ดร.เกรียงศักดิ์
ชี้การประกาศผ่อนปรนหลักเกณฑ์การค้าปลีก-ส่ง
น่าสงสัยเป็นนโยบายสมรู้ร่วมคิด เพราะขัดแย้งกับนโยบายเดิม,
ไม่เป็นธรรม, ไม่โปร่งใส
และให้ผลตอบแทนแก่ธุรกิจมากกว่าต้นทุนที่แบกรับ
ดร.เกรียงศักดิ์
เจริญวงศ์ศักดิ์ กรรมการบริหารและส.ส.พรรคประชาธิปัตย์
กล่าวถึง
การแก้ไขประกาศกรมโยธาธิการและผังเมืองว่าด้วยเรื่องหลักเกณฑ์การพิจารณาอนุญาตอาคารพาณิชยกรรมค้าปลีกและค้าส่ง
เพื่อเป็นการตอบแทนผู้ประกอบการค้าปลีกรายใหญ่ที่เข้าไปลงทุนในพื้นที่สึนามิ และ
3 จังหวัดภาคใต้ ว่าอาจจะเป็นนโยบายสมรู้ร่วมคิด
โดยมีข้อสังเกต 4 ประการ
“ประการแรก คือ
ความขัดแย้งเชิงนโยบาย การที่รัฐบาลช่วยเหลือธุรกิจการค้ารายใหญ่
แต่ละเลยผู้ค้าปลีกรายย่อยในครั้งนี้ ทำให้ผมเกิดคำถามว่า
จุดยืนรัฐบาลในเชิงนโยบายการค้าปลีกเป็นอย่างไร
รัฐบาลจะสนับสนุนผู้ประกอบการค้าปลีกรายใหญ่
หรือจะสนับสนุนผู้ประกอบการค้าปลีกรายย่อยกันแน่
เหตุใดนโยบายปัจจุบันจึงขัดแย้งกับนโยบายในอดีตอย่างสิ้นเชิง”
“สอง
ความไม่เป็นธรรม การที่รัฐบาลตอบแทนแก่ผู้ค้าปลีกรายใหญ่ที่เข้าไปลงทุนในพื้นที่เสี่ยงภัย
โดยดึงผลประโยชน์มาจากผู้ค้าปลีกรายย่อยในจังหวัดอื่น ทั้ง ๆ ที่ไม่ใช่ผู้ที่ได้รับประโยชน์จากการลงทุนดังกล่าว
ผมเห็นว่าไม่เป็นธรรมต่อธุรกิจรายย่อย รัฐบาลน่าจะใช้วิธีอื่นที่ดีกว่าและไม่สร้างผลกระทบ
เช่น
ลดหย่อนภาษีให้กับผู้ค้าปลีกรายใหญ่ที่เข้าไปลงทุน
การกำหนดระยะเวลาในการไม่ต้องจ่ายภาษี
หรือให้สิทธิพิเศษต่าง ๆ
มากกว่าการลงทุนในพื้นที่อื่น”
“สาม ไม่โปร่งใส
การตอบแทนให้ผู้ค้าปลีกรายใหญ่โดยผ่อนปรนหลักเกณฑ์การจัดตั้งธุรกิจค้าปลีกทั่วประเทศ
ทำให้เกิดคำถามว่า กรมโยธาธิการไม่รู้หรือทำแกล้งไม่รู้ว่า
จะส่งผลกระทบต่อผู้ค้าปลีกรายย่อยอย่างไร
เหตุใดจึงรีบเร่งออกประกาศให้เสร็จภายในวันที่
30 กันยายน
ทั้งที่ยังมีข้อถกเถียงมากและมีผลกระทบรุนแรง
เหตุใดจึงไม่พยายามให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้มีส่วนร่วมพิจารณาก่อนออกประกาศฉบับนี้
และเหตุใดผู้ค้าปลีกรายใหญ่จึงกล้าเข้าไปลงทุนในพื้นที่ที่ทางรัฐบาลขอร้อง
หากไม่คุ้มทุนแล้ว เขาจะเข้าไปลงทุนทำไม เว้นเสียแต่ว่าจะมีการสัญญาว่า
จะให้ผลประโยชน์ตอบแทนที่นอกเหนือจากการลงทุน”
“สุดท้าย
ต้นทุนและผลตอบแทนทางนโยบายไม่สมมาตรกัน
กล่าวคือต้นทุนของการเข้าไปลงทุนในพื้นที่สึนามิและ
3
จังหวัดภาคใต้
น่าจะต่ำกว่าผลตอบแทนที่ธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่จะได้รับจากโอกาสการลงทุนทั่วประเทศ
มีความไม่สมมาตรในด้านขนาดของต้นทุนและผลตอบแทน
เพราะเงินลงทุนของธุรกิจขนาดใหญ่ที่เข้าไปลงทุนในพื้นที่เสี่ยงภัย
นับว่ามีมูลค่าน้อยมาก
เมื่อเทียบกับผลตอบแทนที่ธุรกิจขนาดใหญ่จะได้รับจากการลงทุนทั่วประเทศ
และมีความไม่สมมาตรของระยะเวลาแบกรับต้นทุนและระยะเวลาการได้รับผลตอบแทน
เพราะการลงทุนพื้นที่สึนามิ อาจทำให้ผู้ลงทุนแบกรับภาวะการขาดทุนเพียงระยะสั้น
เพราะไม่นานพื้นที่ประสบภัยสึนามิจะฟื้นตัวขึ้น ส่วนการลงทุนใน
3
จังหวัดภาคใต้ แม้ต้องอาศัยเวลานานในการเข้าสู่ความสงบ
แต่นักลงทุนอาจเลิกกิจการและถอนการลงทุนออกมาได้ในเวลาไม่นานนัก
แต่ผลประโยชน์ที่จะได้รับจากการเปลี่ยนแปลงกติกาการลงทุน
จะทำให้ธุรกิจขนาดใหญ่ได้รับประโยชน์เป็นเวลายาวนาน” “ฉะนั้น
ผมจึงเห็นว่ารัฐบาลควรพิจารณาเรื่องนี้ใหม่ อย่ารีบร้อนในการออกประกาศ
ต้องคิดอย่างรอบคอบ พิจารณาผลกระทบอย่างรอบด้าน
ให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ
และมีการศึกษาวิจัยก่อนกำหนดหลักเกณฑ์ในประกาศ” ส.ส.
ประชาธิปัตย์กล่าวทิ้งท้าย
..................................................
|