เกรียงศักดิ์ ให้ฉายา
เมกะโปรเจกต์ เป็นโครงการ ‘หมกโปรเจกต์’
เพราะมีความไม่ชัดเจน 4 ประการ
หนึ่ง หมกการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด
สอง หมกค่าโง่ สาม หมกการนำเข้า
และสี่ หมกการอุดหนุนของรัฐ
นายเกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
รองประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ
สภาผู้แทนราษฎร กรรมการบริหาร และ
ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์
วิพากษ์เกี่ยวกับโครงการเมกะโปรเจกต์ของรัฐบาล
ว่าเป็น ‘หมกโปรเจกต์’
หลังจากกระทรวงการคลังออกมาตอบโต้ทีดีอาร์ไอในเรื่องดังกล่าว
ระบุถึงความไม่ชัดเจน 4 ประการ
“ทีดีอาร์ไอได้ออกมาเตือนรัฐบาลเหมือนที่ผมได้เคยอภิปรายเมื่อเดือน
มี.ค.ที่ผ่านมา
แต่หลังจากได้รับทราบคำชี้แจงของกระทรวงการคลังแล้ว
ผมสงสัยว่า รัฐบาลหมกการขาดดุลฯ
เพราะไม่ได้บอกความจริงทั้งหมดเกี่ยวกับการขาดดุลฯ
เพราะการชี้แจงของกระทรวงการคลังล่าสุด
ได้ปรับสมมติฐานให้การส่งออกโต
15% ราคาน้ำมัน 53
ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ทั้ง ๆ ที่
แผนการลงทุนที่เสนอต่อ ครม. เมื่อ
14 มิ.ย.48
ราคาน้ำมันเฉลี่ยอยู่ที่ 45.7
ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และการส่งออกปี
48 โต 20% ยังพบว่าขาดดุล -2.04%,
-3.29% และ –2.15%ของจีดีพี
ระหว่างปี 50-52 ตามลำดับ
ดังนั้นผลการวิเคราะห์ล่าสุดน่าจะขาดดุลฯ
มากขึ้น แต่กระทรวงการคลัง
ยังยืนยันว่าจะไม่เกิน -2% GDP”
“ประการต่อมา หมกค่าโง่
การที่รัฐบาลยืนยันมาโดยตลอดว่าหากขาดดุลเกินกว่าที่กำหนดจะชะลอโครงการที่มีความสำคัญน้อยกว่าออกไป
ผมยังไม่เห็นว่ารัฐบาลมีการจัดลำดับความสำคัญของโครงการอย่างไรและไม่รู้ว่าใช้เกณฑ์อะไร
และถ้ารัฐเร่งทำโครงการต่าง ๆ
พร้อม ๆ กัน
เมื่อเริ่มต้นก่อสร้างแล้วจะชะลอได้อย่างไร
เพราะเมื่อเริ่มต้นลงทุนก่อสร้างโครงการต่าง
ๆ การชะลอโครงการ หมายความว่า
รัฐจะผิดสัญญากับผู้รับเหมา
รัฐต้องจ่ายค่าเสียหาย หรือ
ค่าโง่ให้แก่ผู้รับเหมา
ซึ่งมีต้นทุนเพิ่มขึ้นมาก
และมีความเสี่ยงที่จะไม่ได้ก่อสร้างต่อ”
“สาม หมกการนำเข้า
รัฐบาลจะควบคุมสัดส่วนการนำเข้าให้อยู่ที่
30% ได้อย่างไร
ในเมื่อราคาน้ำมันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
ทำให้ต้นทุนการนำเข้าเพิ่มสูงขึ้น
ขณะที่โครงการรถไฟฟ้าใต้ดินมีสัดส่วนนำเข้าโดยตรง
40%
แม้จะมีแนวคิดจัดตั้งโรงงานประกอบรถไฟฟ้าในประเทศ
แต่อุตสาหกรรมรถไฟฟ้าใช้เทคโนโลยีชั้นสูง
การผลิตในประเทศจึงช่วยลดสัดส่วนการนำเข้าได้ไม่มากนัก
และหากโครงการต่าง ๆ
เริ่มต้นไปแล้ว
พบว่ามีสัดส่วนการนำเข้าโดยรวมเกิน
30% จะควบคุมอย่างไร
รัฐบาลจะเปลี่ยนสเปกของโครงการกลางทาง
เหมือนกรณีสนามบินสุวรรณภูมิหรือไม่
และหากมีวัสดุอุปกรณ์ที่มีสัดส่วนการนำเข้าต่ำกว่า
ทำไมไม่กำหนดสเปกไว้ตั้งแต่ก่อนทำสัญญาก่อสร้าง”
“ประการสุดท้าย หมกการอุดหนุน
รัฐบาลไม่ได้แสดงตัวเลขออกมาให้ชัดเจนว่า
ความคุ้มค่าของแต่ละโครงการเป็นอย่างไร
ในอนาคต
รัฐบาลจำเป็นต้องจัดสรรงบประมาณเพื่อชำระหนี้
และอุดหนุนโครงการทั้งหมดในแต่ละปีเป็นเงินเท่าไร
แม้ว่าเมกะโปรเจกต์จะเป็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคม
แต่ส่วนใหญ่อาจไม่คุ้มทุน
ทำให้เอกชนไม่ลงทุน
รัฐบาลต้องเป็นผู้ลงทุนและดำเนินการเองทั้งหมด
ซึ่งอาจทำให้รัฐรับภาระอุดหนุนโครงการอย่างไม่สิ้นสุด”
สส.ปชป. เสนอแนะว่า “รัฐบาลควรศึกษาโครงการต่าง
ๆ ให้รอบคอบก่อนเริ่มโครงการ
อย่าก่อสร้างไปเปลี่ยนสเปกของโครงการไป
รวมทั้งต้องกำหนดแผนสำรองกรณีแย่ที่สุดเอาไว้ด้วย
เช่น
หากงบบานปลายจะหาเงินลงทุนเพิ่มขึ้นจากแหล่งใด
นอกจากนี้รัฐบาลควรปรับรูปแบบการลงทุนและการบริหารบางโครงการให้เป็นเชิงพาณิชย์มากขึ้น
เพื่อจูงใจให้เอกชนมาร่วมลงทุน
และลดภาระทางการคลังของรัฐบาลด้วย”
..................................................
|