Go www.kriengsak.com

ประวัติ

ครอบครัว

งานวิชาการ

กิจกรรม

Press

Contact us

ค้นหา

 

 ขอเสนออย่างสร้างสรรค์


เกมเศรษฐีภาคขยาย II: ปลาใหญ่กินปลาเล็ก
Extended monopoly game II: Big fish eat little fish

 

2 ภุมภาพันธ์ 2549

 

เรียนมิตรสหายที่เคารพรัก

สัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้กล่าวถึง ”เกมเศรษฐีภาคขยาย” ที่นวัตกรชาวไทยพัฒนาจากเกมเศรษฐีภาคเดิม โดยผู้เล่นสามารถบรรลุเป้าหมายของเกมคือเป็นผู้เล่นที่เหลือเพียงผู้เดียวได้อย่างรวดเร็วขึ้น โดยสามารถกุมตำแหน่ง “นายธนาคาร” ซึ่งเป็นผู้ควบคุมกติกา และเปลี่ยนกติกาให้เอื้อต่อผลประโยชน์ของตนเองได้ อีกทั้งยังสามารถเพิ่มเงินทุนโดยการให้ผู้เล่นต่างชาติสามารถเข้ามาซื้อหุ้นได้อีกด้วย

ในเฉพาะประเด็นการขายหุ้นให้ผู้เล่นต่างชาตินั้น หากมองให้แง่ภาพรวมแล้ว กลยุทธ์ในเกมเศรษฐีภาคขยายนี้ เป็นเพียงกรณีพิเศษหนึ่งในกลยุทธ์ “ปลาใหญ่กินปลาเล็ก” หรือเรียกแบบภาษาทางการว่า กลยุทธ์การควบรวมกิจการ (Merger and Acquisition)

กลยุทธ์ปลาใหญ่กินปลาเล็กนี้ เป็นกลยุทธ์หนึ่งที่ทำให้ผู้เล่นเหลือบนกระดานแต่เพียงผู้เดียวได้อย่างรวดเร็วยิ่งกว่ากลยุทธ์ใด ๆ เพราะเผลอเพียงอึดใจเดียว ผู้เล่น 2 คนควบรวมกันกลายเป็นเหลืออยู่รายเดียวแล้วกลายเป็นผู้ชนะเสียได้

วิธีการในดำเนินกลยุทธ์มีอยู่ 3 ทาง ทางแรกคือ การซื้อทรัพย์สิน ทางที่สองคือ ซื้อหุ้น และทางที่สามคือ การควบกิจการ วิธีการ 2 ทางแรกเป็นวิธีที่ผู้เล่นที่มีขนาดใหญ่กว่า ทรัพย์สินมากกว่า กระทำต่อผู้เล่นอีกคนที่ทรัพย์สินน้อยกว่ามาก ในขณะที่ทางเลือกที่สามเป็นวิธีการที่ผู้เล่น 2 คนที่มีขนาดทรัพย์สินใกล้เคียงกัน นำทรัพย์สินทั้งหมดมารวมกันแล้วเปลี่ยนชื่อผู้เล่นเป็นคนใหม่

ที่จริงแล้วสำหรับกลยุทธ์แบบนี้ กติกาของเกมเศรษฐีที่บ้านอื่นเมืองอื่นนั้น ไม่อนุญาตให้กระทำได้โดยง่ายดาย กติกาที่สามารถควบคุมมิให้ผู้เล่นดำเนินกลยุทธ์นี้ได้นั่นคือ มีกติกาเกี่ยวกับการแข่งขันทางการค้า (Anti-trust law) ที่กำหนดไว้ว่า หากหลังดำเนินกลยุทธ์ปลาใหญ่กินปลาเล็กแล้ว ผู้เล่นใดเกิดมีอำนาจได้เปรียบผู้เล่นคนอื่นในกระดานขึ้นมา จะต้องชี้แจงการดำเนินกลยุทธ์ต่อ “นายธนาคาร” เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบมิได้เอารัดเอาเปรียบผู้เล่นคนอื่น อีกทั้งยังมีระบบภาษีที่เก็บจากการดำเนินการควบรวมเป็นกลไกต้านการควบรวมอีกทางหนึ่งด้วย

แต่นวัตกรในเมืองไทยนั้นได้พัฒนาเกมเศรษฐีให้กลยุทธ์ปลาใหญ่กินปลาเล็กนี้สามารถดำเนินไปได้อย่างราบรื่นได้ ดังที่ได้กล่าวไปในเกมเศรษฐีภาคขยายตอนแรกแล้วว่า นวัตกรได้พัฒนาให้ผู้เล่นสามารถควบตำแหน่ง “นายธนาคาร” เพื่อเปลี่ยนกติกาได้ ซึ่งนอกจากการเปลี่ยนกติกาได้แล้ว ผู้เล่นในฐานะนายธนาคารยังสามารถขัดขวางการพัฒนากติกาตามที่ควรจะเป็น เพื่อให้กติกาเก่าซึ่งอำนวยประโยชน์แก่ตนยังคงบังคับใช้อยู่ได้

ดังนั้นเพื่อให้กลยุทธ์ปลาใหญ่กินปลาเล็กดำเนินไปได้ ผู้เล่นจึงเอาหูไปนา เอาตาไปไร่กับการพัฒนากติกาการแข่งขันทางการค้าให้แข็งแกร่งเพื่อบังคับใช้ได้ และการปรับปรุงระบบภาษีอันจะเป็นกลไกต่อต้านกลยุทธ์นี้อีกด้วย

 

ทำให้แม้ปัจจุบันเกมเศรษฐีในประเทศไทยจะมีกฎหมายการแข่งขันทางการค้ามาตั้งแต่ พ.. 2542 แล้ว แต่กติกานี้ยังไม่สามารถนำมาลงโทษผู้เล่นที่ “ขี้โกง” ได้แม้แต่คนเดียว รวมทั้งยังแก้กฎหมายเปิดโอกาสให้ปลาตัวใหญ่กว่าจากบ่ออื่นเข้ามากินปลาในบ่อในประเทศได้โดยง่ายอีกด้วย

 

ผลสุดท้าย กลยุทธ์ปลาใหญ่กินปลาเล็กจึงดำเนินอย่างรวดเร็วขึ้นเรื่อย ๆ ธุรกิจหลายประเภทจึงเหลือจำนวนผู้เล่นน้อยลงทุกที เนื่องจาก “ปลาเล็ก” ที่เป็นผู้เล่นในประเทศถูกกินโดย “ปลาใหญ่” ที่เป็นผู้เล่นต่างประเทศจนเกือบหมด นึกออกไหมครับเรื่องจริงเกิดขึ้นในเศรษฐกิจไทยในวันนี้หรือไม่???