เกรียงศักดิ์ ชี้การจัดงบประมาณรายจ่ายปี 49 ‘ไม่สร้างสรรค์’
เหตุเพราะการจัดทำงบประมาณไม่ถูกกาลเทศะ ไม่ถูกที่ถูกทาง
และไม่ถูกขั้นตอน
ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ กรรมการบริหารและ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์
อภิปรายในวาระการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ
พ.ศ.2549 ในวาระที่ 3
โดยแปรญัตติตัดงบประมาณลงร้อยละ 6 จากที่ตั้งไว้
1.36 ล้านล้านบาท เนื่องจากการจัดทำงบประมาณ ‘ไม่สร้างสรรค์’
ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง
“การจัดงบฯ
ไม่ถูกกาละเทศะ ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันซึ่งเป็นภาวะผิดปกติ
เพราะเศรษฐกิจชะลอตัวลง พร้อม ๆ กับอัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น
อันเกิดจากปัจจัยด้านอุปทาน โดยเฉพาะราคาน้ำมันและภัยธรรมชาติ ในภาวะเช่นนี้
รัฐบาลไม่ควรเน้นมาตรการใช้จ่ายของภาครัฐเพื่อกระตุ้นอุปสงค์
เพราะแม้ว่าจะทำให้เศรษฐกิจขยายตัว แต่ยิ่งจะทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นอีก
รัฐบาลควรเน้นเป้าหมายควบคุมเงินเฟ้อ มากกว่าเน้นการขยายตัวของเศรษฐกิจ
เพราะอัตราการขยายตัวยังอยู่ในระดับที่ไม่เลวร้าย
แต่หากเงินเฟ้อสูงขึ้นจะส่งผลกระทบต่อประชาชนอย่างกว้างขวาง
และกระทบผู้มีรายได้น้อยมากกว่า”
“ประการที่สอง จัดงบฯ ผิดที่ผิดทาง
งบประมาณไม่อยู่ในที่ที่ควรอยู่ เช่น งบผู้ว่าซีอีโอและเอสเอ็มแอล ซึ่งควรอยู่กับมหาดไทย
แต่กลับจัดอยู่ในงบกลาง และค่าใช้จ่ายเพื่อปรับกลยุทธ์ฯ
ที่ควรกระจายอยู่ตามหน่วยงานต่าง ๆ ที่รับผิดชอบ แต่รัฐบาลรวบมาอยู่ที่งบกลาง
เพื่อให้หัวหน้าคณะรัฐมนตรี คือ นายกฯ สะดวกใช้ โดยไม่ต้องมีรายละเอียดของโครงการ
ไม่ต้องผ่านระบบปกติของการพิจารณาจัดสรรงบฯ
เมื่อหน่วยงานที่เชี่ยวชาญและรับผิดชอบโดยตรงในการใช้งบประมาณนั้น
ไม่ได้รับจัดสรรงบประมาณ จะทำให้งบถูกใช้จ่ายอย่างไม่มีประสิทธิภาพ
กระเซ็นกระสาย ไม่มียุทธศาสตร์ และไม่มีการจัดลำดับความสำคัญ”
“ประการสุดท้าย จัดงบฯ
ไม่ถูกลำดับขั้นตอน ซึ่งทำให้การใช้งบขาดประสิทธิภาพ
และทำให้โครงการที่ควรได้รับงบก่อนกลับได้รับไม่เต็มที่
ตัวอย่างที่ชัดเจนคืองบด้านไอที ซึ่งรัฐบาลเน้นการจัดซื้อคุรุภัณฑ์คอมพิวเตอร์หรือฮาร์ดแวร์มากกว่าปีก่อน
ๆ 2-3 เท่าตัว
โดยที่คนหรือพีเพิ้ลแวร์ยังไม่พร้อม สวนทางกับขั้นตอนการพัฒนางานด้านไอที
ที่ต้องพัฒนาพีเพิ้ลแวร์ก่อน ซอฟท์แวร์ตามมา และฮาร์ดแวร์เป็นลำดับหลังสุด ปัจจุบัน
ผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐส่วนใหญ่ไม่มีความรู้ด้านไอที และมีเพียง 20
กรมจาก 280
กรมที่บุคลากรที่มีความรู้เพียงพอ
โครงการด้านไอทีส่วนใหญ่ที่เขียนมาของบประมาณจึงไม่คุ้มค่า”
..................................................
|