ภาวะผู้นำในภาวะวิกฤต

 

 
 
ขอเสนออย่างสร้างสรรค์                                              พฤศจิกายน  2554
ภาวะผู้นำในภาวะวิกฤต
 
แนวโน้มแรงงานไทยปี 54 ชี้วัด
ความเป็นอยู่ "ดีขึ้น" หรือ "แย่ลง" ?



รับฟังเรื่องอื่นๆ

1. รัฐมนตรีชุดใหม่ต้อง ดี-เก่ง-กล้า

2. มีบัตรประชาชนเด็กเป็นเรื่องดี แต่ต้องให้
คุ้มค่า

3. นโยบาย ICT ไม่ได้ไว้แค่หาเสียงต้องทำ
ได้จริงและเกิดประโยชน์ต่อประชาชน

4. ทางออก นโยบายแก้หนี้ประชาชนต้องแก้
อย่างเจาะจงและภาพรวมของประชาชนทั้ง
ประเทศ เพื่อให้เกิดรายได้ที่ยั่งยืน

5. อาวุธปืน ควรแล้วหรือ ที่จะเปิดเสรีให้
ประชาชนพกพา


ติดตาม ดร.แดนในทางอื่นๆ

 

 

 

 


             

    
 
นับตั้งแต่เกิดอุทกภัยครั้งรุนแรงที่สุดในรอบหลายสิบปี นายกรัฐมนตรีได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ค่อนข้างมากเกี่ยวกับภาวะผู้นำและประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ แต่ดูเหมือนว่ามีแนวคิดเกี่ยวกับภาวะผู้นำในการจัดการปัญหาน้ำท่วมอย่างน้อยสองแนวคิดที่แตกต่างกัน

แนวคิดแรก การใช้หลักวิชาการและอำนาจเบ็ดเสร็จ โดยผู้นำฝ่ายค้านได้อภิปรายในสภาผู้แทนราษฎรว่า การตัดสินใจของนายกรัฐมนตรีในการเปิด-ปิดประตูระบายน้ำควรใช้หลักวิชาการ ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับแรงกดดันของมวลชน ซึ่งสอดคล้องกับจุดยืนของพรรคฝ่ายค้านที่เสนอให้รัฐบาลประกาศใช้ พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน

แนวคิดที่สอง การใช้กระบวนการเจรจาต่อรอง
 บทความ "Negotiating the Flood" ที่เผยแพร่ในเว็บล็อกนิว แมนดาลา โดยผู้เขียนที่ใช้นามว่า Aim Sinpeng ได้เสนอความเห็นว่า ผู้มีอำนาจรัฐควรเปิดโอกาสให้ประชาชนในท้องถิ่นมีโอกาสเจรจาต่อรองกับแผนการจัดการน้ำของภาครัฐ ซึ่งน่าจะส่งผลให้ทั้งสองฝ่ายมีความเข้าใจในสถานการณ์น้ำท่วมได้ดียิ่งขึ้น

คำถามที่น่าสนใจ คือ การแสดงภาวะผู้นำในภาวะวิกฤตเช่นนี้ควรเป็นอย่างไร และที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีได้บริหารภาวะผู้นำได้ดีหรือไม่

สำหรับการวิเคราะห์ภาวะผู้นำของผู้นำรัฐบาลในสถานการณ์ปัจจุบัน ผมขออ้างอิงแนวคิดของศาสตราจารย์โรนัลด์ ไฮเฟท แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งได้กล่าวไว้ว่า บุคคลที่จะบริหารภาวะผู้นำได้ดีนั้น จะต้องมีลักษณะการทำงานแบบ Adaptive Work ซึ่งประกอบด้วยหลักการ 6 หลัก (อ่านเพิ่มเติมได้จากบทความเรื่อง ?ภาวะผู้นำ? สร้างได้ ซึ่งตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2550)

หลักที่ 1 การมองภาพรวม 
หลักที่ 2 การระบุความท้าทายที่ทำให้ต้องมีการปรับตัวใหม่ 
หลักที่ 3 การให้ความรับผิดชอบกลับไปยังทีมงาน 
หลักที่ 4 การควบคุม/บริหารความกดดัน 
หลักที่ 5 การรักษาการจดจ่อเป้าหมายอย่างเคร่งครัด 
หลักที่ 6 การเปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็น (Protecting Voice of Leadership from Below)

โดยผมจะวิเคราะห์การบริหารภาวะผู้นำของนายกฯ ผ่านภาพบางด้านที่ปรากฏหรือบางสถานการณ์ด้วยมุมมองของคนนอก ดังต่อไปนี้ 

สถานการณ์ที่ 1 นายกฯไม่นั่งเป็น ผอ.ศปภ.

การจัดโครงสร้างการบังคับบัญชาหน่วยงานที่รับผิดชอบการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมครั้งนี้ ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ว่า ทำไมนายกฯ ไม่เป็น ผอ.ศปภ.เพื่อลงไปบัญชาการด้วยตนเอง แต่ในความเป็นจริง แม้ ศปภ.เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญแต่ก็เป็นเพียงกลไกหนึ่งในการแก้ไขปัญหา การที่นายกฯไม่ลงไปเป็น ผอ.ศปภ.มีข้อดีเมื่อพิจารณาตามหลักการที่ 1 คือทำให้หลุดจากระบบปฏิบัติหรืองานเฉพาะหน้าที่มีจำนวนมาก ซึ่งอาจทำให้เห็นภาพรวมได้ดีกว่าการลงไปเล่นอยู่ในสนามด้วยตนเอง อย่างไรก็ตาม การที่นายกฯมีประสบการณ์จำกัดทั้งในเชิงการบริหารจัดการน้ำและการบริหารราชการแผ่นดิน เนื่องจากเพิ่งเข้ามาสู่แวดวงการเมืองได้ไม่นาน จึงทำให้เกิดความยากลำบากในการควบคุมและให้ทิศทางการทำงานของ ศปภ. ซึ่งส่งผลทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ในการดำเนินงานของ ศปภ. เช่น ความไม่มีเอกภาพในการทำงานและการให้ข้อมูลกับประชาชน การตั้งคนที่ไม่เหมาะสมกับงาน เป็นต้น แต่ปัญหาเหล่านี้ได้รับการแก้ไขบางส่วนในเวลาต่อมา

สถานการณ์ที่ 2 ความล้มเหลวในการป้องกันนิคมอุตสาหกรรม 

เมื่อพิจารณาด้วยหลักการที่ 2 ดูเหมือนว่า ในช่วงแรกที่เกิดวิกฤตการณ์ รัฐบาลไม่สามารถประเมินความรุนแรงของปัญหาและศักยภาพในการรับมือกับปัญหาได้ การแก้ไขปัญหาในช่วงแรกยังยึดติดกับวิธีการเดิมๆ ทั้งที่เกิดความล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปกป้องนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ กว่าที่การแก้ไขปัญหาต่างๆ จะเริ่มมีทิศทางและมีประสิทธิผล ก็เกิดความเสียหายขึ้นมากแล้ว แต่ในเวลาต่อมา รัฐบาลได้พยายามระดมความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศ และมีการใช้ข้อมูลในการวิเคราะห์ปัญหาและการตัดสินใจแก้ไขปัญหามากขึ้น ทำให้สามารถประเมินสถานการณ์ได้แม่นยำมากขึ้น และมีวิธีการจัดการปัญหาที่มีประสิทธิผลมากขึ้น

สถานการณ์ที่ 3 ผู้ว่าราชการบางจังหวัดกดดันรัฐบาลผ่านสื่อ

จากกรณีที่ผู้ว่าราชการบางจังหวัดไม่สามารถจัดการปัญหามวลชนในท้องที่ของตนเองได้ และกดดันรัฐบาลผ่านสื่อว่าไม่ตัดสินใจเด็ดขาดว่าจะทำอย่างไรกับปัญหามวลชน และเรียกร้องให้ส่งคนในรัฐบาลเข้ามาจัดการแทน แต่รัฐบาลยังยืนยันให้ผู้ว่าราชการรับผิดชอบการแก้ไขปัญหาต่อไปโดยให้ร่วมแก้ไขปัญหากับกองทัพ แต่ไม่รับงานนั้นกลับมาทำเอง แม้สถานการณ์นี้ดูเหมือนว่าผู้นำทิ้งให้ทีมงานแบกรับความรับผิดชอบโดยลำพัง แต่หากพิจารณาด้วยหลักการที่ 3 ถือว่าเป็นการบริหารภาวะผู้นำที่ถูกต้อง เพราะเป็นการผลักดันให้ทีมงานพยายามคิดหาหนทางแก้ไขปัญหา ซึ่งจะกระตุ้นให้เกิดการต่อยอดกระบวนการคิดและสร้างนวัตกรรมทางปัญญาเพิ่มขึ้น แต่หากพิจารณาสถานการณ์นี้ด้วยหลักการที่ 4 สะท้อนว่าผู้นำอาจไม่สามารถบริหารความกดดันกับทีมงานได้ดีพอ ขาดความไวต่อสถานการณ์ ขาดการบริหารความรู้สึกของทีมงานหรือไม่สามารถตอบสนองความต้องการของทีมงานได้ดีพอ จนทำให้ทีมงานได้รับแรงกดดันมากจนเกิดความเครียด เพราะไม่สามารถรับผิดชอบหรือทำงานให้บรรลุเป้าหมายได้ จนต้องออกมาแสดงความรู้สึกและความต้องการผ่านสื่อ แทนที่จะสะท้อนความต้องการผ่านสายการบังคับบัญชาปกติ

สถานการณ์ที่ 4 การยึดแนวทางปกป้องกรุงเทพชั้นใน

เป้าหมายสำคัญของรัฐบาล คือ การปกป้องพื้นที่กรุงเทพชั้นใน รวมถึงนิคมอุตสาหกรรมให้รอดพ้นจากอุทกภัย ซึ่งหากพิจารณาแนวการการทำงานของรัฐบาลก็มุ่งเป้าหมายนี้มาโดยตลอด แม้จะเกิดความล้มเหลวในการป้องกันนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่ง และมีน้ำท่วมเข้ามาในกรุงเทพชั้นในบางส่วน ตลอดจนมีข้อเสนอให้คนกรุงเทพร่วมเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขกับคนต่างจังหวัด โดยการผันน้ำผ่านกรุงเทพชั้นในลงทะเลให้เร็วที่สุด แต่รัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ ยังคงยึดแนวทางในการปกป้องกรุงเทพชั้นในต่อไป จนสถานการณ์น้ำท่วมกรุงเทพชั้นในบางส่วนเริ่มคลี่คลายลงแล้ว ทั้งนี้หากพิจารณาด้วยหลักการที่ 5 ถือว่าผู้นำสามารถทำให้ทีมงานรักษาการจดจ่อเป้าหมายได้อย่างเคร่งครัด

สถานการณ์ที่ 5 การคัดค้านและต่อต้านการดำเนินการของรัฐบาล

ปัญหาการคัดค้านการดำเนินการของรัฐบาล การรื้อแนวคันกั้นน้ำ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการกดดันให้รัฐบาลเปิดประตูระบายน้ำ สะท้อนให้เห็นถึงความผิดพลาดในการบริหารภาวะผู้นำตามหลักการที่ 6 กล่าวคือไม่ได้เปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็นอย่างเพียงพอ ถึงแม้ว่านายกฯได้เปิดโอกาสให้ผู้เชี่ยวชาญทั้งภาครัฐ เอกชน ต่างประเทศ หรือแม้แต่ผู้นำฝ่ายค้านแสดงความเห็น แต่กลับละเลยการรับฟังความเห็นของผู้นำชุมชนหรือบุคคลที่ไม่ได้มีตำแหน่งหรืออำนาจอย่างเป็นทางการ ซึ่งในสถานการณ์ วิกฤตเช่นนี้ อำนาจแบบเป็นทางการอาจใช้การไม่ได้เต็มที่ จึงต้องการอำนาจแบบไม่เป็นทางการมาช่วยเสริมความคิดและเสนอทางออกเชิงบูรณาการ ความผิดพลาดดังกล่าวจึงส่งผลทำให้ประชาชนที่ต้องแบกรับต้นทุนจากการดำเนินการของรัฐบาลต้องออกมาต่อต้าน จนผู้นำต้องยินยอมทำตามแรงกดดันของประชาชนการวิเคราะห์การบริหารภาวะผู้นำของนายกฯ จากสถานการณ์ข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่า นายกฯมีภาวะผู้นำในบางด้านและมีข้อผิดพลาดในบางด้าน แต่ก็มีแนวโน้มการบริหารภาวะผู้นำที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม การวิเคราะห์ดังกล่าวไม่สามารถสะท้อนภาวะผู้นำของนายกฯได้ทั้งหมด เพราะผู้เขียนไม่สามารถเก็บข้อมูลการบริหารงานของนายกฯได้ทั้งหมด ถึงแม้ว่าผู้นำรัฐบาลอาจมีข้อบกพร่องในการจัดการวิกฤตและขาดภาวะผู้นำในบางด้านในบางสถานการณ์ แต่เราจำเป็นต้องให้กำลังใจในความพยายามและการทำงานหนักของนายกฯต่อไป ดังคำกล่าวของศาสตราจารย์โรนัลด์ ไฮเฟท ที่ว่า ?ภาวะผู้นำเกิดจากแรงบันดาลใจ 1% และหยาดเหงื่อแรงกายอีก 99%?

 
อ่านบทความเรื่องอื่นๆ ได้ที่     www.drdancando.com
  
More about  : www.kriengsak.com
Create by : Kriengsak.com