Go www.kriengsak.com ประวัติ ครอบครัว งานวิชาการ กิจกรรม Press Contact us ค้นหา


รัฐบาลเตะถ่วงความเจริญ…ส่วนต่อขยาย BTS
..................................................


เกรียงศักดิ์ อัดรัฐบาลเตะถ่วงความเจริญ โดยใช้นโยบายเก็บ 15 บาทตลอดสาย เป็นเหตุผลชะลอส่วนต่อขยายบีทีเอส ซึ่งเน้นผิดประเด็น เพราะหากซื้อคืนบีทีเอสไม่ได้ ก็เก็บ 15 บาทไม่ได้ ควรสร้างไปก่อนดีกว่ารออย่างไร้ความหวัง และเสนอเก็บค่าโดยสารแยกตามกลุ่มคน

ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ รองประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนฯ กรรมการบริหาร และส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีโต้แย้งระหว่างรัฐบาลและกรุงเทพมหานครเกี่ยวกับการก่อสร้างส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าว่า การใช้ข้ออ้างที่ว่าจะเก็บ 15 บาทตลอดสาย เป็นเหตุผลให้ชะลอโครงการส่วนต่อขยายฯ เป็นข้อพิจารณาที่เน้นผิดประเด็น

“เพราะการเก็บ 15 บาทได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลจะซื้อคืนสัมปทานจาก BTS ได้หรือไม่ หากซื้อคืนได้ จึงจะเก็บ 15 บาทตลอดเส้นทางได้ แต่หากซื้อคืนไม่ได้ ก็บังคับให้ BTS เก็บ 15 บาทไม่ได้ ยกเว้นว่ารัฐบาลต้องอุดหนุนประชาชนที่ใช้บริการ BTS”

“รัฐบาลบอกให้ช้า ๆ ได้พร้าเล่มงาม ผมอยากถามว่า จะต้องรอไปถึงเมื่อไหร่ เพราะ BTS ก็ไม่มีทีท่าว่าจะขายให้รัฐบาล แม้ BTS ยังอยู่ในศาลล้มละลาย แต่ได้รับการปรับโครงสร้างหนี้แล้ว กระนั้น BTS ก็ยังไม่มีเงินลงทุนเอง และส่วนต่อขยายก็ไม่อยู่ในแผนลงทุน megaproject ซึ่ง รมว.คมนาคมเคยประกาศจะสร้าง 4 เส้นทาง คือ สีม่วง สีน้ำเงิน สีแดงเข้ม และสีแดงอ่อน”

“เมื่อยังซื้อคืนไม่ได้ การที่ กทม. เข้าไปลงทุนสร้างส่วนต่อขยายนี้ น่าจะเป็นประโยชน์มากกว่า การรอคอยอย่างไม่มีความหวัง เพราะโครงการมีความพร้อม สามารถดำเนินการได้รวดเร็ว ด้วยเงินลงทุนที่ไม่มากนัก และมีผู้ที่พร้อมจะลงทุน กทม.สามารถเจรจาให้ค่าโดยสารให้เท่าเดิม หรือลดลงได้ เพราะ กทม.เป็นผู้ลงทุนทั้งหมด ขณะที่ ผลการศึกษาของ สนข. พบว่าเส้นทางสายสีลมอยู่ในกลุ่มที่มีอัตราผลตอบแทนทางการเงิน (FIRR) สูง เมื่อเทียบกับสายอื่น และน่าจะมีอัตราผลตอบแทนเชิงเศรษฐศาสตร์ (EIRR) สูงมากด้วย เพราะอยู่ในบริเวณที่การจราจรหนาแน่น”

“การชะลอโครงการออกไปไม่เป็นประโยชน์อันใด เพราะมีโครงสร้างพื้นฐานมูลค่า 1,300 ล้านบาท ที่ได้ก่อสร้างไว้แล้ว หากปล่อยทิ้งไว้ก็จะมีค่าเสียโอกาสในการใช้งาน ประชาชนเสียโอกาสได้ใช้บริการรถไฟฟ้า และมีต้นทุนด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ต้องสูญเสียจากการจราจรที่ติดขัด และหากรอไปอีกจะทำให้ต้นทุนทางการเงินสูงขึ้น เพราะดอกเบี้ยมีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้น”

“หากรัฐบาลต้องการให้ BTS เก็บค่าโดยสารอัตราเดียวกับระบบของรัฐบาล ก็ทำได้โดยรัฐบาลต้องเข้ามาอุดหนุน ซึ่งในโครงการรถไฟฟ้าของรัฐบาลที่เก็บ 15 บาทตลอดสาย รัฐบาลก็ต้องอุดหนุนอยู่แล้ว และอาจปรับปรุงให้ใช้ตั๋วใบเดียวได้ โดยให้คอมพิวเตอร์บันทึกข้อมูลการเดินทางของผู้โดยสาร เพื่อหักแบ่งรายได้กัน เช่นเดียวกับฮ่องกงที่มีเจ้าของหลายบริษัท แต่ใช้ตั๋วร่วมกันได้”

“ส่วนประเด็นการเก็บ 15 บาทตลอดสาย ยังไม่ใช่แนวคิดที่ดีที่สุด เพราะจะกีดกันคนที่เดินทางระยะใกล้ ไม่ให้เข้ามาใช้รถไฟฟ้า และยังขัดแย้งกับหลัก ‘คนที่ได้ประโยชน์มาก ควรจ่ายมาก’ และ ‘คนที่มีความสามารถในการจ่าย ควรจ่ายมาก’ ทำให้รัฐบาลต้องใช้เงินอุดหนุนมากขึ้น โดยไม่จำเป็น ทั้ง ๆ ที่ผู้โดยสารส่วนหนึ่งมีความสามารถในการจ่ายและยินดีจ่ายสูงกว่า 15 บาท”

“ผมขอเสนอวิธีกำหนดราคา โดยให้คิดราคาตามระยะทาง เพื่อให้ผู้ที่เดินทางระยะสั้นเข้ามาใช้รถไฟฟ้าด้วย และอยู่บนข้อสมมติที่ว่า ผู้ที่ใช้รถไฟฟ้าเป็นครั้งคราว เขายินดีจ่ายเพื่อความสะดวกและรวดเร็วในการเดินทาง ส่วนคนที่ต้องเดินทางเป็นประจำให้ซื้อตั๋วเดือน ซึ่งคิดค่าโดยสารแบบ flat rate โดยเชื่อว่า คนที่เดินทางเป็นประจำ มองว่ารถไฟฟ้าเป็นบริการที่จำเป็น รัฐบาลจึงควรช่วยลดภาระของคนกลุ่มนี้ ส่วนเด็ก คนพิการ และคนชรา ควรจ่ายในอัตราที่ต่ำกว่าคนปกติ”

“ผมยังไม่เห็นว่า รัฐบาลมีเหตุผลในการชะลอโครงการแต่อย่างใด เรื่องที่ไม่พร้อมและประชาชนอยากให้ชะลอ รัฐบาลกลับรีบเร่ง เช่น การนำ กฟผ.เข้าตลาดหุ้น แต่เรื่องนี้ เป็นประโยชน์ มีความพร้อมทุกด้าน และประชาชนอยากให้เร่งดำเนินการ รัฐบาลกลับเตะถ่วงความเจริญ” ส.ส. ปชป. กล่าว
 

 ..................................................