หน้าแรกผู้จัดการ Online | หน้าแรกการเมือง | ข่าวการเมือง
ปชป.จวก “แม้ว” หยามสภาอ้างไร้ผู้เชี่ยวชาญเข้าใจเอฟทีเอ
โดย ผู้จัดการออนไลน์
12 มกราคม 2549 13:03 น.
นายเกรียงศักดิ์ เจริญวงศักดิ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์
ประชาธิปัตย์ จวก “
แม้ว
” ดูถูก ส.ส.-ส.ว.ปัดเรื่องเอฟทีเอเข้าสภาเพราะไร้ผู้เชี่ยวชาญ ชี้จงใจปกปิดการมีส่วนร่วมของประชาชน แนะออกร่าง พ.ร.บ.เปิดการค้าเสรีป้องกันผลประโยชน์ตกอยู่กับคนบางกลุ่ม ด้าน “
องอาจ
” เหน็บวาดฝันสวยหรูเศรษฐกิจปี 49 โต อัดพูดซ้ำซากไม่ยุบ-ไม่ออก
วันนี้ (12 ม.ค.) ที่รัฐสภา นายเกรียงศักดิ์ เจริญวงศักดิ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ออกมาระบุว่าการที่ไม่นำเรื่องการทำเขตการค้าเสรี หรือเอฟทีเอ เข้ามาพิจารณาในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา เพราะไม่ใครเชี่ยวชาญในเรื่องนี้ว่า การที่นายกฯ กล่าวออกมาเช่นนี้เป็นการดูถูกความสามารถของ ส.ส. และส.ว.อย่างมาก ซึ่งในความเป็นจริงสมาชิกรัฐสภามากกว่าครึ่งก็เป็นของพรรคไทยรักไทยด้วยซ้ำ
นายเกรียงศักดิ์ กล่าวต่อว่า ในเรื่องนี้ตนเองได้ทำการค้นข้อมูลและประวัติการศึกษา รวมถึงประสบการณ์ในการทำงานของ ส.ส. และส.ว.พบว่า ส.ส.และส.ว.ชุดนี้มีบุคคลที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก ถึง 53 คน คิดเป็นร้อยละ 7.6 ปริญญาโท 337 หรือร้อยละ 48.14 โดยตัวเลขที่ตนกล่าวมานั้นเป็นการแสดงให้เห็นว่าสมาชิกรัฐสภาของเรามีความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการบริหารนโยบายสาธารณะที่ประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ บริหารธุรกิจ การต่างประเทศ ร้อยละ 54 ส่วนในด้านกฎหมายมีถึงร้อยละ 4 ด้านครูและพัฒนาชุมชน มีถึงร้อยละ12 และด้านวิทยาศาสตร์ สาธารณสุข สิ่งแวดล้อม ร้อยละ 9 นอกจากนี้ยังพบข้อมูลอีกว่า สมาชิกรัฐสภาของประเทศไทยยังมีผู้ที่มีประสบการณ์การทำงานในสาขาอาชีพต่างๆ อย่างครอบคลุม เช่น เกษตรกร ครู ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ พนักงานรัฐวิสาหกิจ นักธุรกิจ นักบริหาร สื่อมวลชน เป็นต้น ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นว่าสมาชิกรัฐสภามีความรู้ครอบคลุมทั้งสิ้นไม่ใช่ตามที่นายกฯ กล่าว
“อย่าลืมว่า ส.ส. และส.ว.คือผู้แทนประชาชนทั้งประเทศ ดังนั้น การที่นายกฯ กล่าวเช่นนี้ถือเป็นการดูถูกความรู้ความสามารถของ ส.ส. และส.ว.อย่างมาก ซึ่งถือเป็นพฤติกรรมที่รับไม่ได้ ประกอบกับคำพูดของนายกฯ ก็ไม่มีข้อพิสูจน์ แต่เป็นการพูดเปรยๆ เท่านั้น ไม่มีข้อเท็จจริง ทั้งในส่วนหลักการและเหตุผล และทั้งนี้ต้องยอมรับคณะที่เจรจานั้นมีเพียงจำกัดเฉพาะในส่วนราชการ ซึ่งทางที่ดีรัฐบาลควรที่จะนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา เนื่องจากข้อมูลที่ตนไปทำการหามานั้นเป็นเครื่องพิสูจน์แล้วว่า ส.ส.และ ส.ว.มีความรู้ครอบคลุมรอบด้าน” นายเกรียงศักดิ์ กล่าว
ส.ส.ประชาธิปัตย์ กล่าวต่อว่า รัฐสภาเป็นกลไกที่มีความเหมาะสมในการที่รัฐบาลจะทำความเข้าใจกับประชาชน ซึ่งการนำเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาจะเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน แต่การที่นายกฯปฏิเสธที่จะนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาก็เท่ากับว่าเป็นจงใจปิดกั้นการรับรู้และการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งที่ผ่านมาตนและพรรคประชาธิปัตย์ได้เคยแสดงความคิดเห็นไว้ว่าการทำเอฟทีเอนั้นคนไทยจะไม่ได้รับประโยชน์ แต่ผลประโยชน์จะตกอยู่กับคนเพียงบางกลุ่มเท่านั้น ดังนั้นจึงอยากให้มีการเสนอร่าง พ.ร.บ.กระบวนการพิจารณาการเปิดการค้าเสรี ที่มีการกำหนดขั้นตอนการพิจารณาในการทำเอฟทีเออย่างรอบคอบและครบถ้วน รวมทั้งต้องมีการศึกษาและทำวิจัยถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และที่สำคัญจะต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น นอกจากนี้จะต้องมีกระบวนการในการจัดทำกระบวนการชดเชยผู้ได้รับผลกระทบด้วย
“โดยในเรื่องการทำร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ทางพรรคประชาธิปัตย์คงไม่สามารถทำได้เพียงลำพังถ้าขาดการสนับสนุนจากประชาชน เพราะถ้าพรรคเสนอร่าง พ.ร.บ.นี้ไปคงจะไม่สามารถเข้าสู่การพิจารณาได้ เพราะเสียงข้างมากในสภาตอนนี้เป็นของรัฐบาล ซึ่งถ้าขาดเสียงสวรรค์แล้วคงไม่สามารถผลักดันได้ โดยประชาชนสามารถสนับสนุนพรรคได้หลายทาง เช่น การรวบรวมรายชื่อประชาชน 5 หมื่นรายชื่อ เพื่อเสนอกฎหมายฉบับนี้ หรือการรวมตัวของประชาชนเพื่อไปเรียกร้องกับ ส.ส.และส.ว.ในแต่ละพื้นที่เพื่อผลักดันเรื่องดังกล่าว เป็นต้น” นายเกรียงศักดิ์ กล่าว
นายเกรียงศักดิ์ กล่าวต่อว่า ส่วนนายแพทย์วัลลภ ไทยเหนือ อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข และ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เสนอให้กรมทรัพย์สินทางปัญญา และองค์การอาหารและยา ตั้งคณะอนุกรรมาธิการขึ้นมาศึกษาพิจารณาในการทำข้อตกลงเอฟทีเอกับสหรัฐฯ กรณีสิทธิบัตรยา เพื่อให้เกิดความรอบคอบเพราะไทยเสียเปรียบอยู่มาก ซึ่งหากรัฐบาลยินยอมตามข้อตกลงของสหรัฐฯ ประชาชนจะได้รับผลกระทบจากราคายาที่แพงขึ้น เนื่องจากประทศไทยยังไม่สามารถที่จะผลิตยาหลายชนิดได้เอง เช่น ยาสำหรับติดเชื้อเอชไอวี ดังนั้นจึงขอเวลาในการเตรียมความพร้อมจึงค่อยเจรจาในประเด็นนี้
ด้าน นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ประกาศความมั่นคงในภาพรวมเศรษฐกิจไทย ปี 2549 ต่อนักธุรกิจและนักลงทุนว่า เราอยากเห็นเนื้อหารายละเอียดในทางปฏิบัติมากกว่า เพราะที่ผ่านมานายกฯ ก็วาดภาพไว้สวยหรู แต่เมื่อลงไปดูในทางปฏิบัติก็ไม่เป็นไปตามภาพที่วาด หรือแม้แต่นโยบายก็เปลี่ยนไปจากที่เคยลั่นวาจา เช่น เรื่องรถไฟฟ้าใน กทม. ดังนั้น นายกฯ ต้องทำให้นักลงทุนและคนไทยเห็นว่าภาพที่วาดนั้นจะเป็นจริงหรือลวงกันแน่ นอกจากนี้ นายกฯ ยังย้ำว่าจะไม่ยุบสภา จึงเกิดคำถามในนักธุรกิจว่าในยุคทักษิณ 2 นายกฯ พูดว่าจะไม่ยุบสภา ไม่ลาออกหลายครั้งจนนับไม่ถ้วนเมื่อเทียบกับสมัยที่เป็นรัฐบาลครั้งแรกแทบจะไม่พูดเลย
“การที่นายกฯ พูดซ้ำๆ แสดงให้เห็นว่ามีความวิตกกังวล และรู้สึกไม่มั่นคงจึงได้ได้พูดประโยคนี้ออกมาหลายวาระ ซึ่งความไม่มั่นคงเกิดจากการกระทำของนายกฯ และรัฐบาลเอง เช่น การที่นายกฯ และคนใกล้ชิดใช้อำนาจเบ็ดเสร็จแสวงหาผลประโยชน์ให้ตัวเอง และพวกพ้อง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความไม่มั่นคงและไม่เชื่อมั่นต่อนักธุรกิจ เพราะเขาต้องการการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรม ดังนั้น หากนายกฯ ต้องการให้นักธุรกิจรู้สึกดีก็ไม่ต้องย้ำเรื่องจะไม่ยุบสภา แค่แก้ไขปัญหาคนใกล้ชิด จัดการกับบริวารแวดล้อม เชื่อว่าจะช่วยแก้ไขปัญหาได้เป็นอย่างมาก เพราะตราบใดที่ปัญหาต่างๆ ยังไม่แก้ไข และนายกฯ ยังไม่แก้ตัว เราก็คงจะได้ยินเรื่องไม่ยุบ ไม่ลาออกอีกหลายครั้ง” นายองอาจ กล่าว