วอนรัฐเร่งหาทางออกบัณฑิตล้นตลาด

เรียนมิตรสหายที่เคารพรัก

ผลการสำรวจของ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา(กยศ.) พบว่า สาเหตุของเด็กที่กู้ยืมเงินจาก กยศ.แล้วยังไม่มาชำระหนี้ซึ่งมีประมาณร้อยละ 30 และยังไม่มีงานทำว่า มีสาเหตุสำคัญ 4 ประการคือ 1.เรียนสาขาที่ไม่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานของประเทศ 2.เรียนสาขาที่มีมากกว่าความต้องการ 3.เด็กที่จบ ม.6 แล้วไม่ได้เรียนต่อมีครอบครัว ไม่ได้ทำงานที่ดี หรือว่างงาน 4.เด็กเรียนจบ ปวช.แล้วไม่ได้ทำงาน

ทั้งนี้สาขาที่เด็กเรียนแล้วไม่เป็นที่ต้องการของตลาด อาทิ สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ศิลปกรรมศาสตร์ หรือหลักสูตรที่ตลาดมีความต้องการ แต่ผลิตมากเกินจนความต้องการของตลาด อาทิ นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ บริหารธุรกิจ ส่วนกลุ่มที่เรียนจบ ปวช.แล้วไม่ทำงาน แต่ไปเรียนต่อยอดปริญญาตรี อาทิ จบ ปวช. ด้านช่างยนต์ ช่างกล แต่กลับไปเรียนด้านบริหารธุรกิจ ซึ่งเป็นสาขาที่ความต้องการล้นตลาด

ภาพดังกล่าวสะท้อนว่า การศึกษาไทยยังคงวนซ้ำในเรื่องเดิมคือ ความไม่สอดคล้องกันระหว่างตลาดการศึกษากับตลาดแรงงาน โดยเป็นความไม่สอดคล้องทั้งใน ldquo;เชิงปริมาณrdquo; และ ldquo;คุณภาพrdquo; เห็นได้จากการผลิตบัณฑิตประสบปัญหาแรงงานระดับอุดมศึกษาล้นตลาด และทำงานต่ำกว่าวุฒิการศึกษาเริ่มปรากฎชัดมากขึ้น ส่วนหนึ่งเกิดจากคุณสมบัติของบัณฑิตที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน การผลิตกำลังคนที่ขาดแคลนหรือเกินในบางสาขา

คณะกรรมการการอุดมศึกษาเปิดเผยเมื่อเดือนพฤษภาคม 2549 ว่าการผลิตกำลังคนมีสัดส่วนสายสังคมศาสตร์: วิทยาศาสตร์อยู่ที่ 70 : 30 ทั้งที่ตลาดแรงงานต้องการกำลังคนสายวิทยาศาสตร์ในสัดส่วนที่สูงกว่ามาก นอกจากนี้ผลกระทบที่เกิดจากการเน้นผลิตบัณฑิตระดับอุดมศึกษามากเกินไป ยังทำให้ขาดแคลนแรงงานในระดับกลาง โดยเฉพาะผู้ที่จบการศึกษาในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ซึ่งกว่าร้อยละ 80 ของผู้จบการศึกษาในระดับนี้มักจะเรียนต่อในระดับปริญญาตรี

สาเหตุเพราะที่ผ่านมามีการเร่งเปิดหลักสูตรระดับการอุดมศึกษาเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้เรียนในระดับอุดมศึกษา และสภาพความเป็นอิสระของมหาวิทยาลัยโดยปราศจากกลไกในการควบคุมทิศทางการจัดการอุดมศึกษาทั้งระบบ เกิดการสูญเปล่า ไม่คุ้มค่า หรือขาดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการและจัดสรรทรัพยากร รวมทั้งยิ่งทำให้การอุดมศึกษาผลิตกำลังคนไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานและทิศทางการพัฒนาประเทศมากขึ้นไปอีก

ประกอบกับในปีการศึกษา 2549 เป็นปีที่เริ่มให้มีการให้กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้อนาคต (ICL) จะยิ่งทำให้ยิ่งไหลเข้าอุดมศึกษามากขึ้น ยิ่งเป็นการเปิดเสรีทุกคนมีโอกาสจะศึกษาต่อได้อย่างเท่าเทียมกันโดยใช้เงินกองทุน

หากรัฐบาลไม่ได้พิจารณาหาแนวทางและวิธีป้องกันปัญหาบัณฑิตล้นตลาดแรงงานโดยเฉพาะบางสาขาที่มีแนวโน้มมากขึ้น อาจทำให้ปัญหาการตกงานของบัณฑิตในอนาคตมีมากขึ้นอย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ รวมถึงโอกาสในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยจะอยู่ในสภาวะที่ยากลำบากอย่างแน่นอน

admin
เผยแพร่: 
0
เมื่อ: 
2006-07-19