นายเกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
รองประธานคณะคณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ
สภาผู้แทนฯ
และประธานคณะอนุกรรมาธิการเพื่อพิจารณาศึกษาเกี่ยวกับเศรษฐกิจมหภาคและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ
กล่าวถึงผลการสัมมนา เรื่อง “ความเสี่ยงของโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐ:
บทเรียนในอดีตและผลกระทบในอนาคต”
ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 18 ก.ค.
2548 ที่รัฐสภา
โดยมีความห่วงใยความเสี่ยงต่าง ๆ
อาทิ ต้นทุนบานปลาย
รายได้ไม่ถึงเป้า
ความเสี่ยงจากการเปลี่ยงแปลงของอัตราแลกเปลี่ยน
ความผันผวนของอัตราดอกเบี้ย
การขาดดุลบัญชีเดินสะพัด
เงินไม่กระจายแต่กระจุกกับคนบางกลุ่ม
ไม่เกิดประโยชน์ระยะยาว
แต่เกิดผลกระทบต้องชดใช้หนี้ระยะยาว
ความรวบรัดข้ามขั้นตอนไม่รอบคอบในการศึกษาผลกระทบ
และการคอร์รัปชัน
ประธานคณะอนุกรรมาธิการฯ
ได้เสนอแนวทางป้องกันความเสี่ยงในโครงการเมกะโปรเจกต์
6 ประการ “หนึ่ง
ประเมินความเสี่ยงอย่างสมจริง
เพราะการประเมินผลกระทบของการลงทุนในเมกะโปรเจกต์
ใช้สมมติฐานทางเศรษฐกิจแบบเดิม
แต่สถานการณ์ทางเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไปแล้ว
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
ราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น
อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นจากการคาดการณ์เดิม
และอัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวน
รวมทั้งรัฐบาลได้กำหนดนโยบายแก้ปัญหาเศราฐกิจระยะสั้นที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจมหภาค
จะส่งผลกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อ
จึงควรมีการทบทวนสมมติฐานและวิเคราะห์ผลกระทบเสียใหม่”
“สอง รับฟังความเห็นจากรอบด้าน
เพราะแผนการลงทุนในเมกะโปรเจกต์
ริเริ่มจากรัฐบาล
แต่ยังขาดการสอบถามความต้องการจากประชาชน
บางโครงการจึงอาจไม่ทำให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง
หรืออาจจะส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ก่อสร้างโครงการ
ดังตัวอย่าง
โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง
ที่มีการเรียกร้องจากประชาชนในพื้นที่ย่านเตาปูน
ให้เปลี่ยนจากรูปแบบรถไฟลอยฟ้า
เป็นรถไฟฟ้าใต้ดิน แสดงว่า
รัฐบาลได้ละเลยการรับฟังความเห็นจากประชาชนในพื้นที่”
“สาม
ไม่ปิดบังข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยง
รัฐบาลไม่ได้มีการเปิดเผยข้อมูลต่าง
ๆ อย่างครบถ้วน เช่น
ไม่บอกว่าในปี 2550-2552 ขาดดุลฯ
เกินกว่า 2%
ตามที่รัฐบาลเคยระบุไว้
รัฐบาลควรเปิดเผยข้อมูลที่สำคัญอย่างครบถ้วน
อีกประเด็นหนึ่ง
รัฐบาลควรเปิดเผยต้นทุนที่ภาครัฐยังต้องจัดสรรงบประมาณเพื่ออุดหนุนต่อไปในอนาคต
เช่น โครงการรถไฟฟ้า
หากรัฐบาลจะดำเนินการอุดหนุนเพื่อช่วยเหลือประชาชนให้ใช้บริการขนส่งมวลชนระบบราง
รัฐบาลควรบอกด้วยว่ารัฐบาลจะต้องอุดหนุนปีละเท่าไร
และรัฐบาลจะมีมาตรการจัดเก็บรายได้อย่างไร
เพื่อมาอุดหนุนโครงการนี้”
“สี่
เร่งศึกษาเพื่อกำหนดรูปแบบโครงการที่ชัดเจน
เพราะหลายโครงการยังไม่มีรูปแบบโครงการที่ชัดเจน
มีเพียงโครงการรถไฟฟ้า 7
สายเท่านั้น
ที่ค่อนข้างชัดเจนในระดับเบื้องต้น
แต่เมกะโปรเจกต์ในสาขาอื่น ๆ
ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะดำเนินการอย่างไร
ยังไม่มีการศึกษาความเป็นไปได้
และความคุ้มค่าในการลงทุน
ทำให้เกิดคำถามว่า
การลงทุนในโครงการขนาดใหญ่
ภายในเวลา 4-5 ปี
โดยที่ยังไม่มีความชัดเจนใด ๆ เลย
จะสามารถดำเนินการได้ทันตามระยะเวลาที่กำหนดได้หรือไม่
และหากรีบเร่งให้โครงการเสร็จทันตามที่กำหนด
จะดำเนินการรอบคอบหรือไม่”
“ห้า กระจายความเสี่ยง
ผมมีเกิดคำถามขึ้นในใจว่า
เหตุใดจึงใช้เงินลงทุนสูงสุดในปี
2551 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของรัฐบาล
และเป็นปีก่อนการเลือกตั้งทั่วไป
ทั้งที่สามารถกระจายเงินลงทุนออกไปยังปีอื่น
ๆ ได้
และยังทำให้ไม่เกิดแรงกดดันต่อดุลบัญชีเดินสะพัด
ผลการศึกษาของกระทรวงการคลัง
พบว่า ปี 2551
เป็นปีที่ขาดดุลสูงที่สุดในตลอด 5
ปีเช่นกัน
รัฐบาลมีแรงจูงใจทางการเมือง
มากกว่าการรักษาผลประโยชน์ของชาติหรือไม่
เหตุใดรัฐจึงไม่กระจายการลงทุนออกไป
ไม่ให้กระจุกในช่วงเวลา 4-5
ปีเท่านั้น”
“หก
กำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาที่สมจริง
รัฐบาลเคยยืนยันว่า หากขาดดุลฯเกิน
2% จีดีพี
จะชะลอหรือเลื่อนโครงการที่สำคัญน้อยออกไป
และควบคุมสัดส่วนการนำเข้า
จึงเกิดข้อสงสัยว่า
หากโครงการต่าง ๆ ดำเนินการไปแล้ว
การชะลอหรือเลื่อนโครงการออกไป
หรือควบคุมการนำเข้าจะเป็นไปได้อย่างไรในภาคปฏิบัติ
รัฐบาลบอกว่าจะดำเนินการจัดลำดับความสำคัญ
แต่ยังไม่เห็นว่า
ได้มีการระบุโครงการใดสำคัญ
โครงการใดที่มีความสำคัญน้อยกว่า
สามารถเลื่อนออกไปได้
และยังไม่เห็นว่ารัฐบาลได้จัดทำแผนสำรองไว้อย่างไร
ในกรณีที่สถานการณ์ไม่เป็นไปตามแผน
หรือมีการเผื่อเหลือเผื่อขาดเท่าไร
หากเกิดการบานปลายของต้นทุน
และหากการจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าที่คาดการณ์”
นายเกรียงศักดิ์ กล่าว
..................................................
|