Go www.kriengsak.com ประวัติ ครอบครัว งานวิชาการ กิจกรรม Press Contact us ค้นหา


ธปท.ควรกำหนดเงินสดสำรองของธกส.มากกว่า รมต.

 ..................................................

            ส.ส.ปชป.ติงการให้รมว.คลังกำหนดเงินกองทุนและปริมาณเงินสดสำรอง แทนที่จะเป็นธนาคารแห่งประเทศไทย อาจทำให้ ธปท.ไม่สามารถรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจได้อย่างเต็มที่

            จากการประชุมสภาฯ สมัยสามัญทั่วไป ครั้งที่ 14 เมื่อวันพุธที่ 1 มิถุนายน 2548 ได้มีการพิจารณา ร่างพ.ร.บ.ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. … เพื่อปรับปรุงวัตถุประสงค์ของ ธ.ก.ส. แก้ไขสัดส่วนของการถือหุ้นของสถาบันการเงินและบุคคลอื่นใน ธ.ก.ส. และเพิ่มอำนาจ รมว.คลังในการกำกับดูแล ธกส.

            เกี่ยวกับเนื้อหาภายในร่าง พ.ร.บ.นี้ นายเกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ รองประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร กรรมการบริหาร และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ แสดงความคิดเห็นว่า หลักการสำคัญข้อหนึ่งที่ควรมีการถกเถียงกันเชิงความคิดให้ได้คำตอบเสียก่อนที่จะมีการนำ ร่าง พ.ร.บ.นี้ออกมาใช้ ได้แก่ ‘การให้รัฐมนตรีกำหนดเงินกองทุนและปริมาณเงินสดสำรอง ในกรณีที่คิดว่ามีเหตุผลอันสมควร’ เป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่

            “ผมในฐานะนักเศรษฐศาสตร์เห็นว่า การให้รัฐมนตรีกำหนดเงินกองทุนและปริมาณเงินสดสำรอง เป็นเรื่องที่ไม่น่าจะถูกต้องนัก เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงเงินสดสำรองตามกฎหมาย เป็นเครื่องมือที่สำคัญอย่างหนึ่งที่ธนาคารแห่งประเทศไทยใช้ในการกำกับดูแลนโยบายการเงิน เพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเงินของประเทศ การที่อนุญาตให้รัฐมนตรีสามารถกำหนดเงินกองทุนและปริมาณเงินสดสำรองได้นั้น อาจจะทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยไม่สามารถทำหน้าที่ในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจได้อย่างเต็มที่ เพราะ สูญเสียเครื่องมือในการควบคุมปริมาณเงินไป”
            นายเกรียงศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า วิธีการเพิ่มหรือลดอัตราเงินสดสำรองเป็นวิธีที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงปริมาณเงินและเครดิตรุนแรงที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับวิธีการอื่น เช่น การซื้อขายหลักทรัพย์ และการเพิ่มหรือลดอัตราซื้อลด เนื่องจากทำให้ปริมาณเงินเพิ่มขึ้นหรือลดลง รวดเร็ว และปริมาณมากกว่าวิธีอื่น ดังนั้น หากรัฐบาลจะใช้ ธกส.เป็นเครื่องมือในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านการลดเงินกองทุนและปริมาณเงินสดสำรอง อาจทำให้เกิดการขยายตัวของสินเชื่ออย่างมาก และอาจส่งผลให้เกิดการบริโภคมากขึ้น ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจเจริญเติบโตตามที่รัฐบาลได้ตั้งเป้าเอาไว้ แต่วิธีการดังกล่าวอาจมีความเสี่ยงทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อขึ้นได้ เนื่องจากปริมาณเงินที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งยังอาจทำให้ปริมาณหนี้ของประชาชนเพิ่มสูงขึ้น จากมาตรการกระตุ้นการบริโภคของรัฐบาล

            “การให้รัฐบาลที่เน้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ ใช้ดุลยพินิจในการดำเนินนโยบายทางการเงินดังที่กล่าวไปแล้วนี้ อาจสร้างปัญหาให้กับเศรษฐกิจประเทศในอนาคตได้” ส.ส.ปชป.กล่าวในตอนท้าย

 

 ..................................................