Go www.kriengsak.com ประวัติ ครอบครัว งานวิชาการ กิจกรรม Press Contact us ค้นหา


บัญญัติ 10 ประการ ก่อนแม้แต่จะคิดขายหุ้น กฟผ.
..................................................


ดร.เกรียงศักดิ์ วอนรัฐบาล ช้า ๆ ได้พร้าเล่มงาม เสนอบัญญัติ 10 ประการ ก่อนคิดจะขายหุ้น กฟผ. คือเร่งตั้งองค์กรอิสระกำกับดูแล, แยกกิจการผูกขาดออกจากกิจการที่แข่งขันกันได้, ขจัดเงื่อนไขที่ทำให้ กฟผ.ผูกขาด, แตก กฟผ.เป็นหลายบริษัท, ตั้งข้อจำกัดการถือหุ้นไขว้ในธุรกิจไฟฟ้า, ยกเลิกเกณฑ์การประกันผลตอบแทนการลงทุน, ยกเลิกเงื่อนไขที่ กฟผ.ต้องรับซื้อก๊าซจาก ปตท.แต่เพียงรายเดียว, ให้ผู้ผลิตไฟฟ้าทุกแห่งตั้งสำรองไฟฟ้า, อนุญาตให้รัฐแทรกแซงกรณีฉุกเฉิน และสุดท้าย ตั้งกองทุนพัฒนาไฟฟ้า

ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ รองประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนฯ คณะกรรมการบริหาร รองประธานคณะทำงานด้านเศรษฐกิจพรรคฯและ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ขอให้รัฐบาลทบทวนการนำบริษัท กฟผ.จำกัด เข้าตลาดหลักทรัพย์ เนื่องจากความไม่พร้อมของกฎกติกาและกลไกต่าง ๆ ในกิจการไฟฟ้าของประเทศ

“ผมอยากให้รัฐบาลใจเย็น ๆ ในการแปรรูป กฟผ. ขอให้พิจารณารายละเอียดต่าง ๆ อย่างรอบคอบ ผมเห็นว่ายังพอมีความเป็นไปได้ ที่จะทำให้การปรับปรุงของ กฟผ.มีความสมบูรณ์ และเป็นประโยชน์ต่อประชาชนมากขึ้น ขอเสนอหลักเกณฑ์ 10 ประการก่อนกระจายหุ้น กฟผ.ให้ภาคเอกชนและประชาชน”

หนึ่ง เร่งออกกฎหมายกำกับกิจการไฟฟ้าและจัดตั้งองค์กรอิสระกำกับดูแลกิจการไฟฟ้า ที่มีลักษณะเช่นเดียวกับคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ที่กำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมของประเทศ องค์กรอิสระนี้ทำหน้าที่กำกับดูแลกิจการไฟฟ้าให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม”

สอง แยกกิจการผูกขาดออกจากกิจการที่มีการแข่งขัน โดยปรับโครงสร้างกิจการไฟฟ้าทั้งระบบ แยกแยะทรัพยสินและกิจการที่ผูกขาดออกจากกิจการที่สามารถให้มีการแข่งขันกันได้ กล่าวคือระบบส่งของ กฟผ. และระบบจำหน่ายของ กฟน. และ กฟภ. ควรให้รัฐเป็นเจ้าของและดำเนินการเอง ส่วนระบบผลิตและกิจการค้าปลีกควรเปิดให้แข่งขันอย่างเสรี เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและลดการลงทุนของภาครัฐ ส่วนกิจการการผลิตบางส่วน ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังน้ำ เขื่อน และอ่างเก็บน้ำ ควรแยกออกจาก กฟผ. เพราะมีทรัพย์สินที่เป็นของแผ่นดิน”

สาม ขจัดเงื่อนไขที่ทำให้ กฟผ.ผูกขาด ได้แก่ การได้รับสิทธิเพียงรายเดียวในการเช่าทรัพย์สินต่าง ๆ เช่น เขื่อนและอ่างเก็บน้ำ จากกระทรวงการคลัง รวมทั้งยกเลิกเงื่อนไขที่ให้ กฟผ.ผลิตไฟฟ้าร้อยละ 50 ของความต้องการไฟฟ้าที่เกิดขึ้นใหม่ ควรปล่อยให้ผู้ที่ผลิตได้ในต้นทุนที่ต่ำกว่าเป็นผู้ผลิต ซึ่งส่งผลให้ราคาถูกลงตามต้นทุนที่ต่ำลง”

สี่ แตก กฟผ. ออกเป็นหลายบริษัท เพื่อให้เกิดการแข่งขันกันในระบบผลิตไฟฟ้ามากขึ้น”

ห้า กำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับการถือหุ้นไขว้ในธุรกิจไฟฟ้า เพื่อสร้างข้อจำกัดสำหรับกลุ่มการเมืองและกลุ่มธุรกิจในการครอบครองหุ้นของกิจการไฟฟ้า อันจะนำมาสู่การกำหนดนโยบายที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน และป้องกันการร่วมมือกันของกิจการค้าปลีกไฟฟ้าในการกำหนดราคาที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค”
หก ยกเลิกเกณฑ์การประกันผลตอบแทนการลงทุน (ROIC) เพื่อทำให้กิจการไฟฟ้าที่กระจายหุ้นให้เอกชนและประชาชนไปแล้ว ต้องพัฒนาประสิทธิภาพของตนเอง โดยรัฐไม่ต้องเข้าไปแทรกแซง”

เจ็ด ยกเลิกเงื่อนไขที่ทำให้ กฟผ.ต้องรับซื้อก๊าซจาก ปตท.แต่เพียงรายเดียว เพื่อยกเลิกการผูกขาดของ ปตท.ที่มีต่อ กฟผ. ซึ่งจะทำให้ กฟผ.ซึ่งเป็นผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ของประเทศ มีต้นทุนการซื้อเชื้อเพลิงที่ต่ำลง เพราะเป็นไปตามกลไกตลาด และทำให้ค่าไฟฟ้าลดลงได้”

แปด สร้างหลักประกันความมั่นคงในระบบไฟฟ้า โดยให้ผู้ผลิตไฟฟ้าทุกรายตั้งสำรองไฟฟ้า เพื่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้า และทำให้เกิดความเป็นธรรมกับ กฟผ. ที่ต้องแบกภาระสำรองไฟเพียงหน่วยงานเดียว โดยกำหนดให้บริษัทเอกชนที่ผลิตไฟฟ้าทุกแห่งตั้งสำรองไฟฟ้าด้วย เช่นเดียวกับการที่ธนาคารกลางกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์มีเงินสดสำรอง

เก้า อนุญาตให้รัฐมีอำนาจเข้าแทรกแซงกิจการไฟฟ้า ในกรณีฉุกเฉินที่เป็นอันตรายต่อความมั่นคงทางไฟฟ้าของประเทศ รวมทั้งให้สิทธิรัฐในการซื้อคืนกิจการพลังงานจากเอกชนในราคาที่เป็นธรรม“

สิบ จัดตั้งกองทุนพัฒนาไฟฟ้า เพื่อดึงกำไรของกิจการไฟฟ้ามาลงทุนขยายโครงข่ายกิจการไฟฟ้าในพื้นที่ชนบทห่างไกล และจ่ายค่าไฟฟ้าสาธารณะ รวมทั้งการวิจัยและพัฒนาด้านระบบไฟฟ้าของประเทศ”

“ผมอยากเห็นรัฐบาลชะลอการนำ กฟผ.เข้าตลาดหุ้น โดยพิจารณาเงื่อนไขอย่างรอบครอบ เพราะเรื่องแบบนี้ “ช้า ๆ ได้พร้าเล่มงาม” ดร.เกรียงศักดิ์กล่าวทิ้งท้าย
 

 ..................................................