Go www.kriengsak.com ประวัติ ครอบครัว งานวิชาการ กิจกรรม Press Contact us ค้นหา


รัฐบาลขาดความจริงใจกับทุกฝ่ายและ
ใช้ครูเป็นเครื่องมือเตะถ่วงกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น
..................................................

 

เกรียงศักดิ์ชี้พฤติกรรมรัฐบาลที่รับปากทุกฝ่ายอย่างขัดแย้งกันในแนวทาง เป็นการเตะถ่วงปัญหาและซื้อเวลาเพียงให้รอดตัวเฉพาะหน้า
ชี้พฤติกรรมของรัฐบาลไม่ได้สะท้อนว่าไม่เห็นความสำคัญของการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น

ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ รองประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนฯ คณะกรรมการบริหาร รองประธานคณะทำงานด้านเศรษฐกิจพรรคฯ และ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การแก้ไข ร่าง พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ที่เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2548 นั้น เป็นการแก้ปัญหาแบบผิวเผิน เป็นการหาทางออกที่ใช้วิธีเลี่ยงประเด็น เพื่อให้ตัวเองพ้นแรงกดดัน

“ประเด็นเรื่องการถ่ายโอนอำนาจการศึกษาให้ท้องถิ่นนั้น เป็นปัญหาของการบริหาร ซึ่งต้องแก้ปัญหาด้วยการทบทวน ปรับเปลี่ยนวิธีการบริหาร ไม่ใช่การแก้หลักการของการกระจายอำนาจ ซึ่งไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาจริง เป็นเพียงการเตะถ่วงปัญหาไปเรื่อย ๆ “

ดร. เกรียงศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า ประเด็นที่ตนยังติดใจ คือ เหตุใดการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ จึงไม่กำหนดเงื่อนไขเวลาที่ชัดเจน เพราะที่ผ่านมาเห็นว่า หากรัฐบาลต้องการพัฒนาเรื่องใด มักกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจน แต่ในประเด็นนี้ซึ่งเกี่ยวข้องกับการศึกษา กลับไม่ได้กำหนดเงื่อนไขเวลาขึ้นมา

“การกำหนดเงื่อนไขของเวลาจะเป็นตัวเร่งให้เกิดการพัฒนาและเตรียมความพร้อม ที่ผ่านมารัฐบาลมักกำหนดเวลาชัดเจนในเรื่องที่ตนให้ความสำคัญ เช่น การเปิดเสรีทางการค้ากับออสเตรเลีย มีการกำหนดระยะเวลา 15 ปีในการใช้มาตรการปกป้องสินค้าเกษตรที่มีความอ่อนไหว อาทิ เนื้อวัว เนื้อหมู เพื่อให้ผู้ส่งออกมีเวลาศึกษา เก็บข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าชนิดนั้นก่อน แต่ในเรื่องการกระจายอำนาจการศึกษา ซึ่งมีความสำคัญ เหตุใดจึงไม่ได้ตั้งเวลา หรือเพราะไม่ได้เห็นความสำคัญในเรื่องนี้ตั้งแต่แรก”

ส.ส. ปชป. กล่าวต่อไปว่า “พฤติกรรมที่ผ่านมาของรัฐบาลชี้ว่า รัฐบาลไม่เห็นความสำคัญของกระจายอำนาจ ทั้งเรื่องการจัดสรรงบประมาณให้ อปท. ที่ไม่ได้สะท้อนความต้องการในการกระจายอำนาจ การไม่มีแนวทางภาคปฎิบัติที่ชัดเจนในส่วนของครู และบุคลากรทางการศึกษา ทำให้ครูไม่สามารถปรับตัวให้สามารถรับหลักการของการกระจายอำนาจได้ รวมถึงรัฐบาลล้มเหลวในเรื่อง การสร้างกระบวนการมีส่วนร่วม เห็นได้จากงานวิจัยของ ก.พ. พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่สามารถมีส่วนร่วมตรวจสอบท้องถิ่น”

“พฤติกรรมเช่นนี้ทำให้เกิดคำถามว่า รัฐบาลมีนัยยะอะไรแอบแฝงในเรื่องดังกล่าว หรือเพราะรัฐบาลต้องการแก้กฎหมายอยู่แล้วใช่หรือไม่ จึงไม่ได้กระตือรือร้นที่จะทำตามเงื่อนไขเวลา แล้วใช้วิธี ‘เกาะกระแส’ ที่ครูออกมาคัดค้าน สร้างความชอบธรรมเพื่อแก้กฎหมาย” ส.ส. ปชป. กล่าวทิ้งท้าย
 

 ..................................................