วิกฤตคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็ก
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.com, http:// www.kriengsak.com
สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) เผยผลประเมินคุณภาพภายนอกรอบสอง พ.ศ.2549-2551 พบว่า ระดับขั้นพื้นฐาน โรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ผ่านการประเมินน้อยสุด ร้อยละ 79.5 ขณะที่สังกัดกรุงเทพฯ ผ่านการประเมินมากสุด ร้อยละ 94.88 รองลงมาคือ สังกัดเทศบาล สำนักบริหารงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ร้อยละ 92.31, 89.71, และ 88.89 ตามลำดับ หากพิจารณาขนาดสถานศึกษาพบ โรงเรียนขนาดเล็กผ่านการประเมินน้อยสุดร้อยละ 76.45 ขณะที่สถานศึกษาขนาดใหญ่พิเศษผ่านประเมินมากสุด ร้อยละ 98.5 รองลงมาเป็นขนาดใหญ่ ร้อยละ 95.61
โรงเรียนที่ไม่ผ่านประเมิน ส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนขนาดเล็กสังกัด สพฐ. โรงเรียนระดับขั้นพื้นฐาน ทุกสังกัด ทุกขนาดที่เข้ารับประเมินมี 20,184 แห่ง ส่วนใหญ่สังกัด สพฐ. 18,088 แห่ง (ทั้งหมด 32,256 แห่งปี 2550) ไม่ผ่านประเมิน 3,772 แห่ง เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก 3,389 แห่ง หากลงในรายละเอียดพบว่า ปีการศึกษา 2549-2550 มีโรงเรียนขนาดเล็ก สังกัด สพฐ. ที่นักเรียนไม่เกิน 120 คนถึงร้อยละ 40 ของโรงเรียนสังกัด สพฐ.ทั้งหมดแต่ละปีรัฐอุดหนุนงบฯจำนวนมาก แต่คุณภาพการศึกษากลับไม่เพิ่มเท่าที่ควร
ฉะนั้นแล้ว รัฐบาลควรทบทวนการจัดการศึกษาของกลุ่มโรงเรียนขนาดเล็กเหล่านี้ ให้มีคุณภาพและให้โอกาสทางการศึกษาแก่ประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ผมเสนอว่าควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ใกล้เคียง เพราะที่ผ่านมาคงต้องยอมรับว่า ความพยายามปฏิรูปการศึกษาได้พิสูจน์แล้วว่า การจัดการโรงเรียนขนาดเล็กให้มีคุณภาพทำได้ยากในสภาพที่รัฐมีงบฯ จำกัด อีกทั้งเป็นการใช้ทรัพยากรที่ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร
ดังนั้นผมเห็นว่า แนวทางการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่ควรศึกษาถึงความเป็นไปได้ ศึกษาแนวทางดำเนินงานอย่างเป็นระบบ ให้เกิดผล
กระทบเชิงลบน้อยที่สุด และมีมาตรการชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างสมเหตุสมผล โดยคัดเลือกโรงเรียนศูนย์รวมโรงเรียนขนาดเล็กแห่งอื่น ๆ การอุดหนุนงบฯ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านอาคารสถานที่ บุคลากร และการเรียนการสอน ให้มีคุณภาพได้มาตรฐาน พัฒนาระบบการขนส่งจากบ้านถึงโรงเรียนโดยเฉพาะในเขตพื้นที่ห่างไกล โดยร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทยหรือหน่วยงานอื่น ๆ การกำหนดมาตรการและกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารโอนย้ายบุคลากรทางการศึกษาอย่างเป็นระบบ รวมถึงการพัฒนาระบบและวิธีการอุดหนุนรายหัวและการอุดหนุนสถานศึกษาที่บนหลักประสิทธิภาพควบคู่คุณภาพ ไม่ได้อุดหนุนฯ เท่ากันหมด เพื่อจูงใจให้สถานศึกษาขยับตัวพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพจัดการศึกษา รวมถึงพัฒนาสื่อการศึกษาหรือการสอนในชั้นเรียนจากครูที่มีคุณภาพ ถ่ายทอดผ่านสถานีวิทยุโทรทัศน์เพื่อการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ (ETV) ไปยังโรงเรียนขนาดเล็กและชุมชนต่างๆโดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล หรือพื้นที่ที่ขาดแคลนครู เป็นต้น