้นหวังอะไรง่าย ๆ  หรือแก้ปัญหาอย่างมักง่ายด้วยความคิดที่ว่า “ตายไปซะให้รู้แล้วรู้รอด ปัญหาจะได้จบ ๆ ไป” 

สภาพสังคมไทยในปัจจุบันแห้งแล้งในความรักความเมตตามากเพียงพออยู่แล้ว อย่าออกกฎหมายอะไรมาให้ใจคนไทยแห้งแล้งมากไปกว่านี้เลยครับ