Go www.kriengsak.com ประวัติ ครอบครัว งานวิชาการ กิจกรรม Press Contact us ค้นหา


รัฐบาลเตรียมออกกฎหมายรวมศูนย์อำนาจและแทรกแซงและปิดกั้นเสรีภาพทางวิชาการ
..................................................


เกรียงศักดิ์แจง พ.ร.บ.สถิติ พ.ศ. ….ที่เสนอต่อที่ประชุมสภา เป็นกฎหมายนายทาสทางความคิด คือไม่เพียงรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลางเท่านั้น แต่ยังตีกรอบการจัดเก็บสถิติ กระทบต่อเสรีภาพทางวิชาการ

ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ รองประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนฯ คณะกรรมการบริหาร รองประธานคณะทำงานด้านเศรษฐกิจพรรคฯ และ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ชี้แจงว่า ร่าง พ.ร.บ.สถิติ พ.ศ. …. ที่คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรเสนอต่อที่ประชุมสภา เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2548 นั้น ตนได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับร่างดังกล่าวใน 2 ประเด็นคือ

การปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารของ สนง.สถิติฯ ก่อให้เกิดการรวมศูนย์อำนาจ การยกเลิกคณะกรรมการสถิติแห่งชาติ โดยให้มีผู้อำนวยการสำนักงานเป็นหัวหน้าแทน การให้สำนักงานสถิติแห่งชาติเป็นผู้ทำสำมะโนเพียงผู้เดียวและการปรับเปลี่ยนอำนาจหน้าที่ของสำนักงานจากหน่วยงานวิชาการ และให้คำปรึกษาเป็นหน่วยจัดทำแผนแม่บทนั้น ดูเหมือนว่าจะทำให้เกิดความรวดเร็วในการทำงาน แต่ในความเป็นจริงแล้วมีข้อเสียมากมาย

“การรวมศูนย์อำนาจมาไว้ที่สำนักงานสถิติเพียงแห่งเดียวนั้น ทำให้ขาดการสะท้อนมุมมองที่หลากหลาย เพราะภาคส่วนต่าง ๆ ไม่มีส่วนร่วม หน่วยงานท้องถิ่นขาดความคล่องตัวในการจัดเก็บสำมะโนที่จำเป็นต้องใช้ในการพัฒนาท้องถิ่น และอาจนำไปสู่การที่รัฐบาลจะใช้อำนาจในการสั่งการให้หน่วยราชการทำตามแผนของรัฐบาลได้” ส.ส.ปชป.กล่าว

เสรีภาพทางวิชาการอาจถูกแทรกแซง เพราะการเก็บสถิติถูกตีกรอบ การที่รัฐบาลโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติกำหนดมาตรฐานและวิธีการสำรวจและวิจัย แม้จะทำไปเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องตามความเป็นจริง แต่หากนำมาใช้กับสถาบันการศึกษาและวิจัย นับว่าหมิ่นเหม่ต่อการละเมิดเสรีภาพทางวิชาการมาก เพราะธรรมชาติของวิชาการจำเป็นต้องมีการหลากหลายทางความคิด และเปิดโอกาสให้มีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับหัวข้อและคำถามวิจัย ระเบียบวิธีวิจัย แนวทางการวิเคราะห์ ข้อมูลที่ใช้ และผลการวิเคราะห์ เพื่อให้เกิดการพัฒนาต่อยอดทางวิชาการ การจำกัด

“รัฐบาลควรเปิดโอกาสให้มีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับ หัวข้อและคำถามวิจัย ระเบียบวิธีวิจัย แนวทางการวิเคราะห์ ข้อมูลที่ใช้ และผลการวิเคราะห์ เพื่อให้เกิดการพัฒนาต่อยอดทางวิชาการทบทวนเรื่องนิยามใหม่ ยิ่งไปกว่านั้น อาจารย์ในมหาวิทยาลัยยังมีความเชี่ยวชาญด้านการสำรวจและวิจัยไม่น้อยกว่า สนง.สถิติ ดังนั้นการควบคุมมาตรฐานงานสำรวจและวิจัย หรืองานสถิติ จึงควรให้ชุมชนวิชาการเป็นผู้ตัดสินกันเอง มิใช่ให้อำนาจแก่หน่วยงานใดเป็นผู้ควบคุม” ส.ส. ปชป. สรุป
 

 ..................................................