กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
: การทำความดีแม้เป็นเรื่องไม่ยากหากคิดที่จะทำ
แต่การทำความชั่วกลับเป็นเรื่องง่ายๆ ทั้งที่ไม่คิดที่จะทำมาก่อน
การทำความดีแม้จะทำมากมายสักเพียงใด กลับไม่ค่อยมีใครสนใจใคร่รู้
แต่การทำความชั่วเพียงครั้งเดียว
(ทั้งที่ใช้ความพยายามปกปิดอย่างเต็มที่แล้ว)
มักจะไม่รอดจากสายตาของคนที่อยากรู้อยากเห็น
จนกลายเป็นเรื่องราวที่คนทั่วไปชอบที่จะหยิบยกขึ้นมาพูดคุย
ซุบซิบนินทากัน รวมถึงการออกมาประณาม
หากเป็นเรื่องการทำความชั่วที่ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรง
หากการทำความชั่วเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นกับบุคคลทั่วไป
เรื่องราวจะถูกนำมาพูดคุยในแวดวงคนที่รู้จักบุคคลนั้นๆ
แต่ถ้าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นกับบุคคลสาธารณะแล้ว เรื่องราวนั้นๆ
มักจะได้รับความสนใจมากขึ้นตามชื่อเสียงบุคคลนั้นๆ ที่เป็นที่รู้จัก
ดังที่เรามักเรียกกันว่า "TALK OF THE TOWN"
การทำความดีจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องอาศัยความอดทนเป็นอย่างมาก
เพราะการทำความดีตลอดชีวิตของบุคคลอาจไม่มีใครทราบเลยก็ได้
ในทางตรงกันข้ามอาจเข้าใจผิดว่าการทำความดีนั้นๆ
เป็นการทำความชั่วก็เป็นได้
การทำความดีอาจจะปรากฏผลกลับมาให้เห็นหลังจากบุคคลนั้นๆ
ถึงแก่กรรมไปแล้วก็ได้ แต่ความดีไม่สูญหายไปไหน
พระพุทธองค์จึงให้กำลังใจกับคนทำความดีโดยที่ไม่มีใครรู้ไว้ว่า
"ปิดทองหลังพระ" ซึ่งผลจากความดีที่ทำไว้จะไม่สูญหายไปไหน
สักวันความดีที่ทำไว้จะปรากฏออกมาให้เห็นในไม่ช้าไม่นาน
ที่กล่าวมานี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นโดยทั่วไปของการทำความดี
ความดีเป็นสิ่งที่ตอบได้ยากในบางครั้ง
เนื่องจากคุณค่าของสิ่งที่เรียกว่า "ความดี"
ของแต่ละบุคคลหรือสังคมอาจมีไม่เหมือนกันขึ้นอยู่กับปัจจัยแวดล้อมต่างๆ
ดังนั้น การทำความดีจำเป็นต้องได้รับกำลังใจ
เพื่อเป็นการสนับสนุนให้การทำความดีนั้นๆ คงอยู่ต่อไป
หรือได้รับการพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นไปอีก เพื่อให้ความดีนั้นๆ ส่งผลกระทบ
(IMPACT) ไปยังส่วนอื่นๆ ของสังคม
จะเห็นว่าความดีจะได้รับการยกย่องและถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นแบบอย่างให้กับสังคม
จำเป็นต้องอาศัยเงื่อนไขทางสังคมต่างๆ กล่าวคือ
ต้องอาศัยบุคคลหรือองค์กรที่สังคมให้ความไว้วางใจเป็นผู้นำในการสนับสนุน
หรือรับรองการทำความดีนั้นๆ
ดังที่กล่าวมาแล้วว่าการทำความดีมักไม่ปรากฏผลออกมาอย่างชัดเจน
ตัวอย่างเช่น
การรณรงค์ให้คนออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งโดยพิจารณาเลือกจากคุณงามความดีของบุคคลนั้นๆ
ที่ทำไว้ให้กับสังคม
หากบุคคลดังกล่าวจะได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนไปทำหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมาย
แต่
ความดีที่มีอยู่ในตัวบุคคลไม่ได้เป็นข้อรับรองว่าบุคคลที่เลือกเข้าไป
จะสามารถนำสิ่งที่เป็นความต้องการของประชาชนที่มีส่วนเลือกบุคคลนั้นเข้าไปทำหน้าที่กลับมายังพื้นที่ของตนเองได้
แตกต่างจากการรับอามิสสินจ้าง
เพื่อให้เลือกบุคคลตามที่ผู้ให้ต้องการ
เงินทองสิ่งของที่ได้รับไม่ว่าจะมากหรือน้อยก็ตามจะตกเป็นของคนที่รับอย่างแน่นอน
ยิ่งกว่านั้นคนที่ชาวบ้านเลือกเข้าไปหากมีอิทธิพลก็สามารถต่อรองเพื่อนำสาธารณูปโภค
สาธารณูปการ ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ กลับมายังพื้นที่ของตน
(แม้ว่าโครงการ/กิจกรรมนั้นๆ จะมีประโยชน์ไม่มากนักก็ตาม)
สังคมจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมี "รูปธรรมของความดี"
เพื่อให้บุคคลได้เรียนรู้จนเกิดความต้องการทำความดี
โดยประยุกต์นำไปใช้ให้เหมาะสมกับการดำรงชีวิตของตนเองในชุมชน นอกจากนี้
การทำความดียังต้องแข่งขันเพื่อเอาชนะกับการทำความชั่วด้วยอีกทางหนึ่ง
ดังนั้น การทำความดีต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์เป็นอย่างมาก
เพื่อใช้ต่อสู้กับการทำความชั่ว
กรณีการส่งเสริมให้ชาวบ้านทำบัญชีรายรับรายจ่ายเป็นตัวอย่างที่ส่งผลต่อการทำความดีด้วยการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้จ่ายของชาวบ้าน
เพราะได้เรียนรู้ข้อดีของการประหยัดค่าใช้จ่าย
ทำให้มีการใช้จ่ายในเรื่องที่เหมาะสม
หรือกรณีการส่งเสริมให้ลดละเลิกจากอบายมุขต่างๆ
ซึ่งหากทำได้แล้วจะเป็นการทำความดีที่ส่งผลต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ผู้ปฏิบัติสามารถรับรู้ได้ถึงผลที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน
ความคิดของ ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
ที่กล่าวไว้ในการเสวนาประชาชนของสถาบันสหสวรรษ ที่กล่าวถึง
"กองทุนเวลา" เป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับสนับสนุนการทำความดี
โดยมีแนวความคิดในเรื่องนี้ว่า
ขอให้ประชาชนที่มีความพร้อมร่วมกันเสียสละเวลาคนละสามชั่วโมงต่อเดือน
เพื่อทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์ที่เป็นการช่วยเหลือสังคม
ตามความถนัดของแต่ละบุคคล เป็นเรื่องที่ทำได้โดยไม่ยากเย็นนัก
ทั้งนี้
โดยอาศัยบทบาทของผู้นำทางสังคมทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ
สร้างความร่วมมือร่วมใจเพื่อให้ปรากฏรูปธรรมของการทำความดีจากการดำเนินกิจกรรมนั้นๆ
ออกมา อาจเริ่มต้นจากจุดหนึ่งๆ แล้วจึงค่อยๆ
ขยายเครือข่ายของการทำความดีดังกล่าวไปยังกลุ่มหรือชุมชนอื่นๆ ต่อไป
จนกระทั่งสังคมมีการทำความดีที่เพิ่มมากขึ้นตามลำดับ
สถาบันการศึกษาในฐานะองค์กรที่มีหน้าที่ให้การศึกษา
ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม และบริการสังคม สามารถอาศัยองค์ประกอบต่างๆ
ที่มีอยู่ภายในสถาบัน รวมทั้งการยอมรับที่สังคมมีต่อสถาบันการศึกษา
เป็นผู้นำในการสร้างรูปธรรมของการทำความดีได้
ด้วยการส่งเสริมให้มีโครงการ/กิจกรรมต่างๆ เพื่อสนับสนุนการทำความดี
โดยเริ่มจากภายในสถาบันการศึกษา แล้วจึงขยายไปสู่องค์กรอื่นๆ ต่อไป
สำหรับองค์กรอื่นๆ
การยึดมั่นในจรรยาบรรณของวิชาชีพของบุคลากรในองค์กร
การแบ่งผลกำไรบางส่วนจากการประกอบการมาช่วยเหลือสังคมอย่างจริงใจ
ด้วยการทำประโยชน์ในด้านต่างๆ ให้กับสาธารณะ
ตลอดจนการบริหารจัดการโดยยึดมั่นในความรับผิดชอบที่มีต่อสังคม
(COOPERATIVE SOCIAL RESPONSIBILITY : CSR)
ก็แสดงออกถึงการทำความดีขององค์กรนั้นๆ ได้เช่นเดียวกัน ทั้งนี้
หากองค์กรนั้นๆ จะมีมาตรการใดๆ
ที่จะสามารถนำความดีที่เกิดขึ้นเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ทั้งในระดับองค์กรและออกสู่ภายนอกได้
ก็จะเป็นการสนับสนุนส่งเสริมการทำความดีได้อีกทางหนึ่ง
ถึงเวลาแล้วที่คนทำความดีจะต้องได้การเชิดชู
เพื่อเป็นแม่แบบให้กับบุคคลอื่นๆ ต้องการเอาเยี่ยงอย่างบ้าง
แม้จะไม่ได้มุ่งหวังให้คนแข่งขันกันทำความดีเพื่ออามิสสินจ้างหรือได้รับการยกย่องเชิดชู
แต่การแสดงออกซึ่งความมีน้ำใจให้กับคนที่ทำความดีก็เป็นเรื่องที่สมควรทำเพื่อประโยชน์สุขที่เกิดขึ้นกับสังคมโดยรวมต่อไป