ยุทธศาสตร์การบริหารประสิทธิสภาพ 8E โมเดล E8 ประสิทธิกาล

ในที่สุด ได้เดินทางมาถึงบทความสำหรับ E ตัวสุดท้ายในโมเดลยุทธศาสตร์การบริหารประสิทธิสภาพ 8Eแล้ว และ E ที่ 8 ที่ผมจะนำเสนอต่อไปนี้ นับเป็นสิ่งที่ท้าทายและเป็นขั้นที่ยากที่สุดก็ว่าได้โดยเฉพาะสำหรับประเทศไทย 

คำว่า "ประสิทธิกาล" เป็นคำที่ผมสร้างขึ้นมา เกิดจากการรวมคำศัพท์ 2 คำ เข้าด้วยกัน ได้แก่ คำว่า "ประสิทธิ" และ คำว่า "กาล" หรือ "กาละ" โดยกาล คือ กาลเวลา คราว ครั้ง หน และเรียกเป็นคำภาษาอังกฤษที่ผมสร้างขึ้นมา คือ "Eschatonicity" ด้วยเหตุนี้ คำว่า ประสิทธิกาล จึงหมายถึง การบริหารที่สามารถเอาชนะผลแห่งกาละได้ (Beyond Temporality) ซึ่งหลักการในการบริหาร คือ การบริหารจัดการที่เน้นความคงทน ผลยั่งยืน  การอยู่ได้นาน ยืนยาวที่สุดปลายปริมณฑลกรอบเวลา จนนำไปถึงความยั่งยืนที่แท้จริง และสิ่งสำคัญที่สุดในการบริหาร คือ การทำให้ผลลัพธ์ที่เลอค่ายั่งยืนยาวนาน กล่าวคือ ไม่ว่าจะทำอะไรต้องคำนึงก่อนเสมอว่า ทำแล้วไม่ได้เกิดผลดีเฉพาะกาลนี้เท่านั้น แต่ต้องมีประโยชน์ไปถึงอนาคต ข้ามกาลเวลา เพราะ สิ่งที่คงอยู่ได้หลายพันปี และปัจจุบันยังอยู่ แสดงว่ามีการออกแบบกระบวนการบางอย่าง เช่น ศาสนา ในยุคพระพุทธเจ้ามีหลายศาสนา ทว่าศาสนาจำนวนมากหายไปแต่พระพุทธศาสนายังคงอยู่ เป็นต้น 

หลายองค์กรในหลายประเทศทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญ ร่วมมือกันหาวิธีการ การกำหนดนิยาม การสร้างตัวชี้วัดที่เป็นมาตรฐานสากลเพื่อบ่งชี้และประเมินถึงความยั่งยืนในการบริหารของแต่ละประเทศ และหนึ่งในนั้น คือ บริษัท Robecosam บริษัทการลงทุนระหว่างประเทศที่เน้นการลงทุนที่มีความยั่งยืน มีสำนักงานอยู่ในประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ได้ออกรายงานการจัดอันดับความยั่งยืนของประเทศต่างๆ ในปี 2015 (Measuring Country Intangibles ? Robecosam's Country Sustainability Ranking 2105) พบว่า ประเทศ 10 อันดับแรกที่ได้คะแนนสูงสุด ที่เป็นประเทศที่มีความยั่งยืนมากที่สุดในโลก ได้แก่ อันดับ 1 ประเทศสวีเดน รองลงมาเป็น ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ นอร์เวย์สหราชอาณาจักร นิวซีแลนด์ ไอร์แลนด์ เยอรมนี เดนมาร์ก ออสเตรเลีย และออสเตรีย ตามลำดับ และประเทศ 10 อันดับสุดท้ายที่คะแนนรั้งท้าย อันสะท้อนถึงความเป็นประเทศยั่งยืนน้อยที่สุด ได้แก่ อันดับ 51 ประเทศอินโดนีเซีย ตามมาด้วยประเทศอินเดีย เอลซาล์วาดอร์ โมร็อกโค รัสเซีย จีน อันดับที่ 57 ได้แก่ ประเทศไทย รองลงมาเป็นอียิปต์ เวเนซูเอล่า และไนจีเรีย ตามลำดับ เป็นการจัดอันดับที่น่าตกตะลึงมากที่ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 57 จากการสำรวจทั้งหมด 60 ประเทศทั่วโลก 

ทั้งนี้ 60 ประเทศ เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว 21 ประเทศ และประเทศกำลังพัฒนาอีก 39 ประเทศ เท่านั้น ส่วนตัวชี้วัดในการจัดอันดับ ประกอบด้วย 17 ตัวชี้วัด 3 มิติ ได้แก่ 1) มิติด้านสิ่งแวดล้อม (15%) แบ่งเป็นหมวดสถานะทางสิ่งแวดล้อม เช่น ความหลากหลายทางชีวภาพ 10% หมวดพลังงาน เช่น แหล่งพลังงาน การบริโภคพลังงาน เป็น 2.5% และหมวดความเสี่ยงทางสิ่งแวดล้อมอีก 2.5% 2) มิติด้านสังคม (25%) แบ่งเป็นตัวชี้วัดทางสังคม เช่น สวัสดิการทางสังคม ความเท่าเทียมในสังคม 10% หมวดการพัฒนาคุณภาพทรัพยากรมนุษย์ เช่น การศึกษา สุขภาพ อีก 10% รวมถึงหมวดความไม่สงบในประเทศ เช่น ความเชื่อมั่นในภาครัฐ 5% และ 3) มิติด้านกำกับดูแลหรือธรรมาภิบาล (60%) เป็นมิติที่มีสัดส่วนมากที่สุด แบ่งเป็นหลายหมวด เช่น ความสามารถในการแข่งขัน เสียงทางการเมือง ประสิทธิผลการทำงาน ความรับผิดรับชอบ การคอร์รัปชั่น เสถียรภาพ ความเป็นสถาบัน เป็นต้น 

สาเหตุที่ประเทศสวีเดนได้รับคะแนนสูงที่สุด อันเนื่องมาจาก

1)    การมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อให้เกิดการอยู่อาศัยอย่างยั่งยืนของประชากรในประเทศ กล่าวคือ ร่วมกันสร้างให้เป็นประเทศสีเขียว เช่น เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม H&M ที่ใช้ผ้าฝ้ายอินทรีย์ (organic cotton) เป็นวัตถุดิบในการผลิต รวมถึงการนิยมใช้ของมือสอง หรือการรีไซเคิล นำสิ่งที่ยังใช้ได้อยู่มาใช้จนกว่าจะใช้ไม่ได้ เป็นต้น  

2)    การวางแผน Roadmap ระยะยาวถึงปี 2050 กล่าวคือ ประเทศสวีเดนมีแนวโน้มจะเป็นประเทศแรกที่ปราศจากการใช้พลังงานเชื้อเพลิงจากฟอสซิล ซึ่งงเป็นหนึ่งในเป้าหมายของแผนงาน Roadmap 2050 ของประเทศสวีเดน 

3)    การเก็บภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) นับเป็นประเทศแรกๆ อีกเช่นกันทีมีการเก็บภาษีชนิดนี้ ซึ่งผลที่ออกมาเป็นที่น่าประทับใจ คือ สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้จริง รวมทั้ง เป็นการลดลงการใช้พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลได้อย่างมาก 

4)    การใช้พลังงานทดแทน (Renewable energy) มากที่สุดในยุโรป ซึ่งปัจจุบันใช้พลังงานทดแทนคิดเป็น 52% ของสัดส่วนพลังงานทั้งหมด โดยส่วนมากเป็นพลังงานน้ำและพลังงานชีวภาพ ทั้งนี้ ยังมีการคาดการณ์ สวีเดนจะใช้พลังงานทดแทนเป็น 55% ภายในปี 2020 

5)    การใช้พลังงานความร้อนจากมนุษย์สร้าง "Passive Houses" เป็นบ้านที่ใช้พลังขับเคลื่อนจากความร้อนของคน เครื่องใช้ไฟฟ้าและแสงแดดและได้รับการสร้างขึ้นในหลายหมู่บ้านของประเทศสวีเดน

สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศสวีเดน สะท้อนถึงความเข้มแข็งของภาครัฐ ที่สามารถผนึกกำลังจากภาคเอกชน และภาคประชาชนได้อย่างแนบแน่น ประเทศไทยควรศึกษาสาเหตุและถอดบทเรียนที่ทำให้ประเทศสวีเดนกลายเป็นประเทศที่มีความยั่งยืนมากที่สุดในโลก เพราะการเรียนรู้จาก Best Practice จะช่วยลดเวลาและการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด อันนำไปสู่การบริหารอย่างมีประสิทธิสภาพ ทั้ง 8 ยุทธศาสตร์ได้ 

ในมุมมองของผม ประเทศสวีเดนสามารถบริหารอย่างมีประสิทธิกาลได้ เพราะมีการใช้หลัก 3 W (win-win-win) ซึ่งเป็นกรอบแนวคิดการประสานพลังและสร้างความร่วมมือที่ผมคิดไว้ ไม่ว่าจะเป็นการบริหารตามปัจเจกหรือคณะนิยม ซึ่งแบ่งได้เป็น ส่วนตัว ส่วนเรา (พวกพ้อง) ส่วนรวม (ประเทศชาติ / โลก) หรือการบริหารตามภาคส่วน ตามอำนาจ เช่น ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เป็นต้น โดยจะเกิดเป็นทางเลือกในการบริหารหลากหลายรูปแบบ เช่น ชนะ แพ้ แพ้, ชนะ ชนะ แพ้เป็นต้น ซึ่งตามนิยามความยั่งยืนของผม การบริหารแบบที่มีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดแพ้ จะไม่สามารถทำให้เกิดความยั่งยืนได้ อย่างไรก็ดี ในการบริหารส่วนมากมักจะไม่เกิดการบริหารให้ส่วนตนแพ้ หรือภาครัฐแพ้ แต่ส่วนที่จะแพ้ คือ ส่วนรวมและภาคประชาชน

เพราะฉะนั้น การบริหารอย่างมีประสิทธิกาล คือ การบริหารที่ต้องคำนึงถึงภาพรวมเป็นหลัก และเกิดผลลัพธ์เป็นชนะ ชนะ ชนะ เท่านั้น
 

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ
คอลัมน์ : ดร.แดน มองต่างแดน

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com
แหล่งที่มาของภาพ