Go www.kriengsak.com ประวัติ ครอบครัว งานวิชาการ กิจกรรม Press Contact us ค้นหา


รัฐบาลนั่งเทียน
..................................................



เกรียงศักดิ์ ชี้รัฐบาลชอบนั่งเทียนเขียนนโยบาย แต่ทำไม่ได้จริงหรือทำอย่างไม่รอบคอบ สร้างความเสียหายต่องบประมาณ ส่งผลเสียต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน

ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ กรรมการบริหาร และ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรค ปชป. แสดงความเห็นต่อการปรับแผนการลงทุนรถไฟฟ้าใหม่ของรัฐบาล โดยชะลอการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงและยกเลิกสายส้มเป็นรถเมล์ด่วนพิเศษ (BRT) เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าในการลงทุน และประหยัดงบประมาณ เป็นการย้ำลักษณะความฉาบฉวยของรัฐบาลนี้เด่นชัดขึ้น

“รัฐบาลชอบนั่งเทียนกำหนดนโยบาย แต่ไม่มีรายละเอียดภายใต้นโยบาย ไม่มีการศึกษาผลกระทบของนโยบาย และบางโครงการไม่สามารถทำได้จริงในภาคปฏิบัติ แต่มักจะประกาศนโยบายเพื่อสร้างคะแนนนิยมก่อน และพยายามผลักดันนโยบายให้เกิดขึ้นในภาคปฏิบัติอย่างเร่งรีบ เพื่อสร้างเครดิตว่ารัฐบาลคิดเร็วทำเร็ว แต่นโยบายจำนวนมากขาดความรอบคอบ”

“การอ้างเหตุผลว่ารถไฟฟ้าทั้ง 2 เส้นทางไม่คุ้มค่าในการลงทุน เป็นการสะท้อนถึงความไม่รอบคอบในการกำหนดนโยบายของรัฐบาล เพราะโครงการโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งควรมีผลตอบแทนการลงทุนหรือ IRR ต่ำสุดที่ยอมรับได้คือ 12% ตามที่ธนาคารโลกระบุ แต่รัฐบาลยังพยายามผลักดันรถไฟสายสีส้มและสีม่วง ทั้ง ๆ ที่มีผลการศึกษามาก่อนแล้วว่าไม่คุ้มค่าในการลงทุน เพราะมี IRR เพียง 9.3% และ11.19%”
“จากที่ผมได้ศึกษามาพบว่า โครงการรถไฟฟ้าเป็นหนึ่งในโครงการเมกะโปรเจคต์ที่มีการศึกษาชัดเจนที่สุดแล้ว แต่ยังพบปัญหาในการลงทุน แล้วโครงการเมกะโปรเจคต์อื่น ๆ ที่เหลือ ซึ่งการศึกษาโครงการยังไม่ชัดเจน กล่าวคือ ยังไม่มีการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ และความคุ้มค่าของการลงทุน อาจจะยิ่งมีปัญหามากกว่านี้ ดังนั้นคำยืนยันต่าง ๆ ของรัฐบาลเกี่ยวกับโครงการเมกะโปรเจคต์ เช่น จะหามาเงินลงทุนได้โดยไม่กระทบต่อฐานะการคลัง จะไม่สร้างปัญหาต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจ จะมีผลตอบแทนที่คุ้มค่า ล้วนเป็นคำยืนยันที่ยังไม่มีความแน่นอน และมีความเสี่ยงว่าจะไม่เป็นความจริง”

“การที่รัฐบาลจะนำรถเมล์ด่วนบีอาร์ทีมาให้บริการแทนในเส้นทางรถไฟฟ้าที่ยกเลิกไปนั้น ยังแสดงถึง การขาดการพิจารณาเปรียบเทียบทางเลือกต่าง ๆ ก่อนที่จะกำหนดเป็นนโยบายก่อสร้างรถไฟฟ้า 7 สี และสะท้อนถึงการใช้จ่ายของรัฐบาลในทางเลือกที่ฟุ่มเฟือย เกินความจำเป็น ไม่ช่วยประหยัดงบประมาณ”

“เมกะโปรเจกต์หลายโครงการยังทำอย่างรีบเร่งทำให้สูญเสียงบประมาณโดยใช่เหตุ เช่น โครงการแหลมผักเบี้ย รัฐบาลตั้งงบปี 48 ศึกษาผลกระทบของโครงการพร้อมกับการเขียนแบบ ซึ่งไม่มีใครเขาทำกัน เพราะต้องศึกษาผลกระทบให้ผ่านเสียก่อน แล้วจึงเขียนแบบโครงการ ทำให้เสียค่าโง่ในการออกแบบไป 400 ล้านบาท เพราะโครงการส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากไม่สามารถสร้างได้ ในทำนองคล้ายคลึงกัน โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง รัฐบาลรู้อยู่แล้วว่าไม่คุ้มค่าในการลงทุน แต่กลับยืนยันจะสร้างต่อ ทำให้ รฟม.ต้องสูญเงินในการศึกษาออกแบบไปกว่า 300 ล้านบาท แม้ว่าแบบดังกล่าวจะสามารถใช้ได้ในอนาคต แต่ประชาชนต้องเสียโอกาสในการใช้เงินก้อนนี้”

“พฤติกรรมของรัฐบาลเช่นนี้ปรากฏในการกำหนดนโยบายอื่น ๆ ของรัฐบาลด้วย หลายนโยบายที่ประกาศออกมาอย่างเร่งรีบ โดยไม่ศึกษาให้รอบคอบ ทำให้ปฏิบัติไม่ได้ตามที่พูด อาทิ โครงการโคล้านตัวที่คิดฝันว่าจะแจกโค แต่พอถึงเวลาทำจริงกลับทำไม่ได้ ต้องแจกเป็นน้ำเชื้อแทน โครงการหมู่บ้าน 3 สีที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์จนนโยบายนี้ต้องตกไป โครงการเมืองใหม่นครนายกที่ประกาศอย่างสวยหรูแต่ไม่มีการดำเนินการ เพราะในความเป็นจริงคือรัฐบาลไม่มีเงิน“

“พฤติกรรมดังกล่าวของรัฐบาล ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนในและต่างประเทศ เพราะนโยบายของรัฐมีส่วนกำหนดทิศทางการลงทุนของภาคเอกชน หากนโยบายของรัฐบาลมีความไม่แน่นอนสูง แทนที่จะช่วยกระตุ้นการลงทุน กลับกลายเป็นหยุดชะงักการลงทุน ตัวอย่างกรณีการเปลี่ยนแปลงสายสีม่วง สีส้ม ทำให้นักลงทุนที่จะลงทุนคู่ขนานไปกับโครงการต้องหยุดทบทวนแผนการลงทุน โดยเฉพาะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศ ฉะนั้นก่อนประกาศนโยบาย รัฐบาลควรคิดอย่างรอบคอบเสียก่อน ไม่ใช่คิดอยากจะพูดอะไรก็พูดออกมา ไม่มีการศึกษาอย่างดีก่อน” ดร.เกรียงศักดิ์ กล่าวสรุป
 

 ..................................................