Go www.kriengsak.com ประวัติ ครอบครัว งานวิชาการ กิจกรรม Press Contact us ค้นหา


ปี 47 “ปีแห่งความผิดพลาดของ EXIM Bank”
..................................................



เกรียงศักดิ์แจง ปี 47 ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) หรือ EXIM Bank ได้ถูกบีบให้ทำตามนโยบายของรัฐบาลจนเกิดความผิดพลาดทั้งในด้านการจัดลำดับความสำคัญ และการบริหารความเสี่ยงของธนาคาร

ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ รองประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนฯ คณะกรรมการบริหาร รองประธานคณะทำงานด้านเศรษฐกิจพรรคฯ และ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึง  อภิปรายเพื่อรับทราบรายงานกิจการประจำปี งบดุลบัญชีกำไรและขาดทุนของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) หรือ EXIM Bank ในปี 2547 ที่ได้เข้าสู่การพิจารณาในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันพฤหัสที่ 10 พฤศจิกายนนี้ว่า การดำเนินงานของ EXIM Bank ในปี 2547 เป็น “ปีแห่งความผิดพลาด”

ประเด็นที่หนึ่ง ความผิดพลาดในการจัดลำดับความสำคัญ ธนาคารได้ดำเนินงานบิดเบือนไปจากวัตถุประสงค์หลัก คือ การเป็นธนาคารเฉพาะกิจ ที่ส่งเสริมและสนับสนุนการส่งออก การนำเข้า และการลงทุน ซึ่งหากจัดลำดับความสำคัญต้องส่งเสริมและสนับสนุน ผู้ที่ไม่สามารถส่งออก นำเข้า และลงทุนได้เองก่อน หรือโครงการที่จำเป็น มีผลต่อการพัฒนาประเทศ และไม่สามารถหาเงินทุนได้จากแหล่งทุนปกติ

“ธนาคารได้ปฏิบัติหน้าที่บิดเบือนจากวัตถุประสงค์ โดยเห็นได้ชัดเจนว่า โครงการสำคัญในปี 2547 คือเงินกู้ 4,000 ล้านบาทที่ให้แก่รัฐบาลพม่า มีการจัดลำดับความสำคัญผิดพลาด เพราะส่งเสริมผู้ที่มีความสามารถส่งออกได้เองอยู่แล้วเพราะคู่สัญญาเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ สินค้าที่รัฐบาลพม่าสั่งซื้อส่วนหนึ่งเป็นสินค้าที่คนไทยผลิตเองไม่ได้ทำให้ผู้ประกอบการไทยไม่ได้ประโยชน์มากนัก รวมถึงโครงการนี้ไม่ได้มีหลักประกันว่า จะทำให้ไทยส่งออกได้ในระยะยาว” .. ปชป. กล่าว

นอกจากนี้ยังมีการปล่อยกู้ที่สร้างข้อสงสัยอีกหลายโครงการ  การกระทำเช่นนี้ ทำให้เกิดคำถามที่ว่า โครงการต่าง ๆ ที่ธนาคารอนุมัติไปนี้มีการจัดลำดับความสำคัญในการปล่อยกู้อย่างไร มีผลต่อการพัฒนาประเทศไทยอย่างไร ช่วยส่งเสริมการพัฒนาประเทศได้อย่างไร”

ประเด็นที่สอง ความผิดพลาดในการบริหารความเสี่ยง รายงานประจำปีของ EXIM Bank ทุกปีที่ผ่านมา จะมีข้อความที่บ่งบอกว่า ธนาคารจะได้รับความคุ้มครองจากรัฐบาลในกรณีการให้บริการทางการเงินแก่ธุรกรรมที่มีความเสี่ยงสูง หรือได้รับความเสียหายเนื่องจากการดำเนินธุรกิจตามนโยบายของรัฐบาลหรือตามมติ ค... ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติเพราะธนาคารมีหน้าที่ให้สินเชื่อ รับประกันความเสี่ยง ค้ำประกัน หรือให้บริการอื่น แต่ประเด็นที่ได้ตั้งข้อสังเกต คือ EXIM Bank ได้บริหารความเสี่ยง ตามความเป็นจริงหรือไม่

“จากการพิจารณารายงาน พบว่า EXIM Bank ไม่ได้บริหารความเสี่ยงอย่างดีที่สุด  โดยในกรณีกรณีเงินกู้พม่า ทำไม EXIM Bank ไม่กำหนดเงื่อนไขการใช้เงินกู้ของรัฐบาลพม่าอย่างรัดกุมมากพอ ทั้ง ๆ ที่ประเทศพม่าถูกจัดอันดับอยู่ในระดับ E หรือกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงที่สุด ผมคิดว่า ในฐานะผู้ให้กู้ย่อมกำหนดเงื่อนไขต่าง ๆ ได้ เพื่อลดความเสี่ยงจากการใช้เงินกู้ เช่น กรณีที่ IMF ให้เงินกู้แก่ไทย ยังกำหนดเงื่อนไขที่รัดกุมมาก แต่ EXIM Bank ไม่ได้พยายามดำเนินการ เพื่อลดความเสี่ยงดังกล่าว ทั้ง ๆ ที่ทำได้”

อีกกรณีหนึ่ง คือ การส่งเสริมสินเชื่อเพื่อจัดตั้งร้านอาหารไทยในต่างประเทศ ตามโครงการครัวโลก ผลปรากฏว่า ต้นปี 2547 มีลูกหนี้ในโครงการนี้เป็น NPL สูงถึงร้อยละ 50 ต่อมาในปี 2548 พบว่า ลูกหนี้ 2 ใน 3 ถือว่ายังไม่ประสบความสำเร็จอย่างเต็มที่ และยังต้องพัฒนาต่อไป

“จึงเกิดคำถามว่า EXIM Bank ปล่อยกู้ไปโดยไม่ระมัดระวังหรือไม่ เพราะรู้ว่ารัฐบาลต้องชดเชยความเสียหายให้อยู่แล้ว หรือว่า มีความจำเป็นต้องปล่อยกู้ให้ได้ตามเป้าหมาย ตามใบสั่งของรัฐบาล ทั้งนี้ EXIM Bank จะดำเนินการเพื่อลดความเสี่ยงในโครงการนี้อย่างไร หรือว่า ได้บริหารความเสี่ยงอย่างเต็มที่แล้ว แต่เป็นเพราะนโยบายของรัฐบาลที่ออกมาอย่างไม่รอบคอบ จึงทำให้ลดความเสี่ยงลงมาไม่ได้” ส.ส ปชป.กล่าวทิ้งท้าย

 ..................................................