ต้องหยุด! ตัดแปะจากเน็ต
ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
นักเรียนนักศึกษาทั่วโลกต่างยอมรับว่า ldquo;อินเทอร์เน็ตrdquo; เป็นเครื่องมือสืบค้นข้อมูลที่ดีที่สุด เพราะช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถเรียนรู้และสืบค้นข้อมูลได้รวดเร็ว ทั้งไม่จำกัดเวลาและสถานที่ ในขณะเดียวกัน อินเทอร์เน็ตได้กลายเป็นเทคโนโลยีที่เอื้อต่อการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา อาทิ การคัดลอกบทความ งานวิจัย หรือแนวคิด โดยไม่มีการอ้างอิงที่มา ซึ่งประเทศไทยยังไม่มีแนวทางแก้ไขพฤติกรรมดังกล่าว
จากงานวิจัยเรื่อง สภาพปัญหาการจัดการศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษา สาขาบริหารการศึกษา โดย ศ.ดร. เสริมศักดิ์ วิศาลาภรณ์ (2549) ได้สุ่มตัวอย่างวิทยานิพนธ์ 70 เล่ม พบว่ามีจำนวน 27 เล่ม ที่มีการคัดลอกข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตและผลงานวิจัยผู้อื่น ปัญหาดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อการสร้างองค์ความรู้ของประเทศในอนาคต
ผมจึงเห็นไทยควรมีมาตรการป้องกันแก้ไขการตัดแปะจากอินเทอร์เน็ตของนักศึกษา ดังนี้
ศึกษาวิจัยปัญหาและแนวทางป้องกัน
รัฐควรสนับสนุนการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของนักเรียนนักศึกษา โดยการคัดลอกบทความ งานวิจัย แนวคิดทฤษฎีของผู้อื่นจากอินเทอร์เน็ต และไม่มีการอ้างอิง โดยอาจตั้งศูนย์วิจัยทางเทคโนโลยีหรือร่วมมือกระทรวงไอซีที เพื่อศึกษาวิจัยค้นหาแนวทางป้องกันและคิดค้นระบบตรวจสอบการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา
อาจารย์ในมหาวิทยาลัยรัทเกอร์ส (Rutgers University) รัฐนิวเจอร์ซี สหรัฐอเมริกา ได้ทำวิจัยเกี่ยวกับ พฤติกรรมการใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา (2546) พบว่า นักศึกษาร้อยละ 50 นิยมคัดลอกและตัดต่อข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตทำเป็นรายงานส่งอาจารย์ โดยเว็บไซต์ที่นักศึกษานิยมเข้าไปค้นข้อมูลมากที่สุด คือ กูเกิล (Google) กูเกิล แอนเซอร์ (Google Answer) และวิกิพีเดีย (Wikipedia) เพราะเป็นเว็บไซต์ให้บริการค้นหาข้อมูล มีนักวิจัยอิสระไม่ต่ำกว่า 500 คน คอยให้บริการ ซึ่งข้อมูลที่ได้มักไม่มีการอ้างอิงต้นตอความคิด พฤติกรรมนี้ได้ส่งผลให้นักศึกษาขาดทักษะการคิดมากขึ้น
การหาแนวทางเพื่อหยุดพฤติกรรมดังกล่าว องค์การห้องสมุดแห่งอเมริกา (The American Library Association) สถาบันอินเทอร์เน็ตแห่งมหาวิทยาลัยอ๊อกฟอร์ด (Oxford Internet Institute) ศูนย์คอมพิวเตอร์และรับผิดชอบทางสังคม มหาวิทยาลัยเดอ มอนฟอร์ท (The Center for Computing and Social Responsibility, De Montfort University) บริษัทด้านเว็บมาสเตอร์ ในภาคเอกชน จึงได้ร่วมมือกันศึกษาวิจัยสภาพปัญหาและแนวทางแก้ไข เพื่อนำมากำหนดนโยบายแก้ปัญหาในอนาคต
สร้างระบบตรวจสอบการคัดลอกงานของผู้อื่น
รัฐบาลไทยควรพัฒนาโปรแกรมตรวจสอบการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของผู้อื่น ที่สามารถสแกนข้อมูลจากเว็บไซต์ทั่วโลก ที่นำเสนอผลงานวิชาการ บทความ งานวิจัย และแนวคิดต่าง ๆ เพื่อนำมาตรวจสอบรายงาน วิทยานิพนธ์ ของนักศึกษา และผลงานวิจัยที่มีอยู่ในประเทศไทย
ตัวอย่างในมหาวิทยาลัยนอร์ทธัมเบรีย (Northumbria University) รัฐนิวคาสเซิล ประเทศอังกฤษ มีฝ่าย Academic Management Staff: Associate Dean ทำหน้าที่ตรวจสอบคุณภาพการศึกษา รวมถึงการตรวจสอบงานวิจัย การทำรายงาน โดยมีโปรแกรมตรวจสอบรายงานนักศึกษา เนื่องจากที่ผ่านมา มีนักศึกษาอังกฤษจำนวนมากสืบค้นข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต และคัดลอกข้อมูลจากเว็บไซต์ต่าง ๆ โดยไม่มีการอ้างอิงที่มา โปรแกรมดังกล่าวสามารถสแกนข้อมูลจากเว็บเพจ ๆ มากกว่า 4.5 พันล้านเว็บเพจ หากพบว่ามีข้อความใดตรงกับรายงาน โปรแกรมจะสร้างแถบสีบอกตำแหน่งข้อความนั้นทันที ซึ่งช่วยลดการคัดลอกและตัดต่อบทความและงานวิจัยของนักศึกษา
สร้างจิตสำนึกการอ้างอิงผลงานและความคิดผู้อื่น
กระทรวงศึกษาธิการจึงควรส่งเสริมให้เกิดจิตสำนึกการอ้างอิงผลงาน และการให้เกียรติความคิดของผู้อื่นแก่ผู้เรียนตั้งแต่ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน อาทิ เมื่อผู้เรียนทำรายงานส่ง ครูควรกำชับว่าหากนำเอาบทความ งานวิจัย แนวคิดทฤษฎีของใครมา ให้อ้างอิงชื่อผู้เขียน ชื่อเรื่อง สำนักพิมพ์/โรงพิมพ์ ปีที่พิมพ์ หากเป็นข้อมูลที่มาจากเว็บไซต์ ให้อ้างอิงเว็บไซต์ดังกล่าวมาด้วย โดยที่ครูควรสอนวิธีอ้างอิงที่ถูกต้อง และย้ำให้ถึงโทษตามกฎหมายเมื่อผู้เรียนคัดลอกบทความ งานวิจัย แนวคิดทฤษฎีของผู้อื่นโดยไม่อ้างอิง
การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา โดยคัดลอกบทความ งานวิจัย แนวคิดทฤษฎี และไม่มีการอ้างอิง ส่งผลกระทบในระยะยาวคือ ความถดถอยของการสร้างองค์ความรู้ในสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่ออินเทอร์เน็ตได้เข้ามาเอื้อให้เกิดการละเมิดทรัพย์ทางปัญญาได้อย่างกว้างขวาง ดังนั้น การศึกษาวิจัย การสร้างระบบตรวจสอบการคัดลอก และการสร้างจิตสำนึกการเคารพทรัพย์สินทางปัญญาของผู้อื่น จึงเป็นความจำเป็นที่ควรได้รับการพัฒนาขึ้นและมีมาตรการสนับสนุนให้มีการใช้อย่างกว้างขวาง
Tags:
เผยแพร่:
สยามรัฐรายวัน
เมื่อ:
2007-10-19