แนวโน้มการขนส่งและโลจิสติกส์หลัง AEC

 
เมื่อวันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา ผมได้รับเชิญให้ไปบรรยายเรื่อง ?The ASEAN Integration and beyond? ที่ฮ่องกงโดยผู้ฟังเป็นผู้บริหารของบริษัทด้านโลจิสติกส์ที่มีหลายสาขาทั่วโลก ซึ่งผมได้อธิบายถึงแนวโน้มของภาคการขนส่งและโลจิสติกส์ (T&L) หลังการเปิดประชาคมอาเซียนดังนี้ 
๐ ตลาด T&L จะมีการขยายตัวสูง 

ตลาด T&L ในอาเซียนมีแนวโน้มที่จะขยายตัวสูง ซึ่งเป็นผลจากหลายปัจจัย 
 
ประการแรก การขยายตัวของการบริโภคในอาเซียน เนื่องจากเศรษฐกิจอาเซียนได้รับการคาดการณ์ว่าจะมีอัตราการขยายตัวสูง และจำนวนชนชั้นกลางที่เพิ่มขึ้นมากกว่าภูมิภาคอื่น 
 
ประการที่สอง การค้าภายในภูมิภาคอาเซียนมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากการเปิดเสรีทางการค้าระหว่างกัน และโครงสร้างการผลิตที่มีลักษณะเป็นเครือข่ายการผลิตข้ามประเทศ 
 
ประการที่สาม การเคลื่อนย้ายฐานการผลิตของอุตสาหกรรมการผลิตมายังอาเซียน ซึ่งหลายประเทศมีค่าแรงต่ำกว่าจีน ทำให้อาเซียนได้รับการคาดหมายว่าจะเป็นโรงงานของโลกแทนที่จีน และจะกลายเป็นแหล่งผลิตสินค้าเพื่อส่งออกไปยังทั่วโลก 
 
๐ การกระจายตัวของความต้องการบริการ T&L 
 
ประเทศสมาชิกอาเซียนจะมีการลงทุนจำนวนมหาศาลในโครงการด้านคมนาคมระหว่างประเทศ โดยได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากประเทศมหาอำนาจ โดยเฉพาะเงินกู้จาก Asian Infrastructure Investment Bank ซึ่งริเริ่มโดยจีน 
 
การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมจะทำให้เกิดพื้นที่เศรษฐกิจและเส้นทางการคมนาคมใหม่ๆ อาทิ โครงการโครงข่ายทางรถไฟแพนเอเชีย (คุนหมิง-สิงคโปร์) โครงการทางหลวงไตรภาคีอินเดีย-เมียนมาร์-ไทย เป็นต้น ส่งผลทำให้ความต้องการบริการ T&L กระจายตัวมากขึ้น จากเดิมที่ความต้องการกระจุกตัวอยู่เฉพาะในเมืองใหญ่และเส้นทางการคมนาคมหลัก 
 
การพัฒนาความเป็นเมืองและการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้เกิดการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ๆ และทำให้การขนส่งไปยังพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ๆ เหล่านี้มากขึ้น ทั้งนี้ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชียคาดว่า จะมีการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษในอาเซียนถึง 60 แห่งภายในปี 2015 
 
๐ การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการขนส่ง 
 
รูปแบบการขนส่งในอาเซียนจะเปลี่ยนแปลงจากการขนส่งทางถนน เป็นการขนส่งระบบรางมากขึ้น เนื่องจากประเทศในอาเซียนส่วนใหญ่มีต้นทุนโลจิสติกส์สูงจากการขนส่งทางถนนเป็นหลัก จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงไปสู่การขนส่งรูปแบบอื่นที่มีต้นทุนต่ำกว่า 
 
ปัจจุบัน โครงการพัฒนาเส้นทางรถไฟเชื่อมต่อระหว่างประเทศได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการรถไฟรางคู่ระหว่างหนองคาย-กรุงเทพฯ-ระยอง ที่มีแนวโน้มจะเชื่อมต่อกับทางรถไฟในลาว และขยายไปยังกัมพูชาในอนาคต ซึ่งจะทำให้ปริมาณการขนส่งผ่านระบบรางเพิ่มมากขึ้น 
 
๐ การแข่งขันที่รุนแรงและการรวมตัวในธุรกิจ T&L 
 
ภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน บริการโลจิสติกส์ได้เปิดเสรีให้ต่างชาติถือหุ้นได้ถึงร้อยละ 70 ส่งผลทำให้ผู้ให้บริการโลจิสติกส์จากต่างประเทศเข้ามาแข่งขันมากขึ้น ทั้งนี้อาเซียนเป็นเป้าหมายการลงทุนของบรรษัทโลจิสติกส์ข้ามชาติ ซึ่งมักจะเข้ามาในรูปแบบการร่วมทุนกับบริษัทท้องถิ่น ทำให้แนวโน้มธุรกิจนี้จะมีการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น 
 
บริการ T&L ในอาเซียนจะมีขนาดและขอบเขตที่กว้างมากขึ้น เพราะความต้องการบริการ T&L ระหว่างประเทศจะเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ผู้ให้บริการ T&L ในอาเซียนส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ไม่สามารถให้บริการแบบครบวงจรได้ จึงมีแนวโน้มที่จะเกิดการควบรวมกิจการในธุรกิจนี้ เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ 
 
๐ ความเป็นมืออาชีพของธุรกิจ T&L 
 
การรวมเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนทำให้เกิดการปรับปรุงกฎระเบียบและมาตรฐานของบริการ T&L ให้สอดคล้องกัน เพื่อลดต้นทุนและข้อจำกัดในการเคลื่อนย้ายสินค้าและบริการข้ามพรมแดน 
 
การเข้ามาลงทุนของบรรษัทผู้ให้บริการ T&L ข้ามชาติ จะทำให้เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีแก่ธุรกิจในท้องถิ่น และทำให้เกิดการพัฒนาตามแบบอย่างของธุรกิจที่เป็นผู้นำในตลาด แนวโน้มภาพรวมของอุตสาหกรรม T&L ในอาเซียนจึงมีมาตรฐานและความเป็นมืออาชีพมากขึ้น 
 
ความต้องการบริการ T&L ที่มีมูลค่าเพิ่มจะขยายตัวมากขึ้น เนื่องจากอาเซียนจะกลายเป็นฐานการผลิตของบริษัทชั้นนำจากทั่วโลก ซึ่งมีความต้องการบริการ T&L ที่มีคุณภาพ และเชื่อถือได้ การแข่งขันที่รุนแรงจะทำให้บริษัทต่างๆ เน้นกิจกรรมที่เป็นความเชี่ยวชาญหลักขององค์กร ทำให้มีความต้องการบริษัทภายนอกที่เชื่อถือได้เข้ามาให้บริการ T&L 
 
ในอนาคต การกระจายสินค้าไปยังผู้บริโภคส่วนใหญ่จะกระจายผ่านโมเดิร์นเทรด ผู้ให้บริการโลจิสติกส์จึงต้องทำงานร่วมกับโมเดิร์นเทรด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นธุรกิจข้ามชาติที่มีขนาดใหญ่ และใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการบริหารคลังสินค้าและกระจายสินค้า จึงมีความต้องการบริการ T&L ที่มีมาตรฐานสูง 
 
๐ การเกิดขึ้นของตลาดเฉพาะในอุตสาหกรรม T&L 
 
การแข่งขันที่รุนแรงจะทำให้เกิดความหลากหลายของบริการ T&L มากขึ้น ผู้ให้บริการ T&L ขนาดกลางและขนาดย่อมต้องพยายามหลีกเลี่ยงการแข่งขันกับธุรกิจขนาดใหญ่ โดยใช้กลยุทธ์ตลาดเฉพาะ เน้นให้บริการในตลาดที่มีความต้องการเฉพาะหรือตลาดที่มีขนาดเล็ก ซึ่งธุรกิจขนาดใหญ่ไม่เข้ามาแข่งขันด้วย 
 
ความต้องการในอาเซียนจะมีความหลากหลายมากขึ้น เนื่องจากความหลากหลายของประชาชนในประเทศสมาชิกอาเซียน ระดับการพัฒนาเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน และการเพิ่มขึ้นของชนชั้นกลางและประชากรรุ่นใหม่จะทำให้เกิดความต้องการรูปแบบใหม่ๆ 
 
ตัวอย่างของตลาดเฉพาะในอุตสาหกรรม T&L ได้แก่ บริการในเขตเมืองใหญ่ เพราะในอนาคตอาเซียนจะมีเมืองขนาดใหญ่มากเกิดขึ้น ซึ่งมีความซับซ้อนและความแออัดของการจราจรมากขึ้น ทำให้มีความต้องการบริการและวิธีการใหม่ๆ ในการขนส่งและกระจายสินค้าในเขตเมืองเหล่านี้ 
 
อีกตัวอย่างหนึ่ง คือ บริการ T&L สำหรับสินค้าฮาลาล เนื่องจากอาเซียนมีประชากรที่เป็นมุสลิมมากที่สุดในโลก และมาตรฐานสินค้าฮาลาลจะมีความสำคัญมากขึ้น ทำให้เกิดความต้องการบริการ T&L ที่สามารถสนับสนุนห่วงโซ่อุปทานของการผลิตสินค้าตามมาตรฐานฮาลาลได้ 
 
๐ การขยายตัวของบริการส่งเอกสารและพัสดุ (CEP) 
 
การเติบโตของบริการส่งเอกสารและพัสดุเป็นผลจากการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในอาเซียน โดยเฉพาะการพัฒนา ASEAN Broadband Corridor ซึ่งจะทำให้มีจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมากขึ้น และทำให้เกิดการขยายตัวของพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในอาเซียน โดยเฉพาะธุรกรรมระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภค (B2C) และผู้บริโภคกับผู้บริโภค (C2C) 
 
จำนวนประชากรในเขตเมืองที่เพิ่มขึ้น ทำให้ต้นทุนการเดินทางไปซื้อสินค้ามีต้นทุนสูงขึ้นจากการจราจรที่ติดขัด และการเพิ่มขึ้นของคนรุ่นใหม่ที่คุ้นเคยกับการซื้อสินค้าผ่านระบบออนไลน์ เป็นปัจจัยที่สนับสนุนให้มีความต้องการบริการ CEP เพิ่มสูงขึ้น 
 
๐ การขยายตัวของบริการ T&L สีเขียวและสีขาว 
 
ผู้ให้บริการ T&L ต้องตระหนักถึงประเด็นผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากการดำเนินการของตนมากขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคมีความต้องการสินค้าที่มีกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณต่ำ ในขณะที่ผู้ผลิตสินค้าจะแสวงหาผู้ให้บริการ T&L ที่ใช้เทคโนโลยีสีเขียว เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากกระบวนการผลิตให้ได้มากที่สุด 
 
นอกจากนี้ กฎระเบียบที่ต่อต้านการให้สินบนและคอร์รัปชันจะมีผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานของการผลิตสินค้ามากขึ้น ประชาชน นักลงทุนและภาครัฐ ให้ความสำคัญกับบรรษัทภิบาลมากขึ้น ดังนั้นผู้ให้บริการ T&L ที่มีการดำเนินการอย่างโปร่งใสและปราศจากสินบนจะเป็นที่ต้องการมากขึ้น 
 
สถานการณ์ในอุตสาหกรรม T&L ในอนาคตจะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จะเป็นทั้งโอกาสและภัยคุกคามสำหรับผู้ให้บริการ T&L ในท้องถิ่น อย่างไรก็ดี ความเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงไม่สำคัญเท่ากับความตระหนักและการเตรียมความพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว
 
 
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ
คอลัมน์ : ดร.แดน มองต่างแดน
 
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
 
แหล่งที่มาของภาพ : http://upic.me/i/tj/picpr5ok_resi