ข้อเสนอแนะเพื่อการฟื้นฟูภาพลักษณ์ของประเทศไทย

 

เวลานี้ภาครัฐกำลังเดินหน้าทำให้น้ำที่กำลังท่วมนั้นลดลงและเริ่มต้นฟื้นฟูประเทศไทยไปด้วยในเวลาเดียวกัน คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) พร้อมคณะทำงานอีกหลายชุดถูกตั้งขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ประเด็นหนึ่งที่สำคัญเป็นอย่างยิ่ง คือ การเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมาจากทุกฝ่ายทั้งนักลงทุนจากในและต่างประเทศ โดยเวลานี้รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง วางแผนที่จะเดินทางไปยังประเทศต่างๆ เช่น ญี่ปุ่น เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงต่างๆ เป็นต้น
 
การฟื้นฟูภาพลักษณ์ของประเทศเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งแต่การฟื้นฟูประเทศในเวลานี้ต้องพึ่งพาทรัพยากรจากต่างประเทศด้วย เพราะมีความเสียหายในประเทศมาก ผู้ต้องการรับความช่วยเหลือมีมาก ภาคเศรษฐกิจได้รับความเสียหายมาก งบประมาณภาครัฐจึงไม่สามารถช่วยเหลือได้อย่างเพียงพอ การดึงดูดทรัพยากรจากต่างประเทศมายังประเทศไทยจึงจำเป็น นอกจากนี้การฟื้นฟูภาพลักษณ์ของประเทศต่อสายตานานาชาติยังไม่ได้ทำเพียงเพื่อหวังผลในระยะสั้นนี้เท่านั้น แต่ยังเป็นประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาวด้วย เนื่องจาก ภาพลักษณ์มีผลต่อการตัดสินใจของผู้คน (ทั้งในประเทศและต่างประเทศ) ในเรื่องการซื้อสินค้าและบริการ การลงทุน การเดินทางมาท่องเที่ยว การทำธุรกิจและการอพยพย้ายถิ่นฐาน ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับโลกโลกาภิวัตน์ที่มีการทำการค้าการลงทุนข้ามพรมแดนมากขึ้น ซึ่งเรื่องเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและความกินดีอยู่ดีของประเทศในที่สุด
 
ผมเห็นว่าภารกิจนี้เป็นงานสำคัญที่รัฐต้องทำอย่างจริงจัง ผมจึงมีข้อเสนอแนะบางประการที่อาจเป็นประโยชน์ต่อการฟื้นฟูภาพลักษณ์ของประเทศ เช่น
 
อาศัยมืออาชีพ โดยไม่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของรัฐฝ่ายเดียวเท่านั้น
 
การที่ภาครัฐพยายามเดินทางไปพบและชี้แจงให้นักลงทุนต่างชาติรับทราบนโยบายและข้อเท็จจริงนั้นเป็นสิ่งที่ควรทำ แต่อย่างไรก็ตามการอาศัยมืออาชีพในเรื่องการทำประชาสัมพันธ์นั้นจะช่วยให้การทำงานด้านประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ของประเทศเห็นผลชัดเจนขึ้น เนื่องจากคนเหล่านี้มีความเข้าใจและเชี่ยวชาญอย่างแท้จริง หลายประเทศที่ต้องการฟื้นฟูและสร้างภาพลักษณ์ของประเทศนั้นล้วนอาศัยมืออาชีพทั้งสิ้น เช่น อาร์เจนตินาใช้งบประมาณอย่างน้อยเจ็ดหลักจ้างบริษัท Bell Pottinger ในการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวและการทำธุรกิจในยุโรปและสหรัฐ ขณะที่รัสเซียจ้างบริษัท Ketchum เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่เป็นบวกในสายตาของต่างชาติ หรือแม้แต่การจัดงานโอลิมปิกที่จีนในปีพ.ศ.2551 และการจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกที่อาฟริกาใต้ในปีพ.ศ.2553 ยังอาศัยมืออาชีพในการทำประชาสัมพันธ์ เป็นต้น
 
ผมคิดว่าภาครัฐควรนำนักประชาสัมพันธ์มืออาชีพเข้ามาร่วมตั้งเป็นคณะทำงานในการวางแผนเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ และทำให้การประชาสัมพันธ์และสร้างภาพลักษณ์ประเทศไทยมีประสิทธิผลอย่างแท้จริง  
 
ใช้ทรัพยากรทุกอย่างและทุกช่องทางอย่างเต็มที่ 
 
การทำโรดโชว์หรือการออกไปชี้แจงกับกลุ่มนักลงทุนไม่ใช่เพียงช่องทางเดียวที่ทำได้ ภาครัฐยังมีช่องทางอีกจำนวนมากทั้งออนไลน์และออฟไลน์ 
ช่องทางออนไลน์ เช่น เฟสบุ๊ก ทวิตเตอร์ มายสเปซ กูเกิลพลัส ซึ่งสามารถส่งต่อเนื้อหาได้ทั้งในลักษณะ ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว บทสัมภาษณ์ ความเห็น บทวิเคราะห์ จากฝ่ายต่างๆ โดยการอาศัยเครือข่ายทางสังคมออนไลน์นี้จะทำให้เราสามารถเข้าถึงคนทั่วโลกได้อย่างรวดเร็วและใช้ทรัพยากรน้อยกว่า ซึ่งเราจะเห็นว่าในช่วงน้ำท่วมนี้มีการอาศัยเครือข่ายทางสังคมในการสร้างเครือข่าย การจัดตั้งกลุ่มต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย ระดมทรัพยากร ระดมคนได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งเราสามารถใช้แนวทางนี้ในการฟื้นฟูภาพลักษณ์ของประเทศ
 
ขณะที่ช่องทางออฟไลน์ เช่น การปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล การอาศัยนักร้อง นักแสดงทั้งไทยและ ออกมาปรากฏตัว ในสื่อที่มีการรายงานข่าวไปทั่วโลก แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงและความสวยงามของประเทศหลังเกิดวิกฤตในระยะเวลาสั้น หรือแม้แต่การอาศัยสายการบิน เหมือนอย่างเช่นออสเตรเลียใช้ Air Australia ในการช่วยสร้างภาพลักษณ์ให้แก่ประเทศ เป็นต้น 
 
จัดตั้งโครงสร้างเพื่อดำเนินการระยะยาวอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่เพียงระยะสั้นเท่านั้น
 
การสร้างภาพลักษณ์ให้แก่ประเทศนั้นต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง มีหลายประเทศที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เช่น เกาหลีใต้จัดตั้งสภาประธานาธิบดีเพื่อการสร้างภาพลักษณ์แก่ประเทศ (Presidential Council on Nation Branding) โดยมีวิสัยทัศน์เพื่อสร้างเกาหลีใต้ให้มีภาพลักษณ์ในระดับเดียวกับกลุ่มประเทศในโออีซีดีและทำให้มูลค่าแบรนด์จากการจัดอันดับของ Anholt-GfK Roper Nation Brands Index เกาหลีใต้ติดอันดับ 1 ใน 15 ในปี พ.ศ.2556 (จากอันดับที่ 33 ในปีพ.ศ.2552)
 
เวลานี้เกาหลีใต้ริเริ่มโครงการสร้างภาพลักษณ์ในสายตาชาวโลกอย่างต่อเนื่อง เช่น ส่งเสริมกีฬาเทควันโด ส่งอาสาสมัคร (ซึ่งเรียกว่า ?Korean Supporters?) ไปทั่วโลกปีละ 3,000 คน เพื่อทำกิจกรรมที่สนับสนุนประเทศในต่างแดน จัดตั้งโครงการ ?Global Korea Scholarship? แลกเปลี่ยนนักศึกษาและนักวิชาการกับประเทศต่างๆ เพื่อช่วยพัฒนาภาพลักษณ์ของประเทศในสายตาของนักศึกษาและนักวิชาการต่างชาติ หรือแม้แต่การพัฒนาประชาชนชาวเกาหลีในการเป็น ?ประชากรโลก?  เป็นต้น
 
โดยสรุปแล้วการสร้างภาพลักษณ์เป็นเรื่องเร่งด่วนจำเป็นที่ต้องทำ แต่อย่างไรก็ตามเราไม่ควรจดจ่อกับเรื่องการสร้างภาพลักษณ์เพียงอย่างเดียว อย่าลืมว่าภาพลักษณ์ที่ดีนั้นเป็นผลมาจากการดำเนินนโยบายที่ดีด้วย ดังนั้นภาครัฐต้องสนใจการดำเนินนโยบายอื่นๆ ในภาพรวมด้วยและที่สำคัญการจะประสบความสำเร็จในการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้ประเทศนั้นต้องมีการกำหนดวิสัยทัศน์ชาติที่ชัดเจนท้าทายและยึดมั่นอยู่กับวิสัยทัศน์นั้นจนกว่าจะสำเร็จ ไม่จำเป็นต้องเหมือนใครและอย่าพยายามที่จะเลียนแบบใคร 
ก่อนจะเริ่มฟื้นฟูภาพลักษณ์ของประเทศ วันนี้เราได้กำหนดวิสัยทัศน์ชาติที่ชัดเจนแล้วหรือยัง?