Go www.kriengsak.com ประวัติ ครอบครัว งานวิชาการ กิจกรรม Press Contact us ค้นหา


เกรียงศักดิ์ชี้สภาที่ปรึกษาเปรียบสภาจิ้งจก
..................................................



เกรียงศักดิ์ชี้สภาที่ปรึกษาฯ เปรียบเหมือนสภาจิ้งจก ร้องทักจนเสียงแหบแห้ง แต่รัฐบาลไม่เคยสนใจ ตลอด 3 ปีรัฐบาลส่งเรื่องให้สภาที่ปรึกษาฯพิจารณา เพียง 2 เรื่อง ข้อเสนอที่เสนอ ครม. ยังถูกเมิน พิจารณาล่าช้าไม่ทันการ

นายเกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ กรรมการบริหารพรรค และ ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ ได้แสดงความคิดเห็นในฐานะอดีตสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สป.) ชุดแรกว่า การดำเนินการตลอดวาระแรกของสภาที่ปรึกษามีเรื่องเพียง 2 เรื่องที่รัฐบาลส่งให้สภาที่ปรึกษาฯ พิจารณา คือ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 ซึ่งเป็นเรื่องที่กฎหมายบังคับให้รัฐบาลต้องส่งมาให้ สป.พิจารณา เรื่องที่สอง คือ การพิจารณาเกี่ยวกับกิจการที่กฎหมายถือว่าไม่ถูกต้อง ซึ่งเหตุที่รัฐบาลส่งมาไม่ใช่เพราะว่ารัฐบาลอยากทราบความเห็นของภาคประชาชน แต่รัฐบาลต้องการเอาสภาที่ปรึกษาฯ เป็น “ไม้กันสุนัข” เพื่อจะดำเนินการเปิดบ่อนการพนันถูกกฎหมาย ซึ่งใคร ๆ ก็ทราบดีว่าเป็นแนวคิดที่รัฐบาลนี้ต้องการจะทำ แต่มีกระแสต่อต้านมาก พฤติกรรมของรัฐบาลที่กระทำต่อสภาที่ปรึกษาฯ แสดงให้เห็นชัดเจนว่า รัฐบาลไม่ได้ให้ความสำคัญกับสภาที่ปรึกษาฯ ซึ่งเป็นตัวแทนของภาคประชาชน

“ผมได้วิเคราะห์ตัวเลขจากเว็บไซต์สภาที่ปรึกษาในส่วนความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี (www.nesac.or.th) และเว็บไซต์ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (www.cabinet.thaigov.go.th) ปรากฎว่า คณะรัฐมนตรีมักเพิกเฉยต่อความเห็นและข้อเสนอแนะของสภาที่ปรึกษาฯมาโดยตลอด หากนับถึงปัจจุบัน สภาที่ปรึกษาฯ ได้จัดทำข้อเสนอมายัง ครม.กว่า 100 เรื่อง แต่มีเรื่องที่ค้างการพิจารณาอยู่ที่คณะรัฐมนตรีถึงกว่า 40 เรื่อง ทั้ง ๆ ที่หลายเรื่องเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ควรรีบพิจารณา นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เวลามากในการพิจารณาข้อเสนอของสภาที่ปรึกษาฯ นับตั้งแต่การได้รับความเห็นและข้อเสนอแนะฯ พบว่า ครม.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ใช้เวลาเฉลี่ยในการพิจารณามากกว่า 153.5 วัน ทั้ง ๆ ที่ควรพิจารณาเสร็จในเวลาไม่เกิน 15-25 วัน ทำให้ข้อเสนอฯ ในประเด็นเร่งด่วนที่ต้องเร่งดำเนินการ กลับไม่ได้ถูกนำไปปฏิบัติ เพราะช้าเกินไปไม่ทันการณ์”
 
นายเกรียงศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า ทางออกเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับสภาที่ปรึกษาฯ คณะรัฐมนตรี หน่วยงานราชการ และสภาที่ปรึกษาฯ ควรร่วมกันกำหนดกฎหมายบัญญัติให้สภาที่ปรึกษาฯ ต้องให้ความเห็นในกระบวนการจัดทำแผนระดับชาติต่าง ๆ ก่อนการประกาศใช้ รวมทั้งสภาที่ปรึกษาฯและสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีควรทำข้อตกลงกันอย่างเป็นทางการ เกี่ยวกับกระบวนการ ขั้นตอนพิจารณา ช่วงเวลาในการส่งคืนข้อเสนอ และการจัดทำรายงานผลการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีต่อความเห็นและข้อเสนอแนะของสภาที่ปรึกษาฯ โดยประเด็นสำคัญที่ควรมีการตกลงกัน เช่น กำหนดขั้นตอน และช่วงเวลาในการพิจารณาความเห็นและข้อเสนอแนะฯ อย่างชัดเจน กำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับเนื้อหาของการพิจารณา และรูปแบบการจัดทำรายงานผลการพิจารณา
 

 ..................................................