แนวทางการทำงานเพื่อสังคมเชิงรุก

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.com, http:// www.kriengsak.com

สังคมไทยมีการตระหนักถึงความสำคัญและริเริ่มดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาสังคมมาเป็นระยะเวลายาวนานนับร้อยปี แต่แม้ว่าจะเป็นเช่นนั้น แนวทางการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมาก็ยังไม่สามารถตามทันกับปัญหาสังคมที่นับวันจะยิ่งมีความรุนแรงและสลับซับซ้อนมากขึ้นได้ ซึ่งสาเหตุสำคัญประการหนึ่งก็เนื่องมาจากแนวทางการทำงานเพื่อสังคมส่วนใหญ่ ยังคงให้ความสำคัญกับการทำงานในลักษณะของการตั้งรับหรือการวิ่งไล่ตามปัญหา มากกว่าที่จะมุ่งให้เกิดผลสัมฤทธิ์ใน
ระยะยาวอย่างยั่งยืน

แม้ว่าในปัจจุบันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม จะเริ่มมีการตื่นตัวและมีการปรับบทบาทของตนเองในการทำงานร่วมกันมากขึ้น เช่น ภาครัฐปรับเปลี่ยนนโยบายให้มีลักษณะของการสนับสนุนองค์กรสาธารณะประโยชน์มากขึ้น เช่นเดียวกับภาคเอกชนบางส่วนที่เริ่มหันมาดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคม เช่น CSR หรือการเกิดขึ้นและดำรงอยู่ของเครือข่ายภาคประชาสังคมที่ทำงานเพื่อสังคมอย่างแพร่หลาย แต่อย่างไรก็ตาม หน่วยงานเหล่านี้ก็ยังไม่สามารถที่จะพาตนเองให้ก้าวข้ามผ่านพรมแดนทางความคิดและข้อจำกัดที่องค์กรของตนเองประสบอยู่ไปได้ จึงทำให้การทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาสังคมในภาพรวมขาดเอกภาพและขาดพลังอย่างที่ควรจะเป็น

การดำเนินงานแบบผู้ประกอบการเพื่อสังคม (social entrepreneur) นับว่าเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการทำงานแบบเชิงรุก ที่มิใช่การวิ่งไล่ตามปัญหาแต่เป็นการวิ่งไปไกลกว่าปัญหาสังคมที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นแนวคิดที่มุ่งแสวงหาแนวทางเพื่อเอาชนะข้อจำกัดหรืออุปสรรคที่องค์กรเพื่อสังคมโดยส่วนใหญ่มักจะประสบอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการขาดแคลนเงินทุนในการดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคม การไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเพียงพอ และการไม่สามารถก้าวทันกับปัญหาสังคมที่มีความสลับซับซ้อนมากขึ้น โดยการพยายามคิดค้นและแสวงหานวัตกรรม รวมทั้งรูปแบบที่เหมาะสมในแก้ไขปัญหาดังกล่าว เช่นเดียวกับการใช้ทักษะทางธุรกิจเป็นเครื่องมือเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ทางสังคม

ตัวอย่างขององค์กรประเภทนี้ที่สามารถเห็นได้ในสังคมไทยปัจจุบัน เช่น โครงการพัฒนาดอยตุง โครงการดอยคำ สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน โครงการกองทุนเวลาเพื่อสังคม หรือทีวีบูรพา ซึ่งที่ผ่านมาองค์กรเหล่านี้ได้สร้างคุณประโยชน์และคุณค่าให้กับสังคมอย่างมากมายมหาศาล ทั้งการสร้างงานสร้างรายได้ให้กับคนในพื้นที่ การกระตุ้นให้เกิดจิตสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม แม้ว่าองค์กรเหล่านี้จะได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่าง ๆ ในปริมาณที่ไม่เพิ่มมากขึ้นไปจากเดิม ก็ไม่ส่งผลกระทบกับการดำเนินงานเพื่อสังคมที่องค์กรเหล่านี้ดำเนินการอยู่มากนัก

ในอนาคตหากสังคมไทยยังปรารถนาที่อยากจะเห็นมิติใหม่ในการแก้ไขปัญหาสังคมเกิดขึ้น การดำเนินงานแบบเชิงรุกจึงดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ซึ่งจำเป็นต้องทำควบคู่กันไปกับการปรับตัวของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

admin
Catagories: 
เผยแพร่: 
หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย
เมื่อ: 
2009-04-17