เวทีทัศนะ : เศรษฐีเมืองนอกใจบุญมากกว่าเศรษฐีไทยหรือไม่?
โดย ผู้จัดการรายสัปดาห์ 13 กรกฎาคม 2549 15:02 น.
              เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
       
       จากข่าวการประกาศของวอร์เรน บัฟเฟตต์ อภิมหาเศรษฐีอันดับสองของโลกวัย 75 ปี ที่มีแผนจะบริจาคเงินร้อยละ 85 จากที่มีอยู่ทั้งหมด 44,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐให้แก่องค์กรการกุศล ซึ่งเงินบริจาคส่วนใหญ่จะตกไปเป็นของมูลนิธิบิลและเมลินดา เกตส์ (Bill & Melinda Gates Foundation) มหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของโลก ที่เป็นเพื่อนสนิทของบัฟเฟตต์ เพื่อใช้ในการสนับสนุนการค้นคว้าทางการแพทย์และการให้ทุนการศึกษา
       
       ข่าวดังกล่าวไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่แต่อย่างใด เพราะเราคงจะเคยได้ยินอยู่เสมอว่ามหาเศรษฐีหลายคนในต่างประเทศที่บริจาคเงินเป็นจำนวนมากแก่องค์กรการกุศล แต่เมื่อหันมาเปรียบเทียบกับเศรษฐีของเมืองไทย เราอาจจะเกิดคำถามขึ้นว่า "เศรษฐีเมืองนอกใจบุญกว่าเศรษฐีไทยหรือ?"
       
       ประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ที่ความใจบุญของมหาเศรษฐีต่างประเทศ หรือความรวยเหลือเฟือจนสามารถบริจาคได้เป็นจำนวนมากโดยไม่นึกเสียดาย แต่เป็นเพราะมาตรการทางภาษีที่เป็นกลไกในการบังคับและจูงใจให้เศรษฐีในประเทศสหรัฐอเมริกาจำเป็นต้องบริจาคเงินแก่องค์กรการกุศล
       
       มาตรการทางภาษีที่กล่าวถึงในที่นี้คือ "ภาษีมรดก" ซึ่งภาษีมรดกในสหรัฐอเมริกาเป็นภาษีกองมรดก (estate tax) และภาษีการรับมรดก (inheritance tax) ที่มีการจัดเก็บทั้งในระดับรัฐบาลกลางและรัฐบาลของแต่ละมลรัฐ
       
       ภาษีมรดกในระดับรัฐบาลกลางของสหรัฐนั้นเป็นภาษีกองมรดก ที่จัดเก็บจากการโอนทรัพย์สินที่เก็บภาษีได้ (taxable estate) จากผู้ตายซึ่งเป็นพลเมืองหรือผู้ที่อยู่อาศัยในสหรัฐอเมริกาไปยังทายาทผู้รับมรดก โดยอัตราการจัดเก็บภาษีนั้นจะคำนวณจากผลประโยชน์ของทรัพย์สิน ณ เวลาที่เจ้าของทรัพย์สินเสียชีวิตลง ทั้งนี้ในปี 2549 กองมรดกที่ต้องเสียภาษีจะต้องมีมูลค่าสูงกว่า 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีอัตราการจัดเก็บภาษีสูงสุดที่ร้อยละ 46 ของมูลค่าผลประโยชน์ของทรัพย์สินทั้งหมด ณ เวลาที่เสียชีวิตลง
       
       ภาษีมรดกในระดับมลรัฐของสหรัฐนั้นเป็นภาษีกองมรดกและ/หรือภาษีการรับมรดก โดยบางรัฐใช้มาตรการภาษีกองมรดกเช่นเดียวกับรัฐบาลกลาง กล่าวคือหากรัฐบาลกลางมีเงื่อนไขในการยกเว้นภาษีอย่างไร รัฐบาลท้องถิ่นจะใช้เงื่อนไขดังกล่าวด้วย ขณะที่บางรัฐใช้กฎหมายภาษีกองมรดกที่เป็นอิสระจากรัฐบาลกลาง ส่วนภาษีการรับมรดกเป็นการอุดช่องว่างการหลบเลี่ยงภาษีกองมรดกโดยจัดเก็บจากผู้รับมรดก
       
       อย่างไรก็ตาม ทรัพย์สินบางประเภทจะได้รับข้อยกเว้นโดยไม่ถูกนำมาคำนวณอัตราภาษี ได้แก่ ค่าใช้จ่ายในการจัดงานศพ ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการต่าง ๆ สิทธิเรียกร้องจากทรัพย์สิน สินสมรสที่ถือครองโดยคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ และประการสำคัญคือทรัพย์สินที่บริจาคให้มูลนิธิเพื่อการกุศล
       
       ข้อยกเว้นดังกล่าวนับเป็นเงื่อนไขที่จูงใจแกมบังคับให้มหาเศรษฐีในสหรัฐอเมริกาจำเป็นต้องบริจาคเงินจำนวนมากให้กับมูลนิธิต่าง ๆ เนื่องจากมหาเศรษฐีเหล่านี้ไม่ต้องการที่จะเสียทรัพย์สินจำนวนมาก (เกือบครึ่งหนึ่งของทรัพย์สินทั้งหมด) ที่ตนหามาได้จากการทำงานมาตลอดชีวิตในรูปของภาษีทั้งหมด
       
       เหตุผลส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเศรษฐีเหล่านี้ได้จ่ายภาษีในอัตราสูงมาตลอดชีวิตอยู่แล้ว และอาจคิดว่าไม่สามารถควบคุมได้ว่ารัฐบาลจะนำเงินภาษีไปทำอะไรและเป็นการใช้เงินที่มีประสิทธิภาพหรือไม่ แต่หากนำเงินไปบริจาคให้แก่มูลนิธิที่ตนเองเห็นว่าทำประโยชน์จริง ๆ น่าจะเป็นการใช้เงินจ่ายที่ตรงความต้องการมากกว่า
       
       แต่เหตุผลที่สำคัญมากกว่าคือ เงินบริจาคส่วนใหญ่มักจะมอบให้แก่องค์กรการกุศลที่ผู้บริจาคสามารถควบคุมได้ หรือเป็นมูลนิธิที่ทำกิจกรรมการกุศลที่สร้างภาพลักษณ์ให้แก่องค์กรธุรกิจที่ผู้บริจาคเป็นเจ้าของหรือหุ้นส่วน เงินบริจาคดังกล่าวจึงเป็นเสมือนเงินลงทุนในการประชาสัมพันธ์องค์กรธุรกิจ ซึ่งผู้บริจาคจะได้ประโยชน์มากกว่านำไปเสียภาษีมรดก
       
       โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในยุคที่สังคมเรียกร้องให้องค์กรธุรกิจจำเป็นต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility: CSR) งบประมาณสำหรับการทำกิจกรรมเพื่อสังคมจึงเป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็นสำหรับองค์กรธุรกิจสมัยใหม่ ภาษีมรดกจึงเป็นมาตรการที่บังคับทางอ้อมให้องค์กรธุรกิจจัดสรรงบประมาณเพื่อช่วยเหลือสังคมมากขึ้นด้วย
       
       แม้ว่าผู้ที่คัดค้านภาษีมรดกมักจะอ้างว่า ภาษีมรดกจะไม่ได้ทำให้รัฐบาลมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นอย่างเป็นกอบเป็นกำ แต่ภาษีมรดกที่จัดเก็บในอัตราที่เหมาะสมและมีเงื่อนไขการจัดเก็บที่เหมาะสม อาจจะช่วยให้เกิดสถานการณ์ที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ (win-win situation) กล่าวคือรัฐบาลได้ภาษีเพิ่มขึ้นบ้าง สังคมได้รับการช่วยเหลือ และธุรกิจได้ประโยชน์จากการสร้างภาพลักษณ์ขององค์กร
       
       มหาเศรษฐีเมืองนอกจึงไม่ได้ใจบุญมากกว่ามหาเศรษฐีเมืองไทย เพียงแต่โครงสร้างภาษีในต่างประเทศจูงใจให้เศรษฐีฝรั่งต้องบริจาคเงิน ขณะที่โครงสร้างภาษีในประเทศไทยยังขาดความเป็นธรรม ทำให้เศรษฐีเมืองไทยส่วนใหญ่ดูเหมือนตระหนี่ถี่เหนียว