Go www.kriengsak.com

ประวัติ

ครอบครัว

งานวิชาการ

กิจกรรม

Press

Contact us

ค้นหา

 

บทความลงนิตยาสาร       

 

เร่งผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวะรากฐานพัฒนาประเทศ
 

7-14 ธันวาคม 2549

             
             ปัจจุบันประเทศไทยประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานระดับอาชีวศึกษาอย่างมาก จากรายงานผลการศึกษาความต้องการกำลังคนของกลุ่มอุตสาหกรรม โดยสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาพบว่า กลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ ขาดแคลนกำลังคนระดับกลางหรือระดับปฏิบัติการค่อนข้างมาก โดยเฉพาะผู้จบระดับ ปวช. – ปวส. ซึ่งจากข้อมูลพบว่ากว่าร้อยละ 80
ของผู้จบการศึกษาระดับนี้มักจะศึกษาต่อระดับปริญญาตรี นอกจากนั้นผู้จบการศึกษาระดับนี้จำนวนมาก ยังไม่สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีคุณภาพเท่าที่ควร

นอกจากนั้น จากโครงการวิจัยเรื่อง แผนพัฒนากำลังคนของประเทศไทยเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) พบว่า การที่รัฐบาลมุ่งสนับสนุนการศึกษาสายสามัญอย่างไม่จำกัดและละเลยการศึกษาสายอาชีพ ทำให้มีผู้ที่ต้องการเรียนสายอาชีพมีจำนวนที่ลดลง ทั้งที่ในปัจจุบันและอนาคต ตลาดแรงงานในประเทศไทยต้องการผู้จบสายอาชีวศึกษาเป็นจำนวนมาก จากการวิจัยเรื่องเดียวกันนี้ ได้คำนวณตัวเลขประมาณการผู้สำเร็จการศึกษา ที่คาดว่าจะเข้าสู่ตลาดแรงงานระหว่างปี 2550-2559 พบว่าทุกปีจะมีจำนวนแรงงานจากทุกระดับการศึกษาเข้าสู่ตลาดแรงงานเพิ่มขึ้น โดยแรงงานระดับปริญญาตรีมีแนวโน้มเข้าสู่ตลาดแรงงานมากที่สุด แต่หากพิจารณาปริมาณความต้องการของตลาดแรงงานโดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมพบว่า สัดส่วนความต้องการแรงงานในระดับอาชีวศึกษามีสัดส่วนที่มากกว่าแรงงานระดับปริญญาตรี พิจารณาจากตัวเลขความต้องการแรงงานส่วนเพิ่มของตลาดแรงงานในภาคอุตสาหกรรมระหว่างปี 2550-2554 ตลาดแรงงานต้องการแรงงานระดับ ปวช. และ ปวส. เพิ่ม 33,255 คน ในขณะที่ต้องการแรงงานระดับปริญญาตรีเพิ่มจำนวน 21,797 คน และใน 5 ปีหลัง (2555-2559) ตลาดแรงงานต้องการแรงงานระดับ ปวช. และ ปวส. เพิ่ม จำนวน 26,213 คน ต้องการแรงงานระดับปริญญาตรีเพิ่มจำนวน 17,245 คน ดังนั้น ในอนาคตแรงงานระดับปริญญาตรีจะประสบปัญหาอุปสงค์ส่วนเกิน (Excess demand) ในตลาดแรงงานภาคอุตสาหกรรม จึงมีโอกาสเสี่ยงที่จะตกงานในอนาคต หรือเกิดสภาพแรงงานระดับสูงที่จบปริญญาตรีมีอัตราการทำงานอยู่ในระดับต่ำ และมีบัณฑิตจำนวนมากยอมทำงานที่ได้เงินเดือนเท่ากับแรงงานระดับกลาง หรือทำงานในสาขาที่ไม่ได้เรียนจบมาโดยตรง

สภาพปัญหาการขาดแคลนแรงงานระดับอาชีวศึกษา และสภาพแนวโน้มปัญหาแรงงานระดับอุดมศึกษาโดยเฉพาะในบางสาขาที่เริ่มล้นตลาดแรงงานนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในไทยเท่านั้น แต่เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในหลายประเทศด้วย โดยเฉพาะกลุ่มประเทศที่มีการขยายตัวด้านอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็ว อาทิ

ประเทศรัสเซีย มีปัญหาแรงงานระดับสูงจากสถาบันอุดมศึกษาล้นตลาด มีบัณฑิตเพียงร้อยละ 50 เท่านั้นที่สามารถหางานทำได้ ในขณะเดียวกันรัสเซียกำลังขาดแคลนแรงงานระดับปฏิบัติการอย่างหนัก โดยเฉพาะช่างเทคนิคและช่างก่อสร้างอุตสาหกรรม

ประเทศจีน ในปี 2549 จีนได้ประสบปัญหาแรงงานระดับอุดมศึกษาล้นตลาด มีบัณฑิตตกงานเกือบร้อยละ 40 จากจำนวนบัณฑิตทั้งหมด 4.13 ล้านคน และกำลังประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานระดับปฏิบัติการจากการอาชีวศึกษา ในเรื่องนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและการประกันสังคม (Ministry of Labor and Social Security) ของจีนกล่าวว่า แรงงานระดับปฏิบัติการของจีนมีเพียงร้อยละ 4 ห่างจากประเทศที่พัฒนาแล้วถึง 10 เท่า ซึ่งไม่พอเพียงต่อความต้องการของภาคการผลิตโดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมที่จีนกำลังประสบภาวะวิกฤตขาดแคลนกำลังคนระดับกลางอย่างมาก

ในขณะที่กลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว สภาพปัญหาการขาดแคลนแรงงานระดับปฏิบัติมีไม่มากนัก เนื่องด้วยมีการวางแผนการผลิตกำลังคนระดับอาชีวศึกษาและการอุดมศึกษาควบคู่กัน อันส่งผลให้การพัฒนากำลังคนมีความสอดคล้องกันทั้งในด้านของกำลังคน และด้านวิชาการ อาทิ

ประเทศนิวซีแลนด์ มีสถาบันฝึกอาชีพและวิทยาลัย จะจัดการศึกษาที่เน้นฝึกอาชีพชั้นสูง มีการจัดหลักสูตรที่หลากหลายเหมาะสมกับความต้องการของนักศึกษา เพื่อให้นักศึกษามีความรู้เกี่ยวกับอาชีพ วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของนิวซีแลนด์ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม โดยจะทำการเปิดสอนทั้งระดับอนุปริญญาและปริญญา โดยเป็นแหล่งสำคัญในการผลิตกำลังคนระดับกลางสู่ตลาดแรงงาน

ประเทศแคนาดา มหาวิทยาลัยในแคนาดาจะจัดหลักสูตรการเรียนการสอน ทั้งในภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ (University College) ทั้งในระดับปริญญา ระดับอนุปริญญา และระดับประกาศนียบัตร นักศึกษาสามารถเลือกโปรแกรมได้ตามต้องการ โดยสามารถเลือกเรียนหลักสูตรที่เน้นทฤษฎีในระดับปริญญาบัตร หรือเลือกเรียนหลักสูตรที่เน้นภาคปฏิบัติในระดับอนุปริญญาและประกาศนียบัตร เพื่อนำไปประกอบอาชีพ

ประเทศออสเตรเลีย มีวิทยาลัยเทคนิคและการศึกษาต่อเนื่อง (College of Technical and Further Education: TAFE) รับนักเรียนที่จบมัธยมศึกษาปีที่ 4 จัดหลักสูตรการเรียนการสอนที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพด้านอุตสาหกรรม พาณิชกรรม และศิลปะ โดยแบ่งการสอนเป็น 3 ระดับ คือ ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพระดับ 1-4 (Certificate I-IV) เป็นหลักสูตรวิชาชีพพื้นฐาน เน้นความรู้ระดับปฏิบัติงาน ระดับอนุปริญญา (Diploma) เป็นหลักสูตรระดับปฏิบัติงานและการวางแผน และระดับอนุปริญญาชั้นสูง (Advanced Diploma) เป็นหลักสูตรที่เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการความก้าวหน้า สามารถโอนหน่วยกิตจากระดับการอาชีวศึกษา เพื่อศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีได้

ทั้ง 3 ประเทศ เป็นประเทศที่ให้ความสำคัญทั้งการศึกษาในระดับการอุดมศึกษาควบคู่ไปกับการส่งเสริมการอาชีวศึกษา โดยเฉพาะด้านการอาชีวศึกษาจะให้ความสำคัญในการผลิตกำลังคนระดับกลางที่มีคุณภาพและเท่าทันต่อความต้องการของอุตสาหกรรม เพื่อนำพาการพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศให้เจริญก้าวหน้าได้รวดเร็ว แข็งแกร่ง และแข่งขันได้

หากย้อนมาพิจารณาถึงสถานการณ์ในประเทศไทย ผลจากการที่ค่านิยมของผู้ปกครองที่ต้องการส่งบุตรหลานให้เรียนในระดับสูง ประกอบกับช่วงที่ผ่านมารัฐสนับสนุนให้ศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาอย่างมาก ส่งผลให้มีผู้เรียนในระดับอุดมศึกษามีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่ผู้เรียนในระดับอาชีวศึกษาซึ่งไม่ได้รับการส่งเสริมเท่าที่ควรกลับมีสัดส่วนผู้เข้าศึกษาต่อลดลง จากการประเมินของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (2549) พบว่าการศึกษาต่อในระดับอาชีวศึกษามีสัดส่วนน้อยกว่าการศึกษาต่อในสายสามัญ  

อย่างไรก็ตาม เมื่อไม่กี่ปีมานี้ ประเทศไทยเริ่มหาแนวทางเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานระดับอาชีวศึกษา โดยในปีการศึกษา 2547 รัฐบาลได้เปิดโอกาสให้ผู้ที่ต้องการเรียนต่ออาชีวศึกษาทุกคนไม่ต้องสอบคัดเลือก ซึ่งทำให้สัดส่วนผู้เรียนอาชีวศึกษาเพิ่มขึ้นมาบ้าง โดยในปี 2547 สัดส่วนนักเรียนสายอาชีวศึกษาต่อสายสามัญ มี 37:63 เพิ่มจากปี 2546 (36:64) และในปี 2548 เพิ่มขึ้นเป็น 41:59 แต่แนวทางดังกล่าวคงทำได้เพียงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น เนื่องด้วยมีปัจจัยอื่น ๆ ที่มีผลต่อการตัดสินใจเรียนต่ออาชีวศึกษา ดังนั้น ในระยะยาวรัฐจำเป็นต้องหามาตรการในการส่งเสริมและดึงดูดผู้เรียนให้เข้าศึกษาต่อในสายอาชีพเพิ่มมากขึ้น

แนวทางแก้ไขในระยะยาว นอกจากที่รัฐบาลจะเปิดโอกาสผู้เรียนเข้ามาเรียนสายอาชีพโดยไม่ต้องผ่านการสอบแล้ว รัฐบาลควรมุ่งพัฒนาคุณภาพการอาชีวศึกษาให้ทันสมัยจนเป็นที่ยอมรับของประชาชนให้ได้ โดยการขับเคลื่อนความร่วมมือกับสถานประกอบการต่าง ๆ ที่เคยมีอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพื่อให้สถานประกอบการมีส่วนในการคิดหลักสูตร สนับสนุนสถานที่ฝึกงาน ร่วมกันทำวิจัย ฯลฯ ซึ่งจะทำให้เกิดความน่าเชื่อถือแก่ประชาชน และช่วยให้การผลิตกำลังคนระดับอาชีวศึกษาสอดคล้องกับของภาคการผลิตอีกด้วย รวมถึงมีมาตรการในสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของการอาชีวศึกษาและปรับค่านิยมของประชาชนที่มีต่อการอาชีวศึกษา นอกจากนี้ รัฐบาลควรหามาตรการในการลดช่องว่างของรายได้ ระหว่างผู้ที่เรียนจบจากสายอาชีพและผู้ที่จบจากสถาบันอุดมศึกษา เพื่อแก้ไขปัญหาผู้เรียนเข้าสู่สถาบันอุดมศึกษาจนเกินความต้องการ โดยเฉพาะในบางสาขาวิชา และประการสำคัญควรดำเนินการศึกษาวิจัยกลุ่มประเทศที่ได้มีการพัฒนาการศึกษาระดับอาชีวศึกษาจนเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ เพื่อนำมาต่อยอดและประยุกต์ใช้ในการพัฒนาการอาชีวศึกษาของไทยได้อย่างเหมาะสม 

รัฐบาลและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ควรตระหนักว่าการพัฒนากำลังคนของประเทศ ไม่สามารถแยกส่วนจากความต้องการของตลาดแรงงานได้ ดังนั้น บทบาทหน้าที่ในการพัฒนากำลังคน จึงไม่ได้เกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการเพียงอย่างเดียว แต่เกี่ยวข้องกับกระทรวงอื่นด้วย เช่น กระทรวงแรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการท่องเที่ยงและกีฬา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ฯลฯ ทั้งยังเกี่ยวข้องกับภาคการผลิต เช่น ผู้ประกอบการ ภาคธุรกิจในหลายสาขา ฯลฯ ที่ต้องเข้ามาร่วมสะท้อนความต้องการ และวางนโยบายการผลิตกำลังคนให้สอดคล้องกับความต้องการ เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาแรงงานระดับอุดมศึกษาส่วนเกิน และขาดแคลนแรงงานในระดับอาชีวศึกษา พร้อมยกระดับคุณภาพแรงงานในทุกระดับให้สูงขึ้น


-------------------------------