Go www.kriengsak.com ประวัติ ครอบครัว งานวิชาการ กิจกรรม Press Contact us ค้นหา

 

คนไทย 1.3 ล้านคน สุขน้อยลง

..................................................

 

ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ รองประธานคณะทำงานเศรษฐกิจ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงผลงานวิจัย เรื่อง ‘การพัฒนาดัชนีความสุขของประเทศไทย’ ซึ่งพบว่าปัจจุบัน คนไทย 1.3 ล้านคนมีความสุขลดลง และยังพบอีกว่า เป้าหมายเงินเฟ้อที่ต่ำและการมีงานทำ สำคัญกว่าจีดีพี

“ผมได้ทำการพัฒนาดัชนีความสุข (Happiness index) โดยหาความสัมพันธ์ระหว่างตัวชี้วัดด้านเศรษฐกิจและสังคม เช่น การเติบโตทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ อัตราการว่างงาน เป็นต้น กับความสุขของประชากรไทย เพื่อจะนำไปสู่การบริหารประเทศที่มุ่งความสุขของประชากรโดยตรง”

“ดัชนีความสุขนี้พัฒนาขึ้นจากแบบจำลอง (Model) ทางเศรษฐศาสตร์ และใช้ฐานข้อมูลจากการสำรวจค่านิยมของคนในโลก (World Values Survey) มากกว่า 90 ประเทศทั่วโลก ที่จัดทำโดย International Network of Social Scientists ซึ่งทำการสำรวจมาแล้วจำนวน 4 ครั้ง”

“ผลการศึกษาพบว่า ภาวะความขัดแย้งทางการเมืองและราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นในปัจจุบัน เป็นเหตุทำให้ในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2549 คนไทยประมาณ 1.3 ล้านคนหรือร้อยละ 2.1 มีความสุขลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน”

“ผลการศึกษายังพบอีกว่า ตัวแปรที่มีอิทธิพลต่อระดับความสุขของคนแบ่งออกเป็นตัวแปรด้านจุลภาคและมหภาค ในกลุ่มตัวแปรจุลภาคที่ประกอบด้วย เพศ อายุ สถานภาพสมรส ระดับการศึกษา การมีงานทำและระดับรายได้ เพศหญิงมีความสุขมากกว่าชาย, คนที่มีความสุขน้อยที่สุดอยู่ที่อายุประมาณ 52 ปี, คนที่อยู่ด้วยกันหรือคู่แต่งงานมีความสุขมากกว่าคนที่เป็นโสดและหย่าร้างตามลำดับ, และระดับการศึกษาและระดับรายได้ยิ่งสูงยิ่งทำให้คนมีความสุขมากขึ้น”

“สำหรับตัวแปรมหภาคที่มีอิทธิพลต่อระดับความสุขของคน คือ การเติบโตทางเศรษฐกิจ อัตราการว่างงาน และอัตราเงินเฟ้อ โดยการเติบโตทางเศรษฐกิจสัมพันธ์ทางบวกกับระดับความสุข ในขณะที่อัตราการว่างงานและอัตราเงินเฟ้อสัมพันธ์ทางลบกับระดับความสุข ยิ่งไปกว่านั้น ผมยังพบว่าอัตราเงินเฟ้อมีอิทธิพลต่อความสุขมากที่สุด รองลงมาได้แก่ อัตราการว่างงานและอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจตามลำดับ”

“ที่ผ่านมารัฐบาลชุดนี้สนใจเฉพาะการขยายตัวทางเศรษฐกิจหรือจีดีพีเพียงเป้าหมายเดียวเท่านั้น แต่แนวทางการพัฒนาดังกล่าวไม่ได้ทำให้ประชาชนมีความสุขอย่างแท้จริง จากงานวิจัยชิ้นนี้ ผมคิดว่าถึงเวลาที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันแก้ปัญหาวิกฤตทางการเมือง และทบทวนเป้าหมายการพัฒนาประเทศโดยมุ่งเน้นเป้าหมายต่าง ๆ อย่างสมดุล โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะทำให้คนไทยมีระดับความสุขมากขึ้น” ดร.เกรียงศักดิ์ กล่าวสรุป