เกรียงศักดิ์ ชี้ เรื่อง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
เป็นทาง 3 แพร่ง พ.ร.ก.มีความเสี่ยงเพราะให้อำนาจมาก
แต่ปราศจากการตรวจสอบ ส่วนกฎหมายเดิม 7 ฉบับยังมีข้อบกพร่อง
จึงเสนอให้ใช้กฎหมายเดิมชั่วคราว และร่าง พ.ร.บ.ฉุกเฉินฉบับใหม่ที่รัดกุม
เพื่อให้รัฐสภาพิจารณาอย่างรอบคอบ
ดร.เกรียงศักดิ์
เจริญวงศ์ศักดิ์ กรรมการบริหาร และ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรค
ปชป. เสนอความเห็นในการพิจารณา พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน
2548 โดยชี้ประเด็นทางเลือกของรัฐบาลว่าเป็นเหมือนทาง
3 แพร่ง ทางเลือกที่ 1 คืออนุมัติ พ.ร.ก.ให้มีผลบังคับใช้ตามที่รัฐบาลต้องการ
แต่หากสภาฯ ไม่อนุมัติ รัฐบาลจะมีทางเลือกอีก 2 ทาง คือ
ทางเลือกที่ 2 กลับไปใช้กฎหมาย 7
ฉบับตามเดิม หรือ ทางเลือกที่ 3 ใช้กฎหมาย 7
ฉบับเดิมเป็นการชั่วคราว และร่าง พ.ร.บ.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินขึ้นใหม่เพื่อให้รัฐสภาพิจารณา
“ผมคิดว่าทางเลือกที่ดีที่สุดในเวลานี้ คือ
ทางเลือกที่ 3 แม้ว่ากฎหมายทั้ง 7
ฉบับเดิมจะมีข้อบกพร่องในบางประเด็น แต่ผมคิดว่ากฎหมาย 7
ฉบับนี้ ยังสามารถใช้ได้เป็นการชั่วคราว ส่วน พ.ร.ก.
ฉุกเฉินของรัฐบาลมีข้อบกพร่องมาก
ทำให้มีความจำเป็นต้องให้รัฐสภาพิจารณาอย่างรอบคอบ โดยการร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่” “พ.ร.ก.ของรัฐบาลให้ความหมายของสถานการณ์ฉุกเฉินที่กว้างมาก
อาจนำไปสู่การใช้อำนาจอย่างไร้ขอบเขต
ส่งผลให้ไม่ว่าสถานการณ์จะเกิดอะไรขึ้น
รัฐบาลสามารถอ้างเป็นเหตุเพื่อประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินได้
ทำให้ผู้ใช้อำนาจใช้อำนาจตามดุลยพินิจอย่างไร้ขอบเขต
ฉะนั้นจำเป็นต้องกำหนดขอบเขตของสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยกำหนดหลักเกณฑ์และตัวชี้วัดที่ชัดเจนว่า
เมื่อไหร่จึงเรียกว่าสถานการณ์ฉุกเฉิน มีการแบ่งระดับความรุนแรงที่แตกต่างกัน
มีกระบวนการในการพิจารณา มีการวิเคราะห์ระดับความรุนแรง
กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับขอบเขตของพื้นที่และเวลาในการประกาศภาวะฉุกเฉินอย่างเหมาะสม
รวมถึงมีการจำแนกชุดของมาตรการที่รัฐบาลสามารถใช้ในการควบคุมสถานการณ์ฉุกเฉินตามประเภทและความรุนแรงของเหตุการณ์
เพื่อเป็นการลดระดับการใช้ดุลยพินิจ และไม่ให้เกิดการใช้อำนาจอย่างพร่ำเพรื่อ”
“อีกประเด็นหนึ่ง คือ พ.ร.ก.
ให้อำนาจแก่นายกรัฐมนตรีมากขึ้น
แต่กลับลดความรับผิดชอบในการใช้อำนาจนั้น โดยลิดรอนอำนาจของระบบตรวจสอบถ่วงดุลต่าง
ๆ ทั้งด้านตุลาการและนิติบัญญัติ เช่น ม.16
ที่ระบุว่า พ.ร.ก.นี้ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีการปฏิบัติราชการทางปกครอง
ทำให้ผู้ใช้อำนาจไม่ถูกตรวจสอบจากฝ่ายตุลาการ และการประกาศเป็น พ.ร.ก.ก็เป็นการละเลยอำนาจการตรวจสอบของนิติบัญญัติ
แต่ผมเห็นว่า อำนาจจะต้องไปควบคู่กับ ความรับผิดชอบต่อการใช้อำนาจนั้น”
“ผมกังวลว่า
พ.ร.ก.
การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน จะเดินตามรอยประวัติศาสตร์
ของประเทศเยอรมันในปี ค.ศ. 1933
ที่นายกรัฐมนตรีฉวยโอกาสจากเหตุการณ์วางเพลิงเผารัฐสภา รัฐบาลเยอรมันจึงนำ พ.ร.บ.มอบอำนาจ
(Enabling Act) ให้รัฐสภาลงมติเห็นชอบ
ในลักษณะเดียวกันกับที่ รัฐบาลกล่าวอ้างสถานการณ์ระเบิดที่ยะลา เพื่อประกาศใช้ พ.ร.ก.
ซึ่งแม้ว่า พ.ร.บ.มอบอำนาจของเยอรมันจะได้ผ่านการพิจารณาของรัฐสภาโดยออกเป็น
พ.ร.บ.
ยังนำไปสู่จุดจบของระบบประชาธิปไตย และเป็นการเปิดฉากใหม่ของเผด็จการอด๊อฟ ฮิตเลอร์
เผด็จการนาซีที่เรารู้จักกันดี ยิ่งกว่านั้นสักเท่าใด พ.ร.ก.ฉุกเฉินซึ่งประกาศใช้อย่างรีบเร่งและหากผ่านการพิจารณาของรัฐสภาแบบลวก
ๆ ในวันนี้ จะยิ่งมีความเสี่ยงต่อระบบประชาธิปไตยของไทยมากกว่า”
..................................................
|