การมีส่วนร่วมและการเสียสละเพื่อส่วนรวม?ไม่ควรเป็นภาระอีกต่อไป
การพัฒนาชุมชนให้มีความเจริญอย่างยั่งยืนนั้น ต้องอาศัยความร่วมมือและความเสียสละจากหลายฝ่าย หลายภาคส่วนในสังคม ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนในชุมชนเอง อย่างไรก็ดี การพัฒนาชุมชนจะดำเนินไปได้อย่างราบรื่นมากน้อยเพียงใดนั้น ส่วนหนึ่งขึ้นกับผู้ที่มีบทบาทในการบริหารชุมชนส่วนร่วม ซึ่งก็คือ กลุ่มผู้นำชุมชน อันได้แก่ ประธานชุมชนและคณะกรรมการชุมชน ซึ่งเป็นบุคคลที่ได้รับความไว้วางใจจากชาวบ้านให้เข้ามาเป็นตัวแทนในการพัฒนาชุมชนที่ตนเองอาศัยอยู่
บทบาทการเป็นผู้นำชุมชนย่อมนำมาซึ่งความรับผิดชอบที่ต้องไปควบคู่กัน ผู้นำชุมชนจึงควรเป็นผู้ที่อาสาตัว เสียสละเวลาส่วนตัว เพื่อเข้ามาช่วยรับผิดชอบดูแลงานในชุมชน และบ่อยครั้งที่การเสียสละเพื่อชุมชนกลายเป็นบรรทัดฐานและความคาดหวังของคนในชุมชนที่มีต่อผู้นำชุมชนทันทีหลังจากเข้ารับตำแหน่ง
จากประสบการณ์ที่ผมได้พบปะกับพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดกับประธานชุมชนและคณะกรรมการชุมชนนับหลายร้อยคนในเขตกรุงเทพมหานคร ผมพบความจริงประการหนึ่งคือ การทำงานเพื่อชุมชนอย่างอาสาตัวเช่นนี้ ต้องอาศัยการเสียสละอย่างแท้จริง เนื่องจากงานบริหารชุมชนนี้เป็นงานที่ไม่มีรายได้หรือค่าตอบแทนประจำ แต่มีภาระความรับผิดชอบสูง ถึงขนาดที่ว่า บางท่านต้องเสียสละเวลาและทรัพย์สินส่วนตัว เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการต่าง ๆ เช่น ค่าเดินทางในการไปร่วมประชุมสัมมนาต่างจังหวัด ค่ากินค่าอยู่ ค่าภาษีสังคมที่มีมากขึ้น ไม่เพียงเท่านั้นบางคนยังประสบกับปัญหาครอบครัว เนื่องจากไม่มีเวลาให้ครอบครัวและสูญเสียรายได้ ผู้นำชุมชนที่สามารถแบกรับภาระเหล่านี้ได้ก็ยังคงทำงานนี้ต่อไป แต่ก็ไม่สามารถทำได้อย่างเต็มที่มากนัก ส่วนบางคนที่ไม่สามารถแบกรับได้ก็จำเป็นต้องถอนตัวออกไป แม้ว่าจะยังมีความตั้งใจก็ตาม
รัฐบาลหรือกรุงเทพมหานครน่าจะมีส่วนช่วยแบ่งเบาภาระที่พวกเขากำลังแบกรับอยู่นี้ เพื่อเป็นขวัญกำลังใจและทำให้พวกเขาสามารถทำงานเพื่อชุมชนได้อย่างเต็มที่มากขึ้น ซึ่งสำหรับบางคนแล้ว แม้ว่าจะไม่ได้รับการช่วยเหลือใด ๆ พวกเขาก็ยังคงมีความตั้งใจและเต็มใจที่จะทำงานนี้ต่อไป แต่การสนับสนุนที่ได้รับน่าจะช่วยสร้างขวัญกำลังใจให้กับผู้นำชุมชนได้ไม่มากก็น้อย สิ่งที่อาจจะช่วยสนับสนุนการทำงานของผู้นำชุมชนเหล่านี้ อาจไม่จำเป็นต้องเป็นค่าตอบแทนเสมอไป แต่อาจอยู่ในรูปปแบบสวัสดิการต่าง ๆ เช่น การประกันอุบัติเหตุจากการปฏิบัติหน้าที่ การได้รับสิทธิ fast track เมื่อเข้ารับบริการจากโรงพยาบาลของรัฐหรือของ กทม. เป็นต้น
เราต้องพยายามทำให้การมีส่วนร่วมและการเสียสละเพื่อส่วนรวมไม่เป็นภาระอีกต่อไป แต่จะเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสำหรับการพัฒนาคนและพัฒนาชุมชนให้เจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืน
เผยแพร่:
หนังสือพิมพ์บางกอกทูเดย์
เมื่อ:
2008-06-19