เกรียงศักดิ์ชี้
รัฐบาลวาดฝันเชิญชวนต่างชาติร่วมลงทุนเมกะโปรเจกต์
แลกกับสินค้าไทย ห่างไกลความจริง
ขาดความชัดเจนทั้งด้านงบประมาณการก่อสร้าง
และรูปแบบการก่อสร้าง
ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
รองประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ
สภาผู้แทนฯ คณะกรรมการบริหาร และ
ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์
กล่าวถึงการประชุม Thailand:
Partnership for Development
ที่นายกฯ
จัดขึ้นเพื่อเชิญชวนต่างชาติร่วมลงทุนในโครงการเมกะโปรเจกต์
โดยเงินลงทุนส่วนหนึ่งหรือทั้งหมดจะมาจากการแลกเปลี่ยนสินค้าในระบบบาร์เตอร์เทรด
ว่าเป็นแนวทางที่ดูเหมือนดี
แต่อาจทำไม่ได้ในทางปฏิบัติ
พร้อมทั้งตั้งข้อสังเกตต่อการนำแนวคิดดังกล่าวมาใช้
ประการแรก
รัฐบาลขาดความชัดเจนเกี่ยวกับงบประมาณการก่อสร้าง
การที่รัฐบาลเสนอแนวทางการลงทุนก่อสร้างรถไฟฟ้า
ว่าการอุดหนุนทางการเงินทั้งหมด
หรือบางส่วน
จะใช้การแลกเปลี่ยนสินค้าในระบบบาร์เตอร์เทรด
แนวคิดนี้แสดงให้เห็นความจริงที่ว่า
รัฐบาลขาดงบประมาณในการลงทุนก่อสร้าง
รัฐบาลจึงไม่มีเงินลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าตามที่ได้หาเสียงไว้
การใช้วิธีแลกเปลี่ยนสินค้าจึงเป็นความพยายามหาทางออกในการหาเม็ดเงินมาลงทุน
ด้วยเงินลงทุนจำนวนมากถึง 1.8
ล้านล้านบาท
การลงทุนในการโครงการรถไฟฟ้า 5.5
แสนล้านบาท
หากรัฐบาลจะใช้เพียงการแลกสินค้าคงเป็นไปได้ยาก
เพราะที่ผ่านมา 5 ประเทศ คือ
อังกฤษ สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส
เยอรมนี และญี่ปุ่น
ซึ่งเป็นประเทศที่มีเทคโนโลยีรถไฟฟ้า
ได้เคยออกมาปฏิเสธแล้วว่า
วิธีการนี้ไม่น่าจะเป็นไปได้
เมื่อต่างประเทศไม่ยอมรับวิธีการแลกเปลี่ยนสินค้า
รัฐบาลจะนำงบประมาณมาจากแหล่งใด
หากรัฐบาลต้องการแลกยางพารากับรถไฟฟ้า
ตามที่นายกกล่าวไว้เมื่อวันเสาร์ที่
3 ธันวาคม
ประเทศที่นำเข้ายางพาราจากไทยมากที่สุดคือประเทศจีน
แต่ประเทศจีนไม่น่าจะมีเทคโนโลยีรถไฟฟ้าที่ดีที่สุด
เพราะจีนเพิ่งจะมีรถไฟฟ้าก่อนหน้าประเทศไทยไม่กี่ปีเท่านั้น
แต่หากมีบางประเทศที่ยินดีก่อสร้างรถไฟฟ้าในประเทศไทย
โดยแลกเปลี่ยนกับสินค้าของไทย
แล้วรัฐบาลจะนำงบประมาณและปัจจัยการผลิตจากแหล่งใด
เพื่อมาลงทุนผลิตสินค้าส่งให้กับต่างประเทศ
ในเมื่อรัฐบาลไม่เคยเป็นผู้ผลิตสินค้าดังกล่าวมาก่อนเลย
แต่หากรัฐบาลจะสนับสนุนให้เอกชนผลิต
ใครจะเป็นผู้ที่จ่ายค่าสินค้าให้กับเอกชนที่ผลิตสินค้าเพื่อนำไปแลกรถไฟฟ้า
ประการที่สอง
รัฐบาลขาดความชัดเจนเกี่ยวกับรูปแบบการก่อสร้าง
การที่รัฐบาลเชิญทูตต่างประเทศประจำประเทศไทยมาเพื่อปรึกษาหารือ
และจะเสนอให้บริษัทต่างชาติยื่นข้อเสนอโครงการเข้ามาร่วมประมูลนั้น
ได้สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับรูปแบบการก่อสร้างรถไฟฟ้า
เพราะนายกฯยังไม่มีข้อสรุปว่าการก่อสร้างในแต่ละเส้นทางจะดำเนินการในรูปแบบใด
โมโนเรล (Monorail) ไลท์เรล (Light
Rail) เฮฟวี่เรล (Heavy Rail)
หรือบีอาร์ที (Bus Rapid
Transport - BRT)
ประเด็นที่น่าสงสัย
คือในช่วงเวลาที่รัฐบาลเปลี่ยนนโยบายกลับไปกลับมา
จากการก่อสร้างรถไฟฟ้า 7 สาย เป็น
5 สาย ก่อนที่จะกลับมาเป็น 10
สายนั้น รัฐบาลทำอะไรอยู่
รัฐบาลได้ทำการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการแล้วหรือไม่
หากโครงการมีความเป็นไปได้
ทำไมจึงยังไม่มีรูปแบบโครงการออกมา
การประกาศแนวคิดใหม่นี้จึงอาจเป็นเพียงการหาประเด็นเพื่อถ่วงเวลาการก่อสร้างรถไฟฟ้าออกไปเท่านั้น
นอกจากนี้
หากรัฐบาลต้องการจะให้ต่างชาติเสนอโครงการเข้ามาประมูลจริง
ประเด็นที่น่ากังวลคือ
ในเมื่อประเทศไทยไม่มีความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีของต่างชาติ
รัฐบาลจะใช้เกณฑ์อะไรในการตัดสินใจว่าควรจะก่อสร้างรถไฟฟ้ารูปแบบใด
การเลือกลงทุนตามข้อเสนอของต่างชาติจะเป็นทางเลือกที่เหมาะสมกับประเทศไทยหรือไม่และคุ้มค่าที่สุดหรือไม่
และการตัดสินใจจะมีความโปร่งใสหรือไม่
นอกจากนี้
เมื่อรูปแบบการก่อสร้างยังไม่มีความชัดเจน
โครงการนี้จะเริ่มดำเนินการเมื่อใดและจะก่อสร้างเสร็จได้เมื่อใด
ส.ส.ประชาธิปัตย์ กล่าวสรุป
..................................................
|