ดร.เกรียงศักดิ์ตั้งข้อสังเกต
รัฐบาลอ้างชะลอโครงการเมกะโปรเจกต์
เพื่อปรับแนวทางให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาประมูล
โดยไม่มีกรอบทีโออาร์ (TOR)
เป็นการนำความรู้ต่างประเทศมาใช้ในไทยเต็มที่
สุ่มเสี่ยงต่อการคอร์รัปชั่น
อาจเป็นข้ออ้างใหม่ชะลอการลงทุนในโครงการอภิมหาช้าง
ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
รองประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ
สภาผู้แทนฯ คณะกรรมการบริหาร
รองประธานคณะทำงานด้านเศรษฐกิจพรรคฯ
และ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์
กล่าวถึงการแถลงจากการประชุม ครม.ของโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
เกี่ยวกับ การพิจารณโครงการเมกะโปรเจ็กต์
ว่าจะมีการชะลอการดำเนินการ
เนื่องจากรัฐบาลจะให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาประมูลในลักษณะที่ไม่มีกรอบทีโออาร์
(TOR)
เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญจากบริษัทต่างประเทศมาวิเคราะห์ความต้องการของประเทศไทย
และนำองค์ความรู้จากต่างประเทศเข้ามาใช้ในไทยได้อย่างเต็มที่
แนวทางดังกล่าวของรัฐบาล
พบว่ามีความเสี่ยงต่อการเกิดคอร์รัปชั่น
เพราะการให้ต่างประเทศเข้ามาประมูล
เพื่อทำโครงการเมกะโปรเจกต์โดยไม่มีกรอบ
TOR ที่ต้องการ
เป็นการดำเนินการที่ขาดความรอบคอบอย่างร้ายแรง
ถึงแม้ว่าข้อดี คือ
บริษัทต่างประเทศอาจนำเสนอรูปแบบที่ดีกว่าที่กำหนดใน
TOR อาจมีการนำเสนอทางเลือกใหม่ ๆ
หรือเทคโนโลยีที่ทันสมัย แต่ปัญหา
คือ การที่ไม่มี TOR
ทำให้บริษัทที่เข้าร่วมประมูล
จะเสนอรูปแบบโครงการที่แตกต่างกัน
ใช้วัสดุ ใช้เทคโนโลยี มีงบลงทุน
ที่แตกต่างกัน
ตัวแปรที่ต้องพิจารณาจำนวนมาก
รัฐบาลจะใช้เกณฑ์อะไร
ในการตัดสินใจเลือกบริษัทให้เป็นผู้ชนะการประมูล
ใช้ดุลยพินิจในการเลือกผู้ชนะการประมูล
คำถามคือ จะแน่ใจได้อย่างไรว่า
การใช้ดุลยพินิจของรัฐบาล
น่าเชื่อถือ เป็นกลาง
และไม่มีผลประโยชน์แอบแฝง
เพราะขนาดโครงการที่มีทีโออาร์
ยังมีการโกงกิน ติดสินบน
ฮั้วประมูลกันได้
โครงการที่ไม่มีทีโออาร์
จะไม่โกงกันแหลกลาญหรือ?
แม้รัฐบาลจะพยายามยืนยันว่าโปร่งใส
โดยเปิดโอกาสให้องค์กรอิสระ
วุฒิสภา สภาผู้แทน เข้ามาตรวจสอบ
ไม่มี ประโยชน์แต่อย่างใด
เพราะไม่มีหลักเกณฑ์ในการตัดสินว่า
ข้อเสนอของใครดีที่สุด
หรือเหมาะสมที่สุด
รัฐบาลอาจเลือกบริษัทที่เสนอราคาแพงที่สุด
โดยอ้างว่าเป็นข้อเสนอที่ดีที่สุด
ใช้เทคโนโลยีทันสมัยที่สุดก็ได้
ยิ่งไปกว่านั้น
องค์กรอิสระเหล่านี้
ไม่มีบุคลากรที่มีความรู้และเข้าใจในเรื่องนี้ดีพอ
เพราะโครงการเมกะโปรเจ็กต์
อาจใช้เทคโนโลยีชั้นสูง
คนไทยยังไม่มีความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีดังกล่าว
ผมคิดว่า การกำหนด TOR
ก่อนเปิดประมูล
น่าจะรอบคอบมากกว่า
รัฐบาลสามารถจ้างผู้เชี่ยวชาญ
ศึกษาทางเลือกต่าง ๆ ก่อนได้
อาจจะทำการศึกษาเปรียบเทียบรูปแบบต่าง
ๆ ทั่วโลกได้
แล้วจึงกำหนดกรอบทีโออาร์ที่รัฐบาลต้องการ
ก่อนเปิดประมูล
การที่รัฐบาลออกมาชะลอโครงการเมกะโปรเจ็คต์
ผมมีข้อสังเกตว่า
รัฐบาลไม่เคยมีความชัดเจนเกี่ยวกับแผนและรูปแบบการลงทุนเลย
รัฐบาลไม่ได้ทำการศึกษาความเป็นไปได้
ก่อนการกำหนดเป็นนโยบาย
การนำประเด็น International
Bidding มาใช้
อาจเป็นเพียงข้ออ้างในการชะลอการลงทุนในโครงการเมกะโปรเจกต์เท่านั้น
เช่นเดียวกับ
ข้ออ้างที่รัฐบาลเคยใช้ อาทิ
ต้องรอผลการศึกษาก่อน
ว่าจะลงทุนแบบไหนจะคุ้มค่าที่สุด
ต้องรอเจรจากับบริษัทเอกชนก่อนเพื่อทำให้เป็นระบบเดียวกัน
จากเหตุผลดังกล่าว
ทำให้ผมอดสงสัยไม่ได้ว่า
เหตุผลที่แท้จริง คืออะไร
หรือเป็นเพราะรัฐบาลไม่มีเงินลงทุนจริง
เพราะขายฝันโครงการประชานิยมไว้มาก
เพราะเงินที่คาดว่าจะได้จากการขายหุ้น
กฟผ. ต้องล่าช้าออกไป ส.ส. ปชป.
กล่าวสรุป
..................................................
|