เกรียงศักดิ์ วิเคราะห์เหตุ ปรับ
ครม.ชุดใหญ่ หวังผลทางการเมือง
กลบกระแส CTX
ลดอำนาจต่อรองวังน้ำยม
และเล่นเก้าอี้ดนตรี
ไม่มีอะไรใหม่
ไม่น่าจะช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้
ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
กรรมการบริหาร และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ
พรรคประชาธิปัตย์
แสดงความเห็นถึงเหตุผลของการปรับคณะรัฐมนตรี
ชุดทักษิณ 2/2
ซึ่งเป็นการปรับครั้งใหญ่ว่า
รัฐบาลน่าจะมีวัตถุประสงค์หลัก 4
ประการ คือ
เพื่อลดกระแสความไม่เชื่อมั่นต่อ
รมว.คมนาคมในกรณี CTX
เพื่อจัดสรรผลประโยชน์และอำนาจต่อรองภายในพรรค
เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่างของ รมช.พาณิชย์
และเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ
แต่ทั้งหมดนี้
รัฐบาลมีแรงจูงใจทางการเมืองมากกว่าการแก้ไขปัญหาของชาติ
“รัฐบาลพยายามสร้างภาพว่า การปรับ
ครม.ครั้งนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่
เพราะมีการปรับตำแหน่งรัฐมนตรีถึง
17 ตำแหน่ง แต่ในความเป็นจริง
การปรับใหญ่เป็นไปเพื่อบิดเบือนเหตุผลของการปรับนายสุริยะออกจากกระทรวงคมนาคม
โดยพยายามทำให้ดูเหมือนว่ากระทรวงอื่น
ๆ ก็ปรับกันหมด
ดังนั้นกระทรวงคมนาคมก็ปรับด้วยเหตุผลเดียวกัน
เพื่อกลบเกลื่อนว่าไม่ใช่เพราะปัญหา
CTX
จึงย้ายนายสุริยะไปกระทรวงอื่น
การปรับใหญ่ครั้งนี้จึงเป็นการลดกระแสเรียกร้องให้ปรับนายสุริยะออกจากตำแหน่ง
และยังเป็นความพยายามส่งสัญญาณว่า
นายสุริยะไม่บกพร่องในเรื่อง CTX”
“การปรับ ครม.ครั้งนี้ นายกฯ
ยังใช้เป็นโอกาสในการลดอำนาจต่อรองของบางมุ้งในพรรคไทยรักไทย
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มวังน้ำยม
ที่พยายามแสดงพลังและเรียกร้องตำแหน่งอยู่ตลอดเวลา
การปรับตำแหน่งนายสมศักดิ์
ซึ่งเป็นแกนนำของกลุ่มวังน้ำยม
จาก รมว.กระทรวงการท่องเที่ยวฯ
ไปเป็น รมว.แรงงาน
ซึ่งมีความสำคัญน้อยลง
จึงเป็นการสั่งสอนมุ้งต่าง ๆ
ไม่ให้พยายามเรียกร้องตำแหน่งหรือพยายามสร้างอำนาจต่อรองภายในพรรค”
“เหตุผลอีกประการหนึ่งในการปรับ
ครม.ขนานใหญ่ คือ
รัฐบาลอยู่ในช่วงขาลง
กระแสความนิยมกำลังตกต่ำ
รัฐบาลจึงพยายามสร้างสีสรรทางการเมือง
โดยการปรับใหญ่ให้ดูน่าตื่นเต้น
แต่เมื่อวิเคราะห์ในรายละเอียดของการปรับ
ครม. จะพบว่า รัฐมนตรีใน ครม.ชุดใหม่ส่วนใหญ่เป็นคนเดิมที่เล่นเก้าอี้ดนตรีสลับตำแหน่งกัน
ถึงแม้ว่าจะมีคนใหม่เข้ามา 4 คน
แต่เป็นคนที่เคยเป็นรัฐมนตรีมาแล้ว
1 คน อีก 3
คนเป็นคนใหม่แต่มีหัวหน้าเป็นคนเดิม
และไม่ใช่คนที่จะมาดูแลกระทรวงเศรษฐกิจ
ฉะนั้นการแก้ปัญหาเศรษฐกิจน่าจะเป็นแบบเดิม
ๆ ไม่ได้มีอะไรใหม่“
“ถึงแม้ว่า การปรับ ดร.สมคิดมาเป็น
รมว.พาณิชย์
อาจจะสร้างความเชื่อมั่นในเชิงจิตวิทยาได้ในระดับหนึ่งว่า
จะช่วยทำให้การส่งออกขยายตัวได้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
เนื่องจากดร.สมคิดมีความเชี่ยวชาญด้านการตลาด
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา ดร.สมคิดก็ทำหน้าที่ดูแลกระทรวงเศรษฐกิจทั้งหมดอยู่แล้ว
และนโยบายหลัก ๆ
ส่วนใหญ่มาจากนายกรัฐมนตรีและทีมงานด้านนโยบายของพรรคไทยรักไทย
ดังนั้นแม้จะเปลี่ยนรัฐมนตรี
แต่แนวคิดและแนวทางแก้ปัญหาจึงไม่น่าจะมีอะไรที่แตกต่างจากเดิมมากนัก“
“ส่วนการปรับ ดร.ทนง พิทยะ
ไปคุมกระทรวงการคลังนั้น แม้ว่าดร.ทนง
เคยคุมกระทรวงการคลังเพียงช่วงเวลาสั้น
ๆ ในปี 2540 ถึงกระนั้น
การเข้ามาดูแลกระทรวงการคลังน่าจะใกล้เคียงกับความเชี่ยวชาญของ
ดร.ทนง มากกว่ากระทรวงพาณิชย์
อย่างไรก็ตาม
นโยบายและมาตรการต่าง ๆ
ในกระทรวงการคลังได้มีการเตรียมการไว้ทั้งหมดแล้ว
การที่ ดร.ทนง
เข้าไปนั่งในกระทรวงการคลัง
จึงไม่น่าจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายแต่อย่างใด”
นายเกรียงศักดิ์
ยังได้ฝากข้อเสนอไปถึงรัฐมนตรีใหม่ในกระทรวงเศรษฐกิจว่า
รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับเป้าหมายการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ
ควรกำหนดนโยบายบนสมมติฐานทางเศรษฐกิจที่สมจริง
และส่งสัญญาณทางเศรษฐกิจที่ถูกต้องให้ประชาชนทราบ
นอกจากนี้
รัฐบาลควรมีมาตรการเพื่อช่วยลดต้นทุนของผู้ประกอบการ
และช่วยเหลือคนยากจน
ผู้มีรายได้น้อย
และคนว่างงานอย่างเจาะจง
ส่วนมาตรการกระตุ้นการส่งออก
รัฐบาลควรเน้นตลาดในภูมิภาคเอเชีย
โดยเฉพาะจีนและมาเลเซียซึ่งค่าเงินแข็งค่าขึ้น
และประเทศผู้ส่งออกน้ำมันซึ่งมีรายได้มากขึ้นจากการส่งออกน้ำมัน
อย่างไรก็ตาม
รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับการสร้างความสามารถในการแข่งขันในระยะยาวด้วย
..................................................
|