เกรียงศักดิ์ เซ็ง รมว.ตอบไม่โดนใจ
หวั่นไทยไร้ทางออกหนี้น้ำมัน
..................................................
เกรียงศักดิ์ ผิดหวัง รมว.พลังงาน
ตอบไม่จริง ตอบไม่ตรงคำถาม
และหลีกเลี่ยงการตอบคำถาม
ตลอดจนไม่เห็นด้วยกับมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล
หากไม่ทำอย่างอื่นประกอบด้วย
เพราะไม่ทำให้บริโภคน้ำมันลดลง
จึงไม่ช่วยแก้ไขปัญหาขาดดุล
และยังทำให้รัฐสูญเสียรายได้
พร้อมเสนอให้ลดภาษีดีเซล
แต่เพิ่มภาษีเบนซินชดเชยรายได้ที่เสียไป
นายเกรียงศักดิ์
เจริญวงศ์ศักดิ์
รองประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ
สภาผู้แทนราษฎร กรรมการบริหารและ
ส.ส.บัญชีรายชื่อ
พรรคประชาธิปัตย์
เผยรู้สึกผิดหวังกับคำตอบที่ได้รับจากการตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน
เนื่องจาก ท่านรัฐมนตรีตอบไม่จริง
โดยเฉพาะในประเด็นที่ถามว่า
ทำไมรัฐบาลไม่นำเงินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมของปีงบประมาณ
2548 จำนวน 50,000 ล้านบาท
มาใช้หนี้กองทุนน้ำมัน ทั้ง ๆ
ที่หนี้กองทุนน้ำมันในขณะนั้นสูงถึง
8 หมื่นล้านบาทแล้ว
แต่ท่านรัฐมนตรีตอบว่า
ในเวลานั้นได้คุยกับรัฐมนตรีกระทรวงการคลังแล้ว
แต่รายได้ที่จัดเก็บได้นั้นยังไม่แน่นอน
เกรงว่าจะไม่สามารถจัดงบประมาณสมดุลได้
“ผมได้ไปดูรายได้ที่กระทรวงการคลังจัดเก็บได้ในช่วงเวลานั้น
พบว่ากระทรวงการคลังจัดเก็บรายได้ได้เกินเป้าหมายแล้ว
39,090 ล้านบาท แสดงว่า
การที่รัฐมนตรีบอกว่ากลัวว่าจะจัดเก็บรายได้ไม่เพียงพอนั้น
ไม่เป็นความจริง นอกจากนี้
ท่านนายก ฯ
ยังเคยแสดงความมั่นใจว่า รายได้ 5
หมื่นล้านบาทนั้น
สามารถจัดเก็บได้”
ส.ส.บัญชีรายชื่อ
พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวต่อไปว่า
รัฐมนตรีไม่ตอบคำถามหลายประเด็น
ได้แก่ คำถามที่ว่า
หากรัฐบาลคาดว่า
จะสามารถเก็บเงินเพื่อใช้หนี้ได้ในอนาคต
แล้วทำไมไม่ให้กองทุนน้ำมันเพียงองค์กรเดียวอุดหนุนต่อไปจนกว่าจะลอยตัว
ทำไมจึงใช้มาตรการลดภาษีสรรพสามิต
ซึ่งเป็นการผลักภาระให้ประชาชน
หรือคำถามที่ว่า
หากรัฐบาลไม่สามารถจัดเก็บเงินคืนหนี้กองทุนน้ำมันได้
รัฐบาลมีแผนสำรองหรือไม่ รวมทั้ง
รัฐบาลจะผลักภาระหนี้ไปให้รัฐบาลสมัยหน้าหรือไม่
นายเกรียงศักดิ์
กล่าวถึงมติ คณะรัฐมนตรี
ในการปล่อยลอยตัวราคาน้ำมันดีเซลว่า
ได้เตือนให้รัฐบาลลอยตัวราคาน้ำมันดีเซลมานานแล้ว
เพราะการตรึงราคาน้ำมันดีเซลทำให้คนไทยใช้น้ำมันมากเกินไป
จึงสร้างปัญหาขาดดุลการค้าและขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอยู่ในเวลานี้
และผลจากการอุดหนุนดีเซลยังทำให้ราคาน้ำมันไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง
จึงไม่เกิดแรงกดดันให้ผู้ประกอบการปรับปรุงการผลิต
“ส่วนมาตรการปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล
เพื่อลดผลกระทบจากการลอยตัวราคาน้ำมันดีเซลนั้น
ผมไม่เห็นด้วยหากไม่ทำอย่างอื่นประกอบด้วย
เพราะการลดภาษีจะทำให้การบริโภคน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น
ซึ่งจะหักล้างกับผลของการลอยตัวน้ำมันดีเซล
ทำให้การบริโภคน้ำมันไม่ลดลง
จึงไม่ช่วยแก้ปัญหาขาดดุล
แถมรัฐบาลยังต้องอุดหนุนอยู่อีก
1.76 บาทต่อลิตร ยิ่งไปกว่านั้น
ยังทำให้รัฐสูญเสียรายได้ถึง
14,000 ล้านบาท
โดยที่รัฐบาลไม่บอกว่าจะหาเงินมาชดเชยรายได้ที่สูญเสียไปอย่างไร”
นายเกรียงศักดิ์
ได้เสนอให้รัฐบาลปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล
โดยทำควบคู่กับการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตน้ำมันเบนซิน
เพื่อเป็นการชดเชยรายได้ที่สูญเสียไปจากการลดภาษีน้ำมันดีเซล
และช่วยเหลือด้านต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการ
ลดแรงกดดันต่อเงินเฟ้อ
ลดปัญหาการจราจร
และลดปัญหาการขาดดุลฯ
เพราะจะทำให้นำเข้าเบนซินลดลงด้วย
.................................................. |