ถึงเวลาธุรกิจต้องแปลงร่าง



ที่มาของภาพ .jpghttp://www.nascio.org/awards/ntc/images/mechling
เมื่อไม่นานมานี้ ผมได้มีโอกาสเป็นผู้ร่วมสอนในหลักสูตร ldquo;ความเป็นผู้นำในโลกยุคเครือข่ายrdquo; (Leadership for a Networked World) ซึ่งศาสตราจารย์ เจอร์รี่ เม็คคลิง (Jerry Mechling) แห่ง John F. Kennedy School of Government มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เป็นหัวหน้าหลักสูตร
หัวข้อหลักของการโครงการนี้ คือ ldquo;Cross-Boundary Transformationrdquo; ซึ่งหมายถึงการแปลงรูปขององค์กรข้ามขอบเขต กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ การแปลงรูปองค์กรและกลุ่มองค์กรเพื่อให้สามารถทำงานข้ามขอบเขตขององค์กรหรือขอบเขตประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) เป็นแรงขับเคลื่อนและเครื่องมือสำคัญของการทำงานข้ามขอบเขต
แม้ IT ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการดำเนินงานขององค์กรต่าง ๆ ค่อนข้างมากแล้ว โดยทำให้การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและการบริการเป็นไปได้โดยสะดวกและมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ลูกค้าสามารถเข้าถึงบริการได้ทุกที่และทุกเวลา โดยการเชื่อมต่อเครือข่ายแบบออนไลน์ (online)
ถึงกระนั้น การใช้ IT ที่ผ่านมา เป็นเพียงการปรับปรุงกระบวนการกระจายสินค้าและบริการ โดยมีการใช้ IT ในการปรับปรุงกระบวนการผลิตเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ขณะที่ผลิตภาพขององค์กรและผู้ปฏิบัติงานไม่เปลี่ยนแปลง ยิ่งไปกว่านั้น ผลประโยชน์ที่ได้รับจากการใช้ IT ในองค์กรกำลังมีแนวโน้มเติบโตในอัตราที่ต่ำลงเรื่อย ๆ
แนวโน้มการใช้ IT ในการดำเนินงานกำลังก้าวสู่ยุคที่สอง คือ การนำ IT เข้ามาเพิ่มผลิตภาพตลอดทั้งกระบวนการผลิต รวมถึงตลอดสายโซ่แห่งคุณค่า (value chain) ของอุตสาหกรรม ตั้งแต่อุตสาหกรรมต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ซึ่งจะทำให้อัตราการเพิ่มขึ้นของผลิตภาพเร่งตัวขึ้นอีกครั้ง
การใช้ IT ในยุคแรกเพื่อกระจายสินค้าและบริการนั้น ไม่ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างการทำงานและบทบาทของคนภายในองค์กร แต่ยุคที่สองของการใช้ IT จะต้องมีการแปลงรูปโครงสร้างการทำงานและบทบาทของคนในองค์กร ซึ่งเป็นการแปลงรูปข้ามขอบเขตองค์กร โดยมุ่งสู่ความร่วมมือระดับโลก (Global collaboration) มากขึ้น
ความร่วมมือในแบบ collaboration เป็นความร่วมมือทางธุรกิจในระดับที่ลึกกว่าความร่วมมือในรูปแบบอื่น ๆ เพราะเป็นการทำงานร่วมกับองค์กรอื่นเหมือนกับเป็นองค์กรเดียวกัน มีเป้าหมายร่วมกัน มีความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมกัน มีการแบ่งปันและแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารร่วมกัน และมีการดำเนินงานด้านต่าง ๆ ร่วมกัน เช่น การให้บริษัทอื่นมีส่วนร่วมให้ input การร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์ การร่วมตัดสินใจเชิงนโยบายบางด้าน เป็นต้น
ตัวอย่างของรูปแบบของการแปลงรูปข้ามขอบเขตองค์กรและความร่วมมือระดับโลก อาทิ
- โรงพยาบาลในบางรัฐของสหรัฐอเมริกาได้จัดทำฐานข้อมูลคนไข้ด้วยมาตรฐานเดียวกัน และทำการเชื่อมโยงฐานข้อมูลคนไข้ร่วมกัน ทำให้แพทย์มีข้อมูลคนไข้มากขึ้นโดยเฉพาะคนไข้ฉุกเฉิน และทำให้การรักษาทางไกลมีความเป็นไปได้มากขึ้น
- Digital Earth Project พัฒนา Global Spatial Data Infrastructure เพื่อให้องค์กรต่าง ๆ ทั่วโลก ได้เรียนรู้ ทำวิจัย และแบ่งปันข้อมูลการบริหารทรัพยากรร่วมกัน ทำให้เกิดฐานข้อมูลด้านภูมิศาสตร์และทรัพยากรของโลกที่มีความครบถ้วน โดยเกิดจากความร่วมมือขององค์กรที่เป็นสมาชิก
- บริษัทซีเมน (Siemen) พัฒนาซอฟท์แวร์สามมิติสำหรับการออกแบบผลิตภัณฑ์/โครงการ เพื่อให้พนักงานจากหน่วยงานเครือข่ายทั่วโลก เข้าใจทิศทางและสถานะของการออกแบบ และสามารถเข้ามาร่วมออกแบบได้
- สารานุกรม Wikipedia ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้ใช้สารานุกรมทางอินเทอร์เน็ตสามารถเข้ามาเพิ่มเติมหรือแก้ไขเนื้อหาในสารานุกรมได้ ทำให้เกิดสารานุกรมที่มีข้อมูลจำนวนมหาศาลและมีความครอบคลุม โดยเกิดจากมุมมองของผู้ใช้ที่หลากหลาย และยังมีการตรวจสอบเนื้อหากันเองโดยผู้ใช้สารานุกรม
ความร่วมมือระหว่างองค์กรธุรกิจมีแนวโน้มจะขยายไปสู่การร่วมกันวิจัยและพัฒนานวัตกรรม และการร่วมมือด้านการตลาดมากขึ้น รวมทั้งจะมีการขยายความร่วมมือไปสู่ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียมากขึ้น เช่น การให้ลูกค้ามาเป็นคณะกรรมการที่ปรึกษาของบริษัท (Customer Advisory Boards) โดยเชิญเข้าร่วมประชุมวางแผนประจำปีของบริษัท เพื่อสร้างความสัมพันธ์ ฟังเสียงและทำความเข้าใจความต้องการของลูกค้า เป็นต้น
ปัจจัยที่ทำให้องค์กรชั้นนำในโลกสร้างความร่วมมือกับองค์กรอื่น ๆ ในโลกมากยิ่งขึ้น นอกจากการพัฒนา IT ที่ทำให้การติดต่อสื่อสารสะดวก รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และมีต้นทุนต่ำแล้ว การที่สินค้ามีความซับซ้อนมากขึ้น การแข่งขันที่ต้องใช้นวัตกรรมมากขึ้น เทคโนโลยีมีลักษณะรวมกัน (convergence) มากขึ้น วงจรชีวิตของสินค้าสั้นลง และผู้บริโภคมีความต้องการที่หลากหลายและพิถีพิถันในการเลือกซื้อสินค้ามากขึ้น ทำให้องค์กรต่าง ๆ ต้องร่วมมือกับองค์กรอื่นและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างใกล้ชิดมากขึ้น
อย่างไรก็ดี การแปลงรูปองค์กรข้ามขอบเขตมีความท้าทายใหม่ ๆ ที่ผู้นำองค์กรต้องเผชิญ ได้แก่ จำนวนคนเข้ามาเกี่ยวข้องมากขึ้น ความซับซ้อนสูงขึ้น ผลสะท้อนกลับ (feedback) อยู่ห่างไกลและช้ากว่าเดิม งานที่ทำไม่ใช่งานเชิงเทคนิคแต่เป็นงานดัดแปลง (adaptive work) อำนาจบังคับบัญชาอย่างเป็นทางการลดลง มีผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแปลงรูป และมีสิ่งคุกคามที่เกิดขึ้นอย่างช้า ๆ แต่ต่อเนื่อง
ถึงกระนั้น ผู้นำขององค์กรภาคธุรกิจจำเป็นต้องเรียนรู้และเริ่มก้าวออกจากสภาพการดำเนินธุรกิจแบบเดิม ๆ ไปสู่บริบททางธุรกิจแบบใหม่ที่มีการแข่งขันและการแบ่งปันกันมากขึ้น ซึ่งหมายถึงความต้องการโครงสร้างองค์กรแบบใหม่ ทักษะของบุคลากรแบบใหม่ วิธีการทำงานแบบใหม่ องค์ความรู้และเทคโนโลยีใหม่
จึงถึงเวลาแล้วที่ธุรกิจต้องแปลงร่าง หากต้องการแข่งขันได้ในสภาพแวดล้อมทางธุรกิจในอนาคต
* นำมาจากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันพุธดีที่25 มิถุนายน 2551
admin
เผยแพร่: 
0
เมื่อ: 
2008-06-26