จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 2130   13 ก.ค.  - 15 ก.ค. 2549
 


พนันบอล "ประตู"เสียหาย ต้องปิดด้วย "ความคิด"
 

"พนันบอล..ต้องแก้ที่ความคิด"

ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศักดิ์

ส่งท้ายกันด้วยกระแส "ฟุตบอลโลก" หนึ่งเดือนเต็ม ตั้งแต่ 9 มิถุนายนถึง9 กรกฎาคมนี้ ที่หลายบริษัท หลายองค์กร และร้านค้า คงพอจะประเมินรายได้ ความสำเร็จ ผลประโยชน์อันเนื่องมาจากกระแสฮิตความฟีเวอร์ของฟุตบอลโลก โดยเชื่อว่ามีผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อยมีรายได้เป็นกอบเป็นกำ จากการจำหน่ายสินค้าและบริการในครั้งนี้ รวมถึงธุรกิจใต้ดินอย่าง "พนันบอล" ที่คาดว่าจะมีเงินสะพัดในธุรกิจนี้ตลอดการแข่งขัน ทั้ง 64 แมตช์ เป็นจำนวนหลายหมื่นล้านบาท!!!

ปัญหาการเล่น "พนันบอล" นั้นมีการพูดถึงกันมาอย่างต่อเนื่อง และเคยถูกหยิบยกขึ้นถกในเวทีระดับชาติ ในการปราบปรามผู้มีอิทธิพล แต่ในความเป็นจริงทุกเทศกาลที่มีการแข่งขันฟุตบอลรายการสำคัญ กับพบว่ามีสถิติการเล่นพนันฟุตบอลสูงขึ้น และมีแนวโน้มระบาดมากขึ้นในหมู่เด็กและเยาวชนที่อยู่ในวัยเรียน ซึ่งการแก้ปัญหาพนันบอลนั้น เห็นด้วยกับแนวคิดของ ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ เป็นอย่างยิ่งตามแนวทางที่จั่วหัวไว้ด้านบน

ข้อมูลจากเวทีเสวนาของสำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส คนพิการ และผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พบว่า ในช่วงฤดูกาลแข่งขันฟุตบอล เยาวชนจำนวนหนึ่งไม่มีเงินจ่ายค่าหอพัก เพราะนำเงินไปเล่นพนันจนหมด เยาวชนเหล่านี้มีวิธีแก้ปัญหาการขาดแคลนเงินด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น ขอเงินพ่อแม่ บางรายขโมยเงินจากคนข้างห้อง ส่วนผู้หญิงจะเอาตัวเข้าแลก !!!

สอดคล้องกับผลสำรวจของเอเบคโพล ม.อัสสัมชัญ ที่พบว่า ช่วงฟุตบอลโลกจะมีนักศึกษาเข้าสู่วงจรการพนันถึง 823,164 คน... และในจำนวนนี้อาจนำไปสู่ปัญหาหนี้สิน อาชญากรรม การจี้ปล้น ผลการสำรวจข้างต้นได้สะท้อนสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง ของเด็กและเยาวชนในสังคมไทย...แม้ที่ผ่านมาหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อป้องกันและแก้ปัญหานี้

อาทิ กระทรวงศึกษาธิการได้มีมาตรการป้องกันการเล่นพนันทายผลฟุตบอลของนักเรียน โดยให้ผู้ปกครองกวดขันการใช้เงินของเด็ก ให้สถานศึกษาและผู้ปกครองดูแลการใช้อินเทอร์เน็ตของเด็ก และให้ผู้บริหารสถานศึกษา ครู และบุคลากรทางการศึกษาเป็นแบบอย่างแก่ผู้เรียน เป็นต้น...แต่มาตรการดังกล่าวถึงแม้จะส่อนัยถึงการเห็นความสำคัญ ก็ยังเป็นมาตรการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ

ซึ่งหาก "รากความคิด" ของเด็กและเยาวชนไม่ถูกเปลี่ยน ปัญหาจะไม่ถูกแก้ไข และเกิดซ้ำอีก ดังนั้นการแก้ไขปัญหาควรให้ความสำคัญที่การพัฒนารากฐานวิธีคิด เพื่อแก้ไขและป้องกันเด็กและเยาวชน โดยไม่ต้องรอให้ถึงเทศกาลหรือพบปัญหาแล้วจึงหาทางออก สอนเด็กให้รู้ยับยั้งชั่งใจ สอนให้เด็กมีความอดทนอดกลั้นต่อสิ่งที่มาเร่งเร้า เหล่านี้ต่างหากที่จะเป็นหนทางการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน !!!

ขณะที่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าจะสำเร็จได้นั้น ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายในสังคม คอยเป็นหูเป็นตา สอดส่องดูแลเด็กและเยาวชนไม่ให้ตกเป็นทาสของการพนัน เพราะในความเป็นจริงนั้น โต๊ะบอล และช่องทางที่แทงพนันกันนั้น มีมากมายเหลือเกิน ทั้งในโรงเรียน บริษัท ที่ทำงาน ร้านอาหารกลางคืน ร้านอินเตอร์เน็ต หรือแม้กระทั่งร้านตัดผมผู้ชาย ที่ปัจจุบันกลายเป็นแหล่งมั่วสุมคอพนันไปแล้ว

และถึงเวลาแล้วที่ผู้ประกอบการ ควรจะหันกลับมามองและให้อะไรตอบแทนกับสังคมกันบ้าง โปรโมชั่น หรือ แคมเปญ ที่ยั่วยุ กระตุ้นให้นำมาซึ่งการเล่นพนันนั้น ควรยุติเสียที รวมถึงการเปิดพื้นที่ร้าน ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ ปล่อยให้มีการเล่นพนัน เพียงเพราะหวังรายได้จากคนกลุ่มนี้ก็ควรจะหยุดได้แล้ว "ฟุตบอลโลก"ครั้งนี้อาจไม่มีลูกหลานของท่านหลงเข้าไปเกี่ยวการพนัน แต่ฟุตบอลลีกที่กำลังจะเปิดฤดูกาล และ ฟุตบอล "ชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป"อีก 2 ปีข้างหน้า ใครจะไปรู้!!!