Go www.kriengsak.com ประวัติ ครอบครัว งานวิชาการ กิจกรรม Press Contact us ค้นหา


แนะ 6 แนวทางสร้างสื่อเสรีเพื่อประชาชน
..................................................

 

              ดร.เกรียงศักดิ์ เสนอแนวทางสร้างสื่อเสรีเพื่อประชาชน โดยสร้างดัชนีชี้วัดคุณภาพรายการ สร้างช่องทาง เปิดช่องทีวีเพิ่ม ตั้งกองทุนอุดหนุนรายการมีสาระ สร้างระบบตรวจสอบผู้บริหารสถานี สื่อกล้าแสดงจุดยืนของตน และผู้ชมสามารถมีส่วนร่วมในการกำหนดเนื้อหาสาระของรายการ

ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ รองประธานคณะทำงานเศรษฐกิจ และกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ ได้แสดงความคิดเห็นว่า รัฐไม่ควรเข้ามาควบคุมไอทีวีหากต้องเปลี่ยนมือเจ้าของ เพราะทำให้ผิดเจตนารมณ์การจัดตั้งสถานี ก้าวต่อไปของไอทีวี ควรทำหน้าที่รับใช้ประชาชนอย่างเต็มที่ โดยไม่ถูกครอบงำโดยกลุ่มทุนผูกขาด อำนาจทางการเมือง อำนาจจากรัฐบาล พร้อมกันนี้ รัฐควรมีแนวทางสร้างสื่อเสรีเพื่อประชาชนอย่างชัดเจน

ดร.เกรียงศักดิ์ เสนอแนวทางสร้างสื่อเสรีว่า โดยรัฐต้องดำเนินการ 6 ประการ ได้แก่

1. สร้างดัชนีชี้วัดคุณภาพรายการและสถานี เพื่อป้องกันการมุ่งสร้างรายได้จากการโฆษณา โดยละเลยรายการสาระความรู้

               2. ตั้งกองทุน เก็บเงินจากรายการบันเทิง อุดหนุนรายการมีสาระ เพื่อให้สามารถผลิตรายการประเภทสาระอย่างมีคุณภาพ สามารถอยู่รอด

               3. เพิ่มช่องทีวีเสรีให้มีจำนวนมาก เพื่อเป็นการส่งเสริมให้สถานีโทรทัศน์แต่ละช่องผลิตรายการตามจุดแข็งของตนเอง (niche market) เพื่อให้เกิดรายการมีความหลากหลาย สามารถดึงดูดความสนใจ และตอบสนองความต้องการของผู้ชมเฉพาะกลุ่ม

               4. สร้างระบบตรวจสอบผู้บริหารสถานี เพื่อทำให้เกิดการบริหารอย่างโปร่งใส บริหารงานด้วยหลักธรรมาภิบาล และรับผิดชอบต่อสังคม ป้องกันไม่ให้เกิดการใช้อำนาจในทางที่ผิดดังที่ผ่านมา

5. แสดงจุดยืนที่มีคุณธรรมชัดเจน สถานีต้องกล้าหยิบยกประเด็นจริยธรรมมาถกเถียงเพื่อเกิดความโปร่งใสในสังคม เอื้อประโยชน์ให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลข่าวสารที่เป็นจริง ไม่ถูกปกปิดหรือบิดเบือนอันเนื่องจากอิทธิพลหรืออำนาจมืดเข้าแทรกแซง            
             
            
6. เพิ่มช่องทางการสื่อสารระหว่างพนักงาน ผู้บริหาร และผู้ชม
โดยเปิดโอกาสให้ผู้ชมสามารถมีส่วนร่วมในการกำหนดเนื้อหาสาระของรายการ ให้ตรงกับความต้องการของผู้ชมที่เป็นกลุ่มเป้าหมายอย่างแท้จริง ด้วยการสื่อสารไปยังสถานี ทั้งทางโทรศัพท์ อินเทอร์เน็ต หรือจดหมาย

“สื่อทีวีถือว่าเป็นสื่อที่ทรงพลัง สามารถเข้าถึงคนทุกกลุ่มในสังคมได้ ดังนั้นหากสามารถพัฒนาสถานีโทรทัศน์ของเราทุกช่องให้มีคุณภาพ ก็จะเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนได้ต่อยอดองค์ความรู้ในสังคมต่อไป อีกทั้งสื่อจะสามารถเป็นเครื่องมือที่ทรงประสิทธิภาพในการสร้างสังคมประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นในทุกกลุ่มคนของสังคมต่อไป” ดร.เกรียงศักดิ์ กล่าวในตอนท้าย