กิจกรรมสร้างสรรค์รองรับช่วงปิดเทอม

งานสัมมนา ldquo;สิทธิเด็กและเยาวชนที่เป็นผู้บริโภคในธรรมนูญสุขภาพแห่งชาติrdquo; เมื่อ 17 มีนาคม พ.ศ. 2551 ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ มีการกล่าวถึง ปัญหากิจกรรมของเด็กนักเรียนในช่วงปิดเทอม โดยนายแพทย์สุริยเดว ทรีปาตี อาจารย์กุมารแพทย์ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวว่าประเทศไทยขาดหน่วยงานรับผิดชอบจัดกิจกรรมให้เด็กนักเรียนช่วงปิดเทอม วงจรชีวิตของเด็กนักเรียนในช่วงนี้กว่าร้อยละ 80-90 จะนอนดึกตื่นสาย เล่นอินเทอร์เน็ต เล่นเกมส์จนถึงเที่ยงคืน ซึ่งนำไปสู่โรคอ้วน สมองเฉื่อยช้า และกระบวนทางความคิดไม่พัฒนา นอกจากนี้ หลายครอบครัวนิยมส่งลูกไปเรียนกวดวิชาแทนการทำกิจกรรมนอกหลักสูตร ที่ช่วยพัฒนาทักษะทางสังคม
ผมมีความเห็นว่าช่วงปิดเทอมใหญ่ซึ่งกินเวลาประมาณ 1 เดือน เป็นช่วงที่เด็กนักเรียนควรมีโอกาสทำกิจกรรมที่พัฒนาทักษะด้านอื่น นอกเหนือจากทักษะด้านวิชาการที่ได้รับจากโรงเรียน รวมถึงทำกิจกรรมสร้างประโยชน์ให้สังคม ซึ่งอาจทำได้ยากในช่วงเปิดเทอม ซึ่งต้องยอมรับว่าประเทศไทยขาดกิจกรรมทางเลือกเหล่านี้ ดังนั้น เมื่อถึงช่วงปิดเทอมเด็กนักเรียนส่วนใหญ่จึงเสียเวลาไปกับการดูโทรทัศน์ กิน นอน เที่ยว เล่น ฯลฯ ขณะที่ในต่างประเทศ ช่วงปิดเทอมพ่อแม่ผู้ปกครองส่วนใหญ่มักจะพาเด็กนักเรียนเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ที่มีการจัดขึ้น ซึ่งมีทั้งกิจกรรมที่ให้ความสนุกสนาน กิจกรรมที่เสริมสร้างพัฒนาการทางสังคม และกิจกรรมช่วยเหลือสังคม ตัวอย่างดังนี้
อังกฤษ: ศูนย์เมเนอร์แอดเวนเจอร์ (Manor Adventure) ประเทศอังกฤษมีศูนย์ที่จัดกิจกรรมสำหรับเด็กและเยาวชนอยู่หลายศูนย์ แต่ศูนย์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือ ศูนย์เมเนอร์แอดเวนเจอร์ ศูนย์แห่งนี้มีวิทยากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการจัดกิจกรรมมากกว่า 35 กิจกรรม และมีที่พักที่สะดวกสบาย เหตุผลที่พ่อแม่ผู้ปกครองในอังกฤษนิยมใช้บริการศูนย์นี้ เนื่องจากเชื่อว่า การปล่อยให้เด็กมีอิสระในการทำกิจกรรมอย่างสนุกสนานกับเพื่อน เด็กจะมีพัฒนาการทางร่างกายและจิตใจที่ดีขึ้น
กิจกรรมที่จัดขึ้นสำหรับเด็กและเยาวชนจะแบ่งตามช่วงวัย อาทิ กิจกรรมสำหรับเด็กวัยอนุบาล (Kids Adventure) อายุ 5-7 ปี เป็นวัยที่เน้นกิจกรรมสนุกสนานและน่าตื่นเต้น เช่น การลอดถ้ำจำลอง ตั้งค่ายพักแรม วาดภาพระบายสี เล่นฮอกกี้ เล่นว่าว ฟังและเล่านิทาน ปิกนิก เล่นกีฬา ร้องเพลง กิจกรรมลูกเสือ การเดินสำรวจธรรมชาติ ว่ายน้ำ ไปเที่ยวสวนสัตว์ เป็นต้น กิจกรรมสำหรับเด็กประถมศึกษา (Junior Adventure) อายุ 8-12 ปี และกิจกรรมสำหรับวัยรุ่น (Teenage Challenge) อายุ 13-17 ปี เป็นช่วงวัยที่เริ่มเข้าสังคม ชอบทำกิจกรรมที่สนุกสนานและท้าทายความสามารถ โดยกิจกรรมของ 2 ช่วงวัยนี้ คล้ายคลึงกัน เช่น พายเรือแคนู พายเรือคยัค ยิงปืนไรเฟิล ยิงธนู เล่นวอลเลย์บอล เล่นฮอกกี้ เล่นกีฬาฟันดาบ เล่นกีฬาทางน้ำ ปีนผาจำลอง ไต่เชือก โรยตัวจากหอ ปั่นจักรยาน ทักษะการเอาตัวรอดในป่า เดินป่าชมธรรมชาติ ฝึกต่อแพ ตั้งค่ายพักแรม ฝึกถ่ายทำวีดีโอ หลักสูตรสร้างความมั่นใจให้แก่ตนเอง ฯลฯ กิจกรรมเหล่านี้ช่วยพัฒนาทักษะการเอาตัวรอด ฝึกการควบคุมตนเอง สร้างความมั่นใจในตนเอง ฝึกทักษะทางกีฬา ฝึกความเป็นผู้นำ การแก้ปัญหา และการทำงานเป็นทีม ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นสำหรับการใช้ชีวิต
แคนาดา: กิจกรรมอาสาสมัคร (Volunteer Canada) แคนาดาถือว่าเป็นประเทศที่มีอาสาสมัครมากที่สุดประเทศหนึ่งของโลกและมีอาสาสมัครเพิ่มขึ้นทุกปี แคนาดาจะมีองค์กรที่เรียกว่า ldquo;Volunteer Canadardquo; เป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร บริหารงานโดยคณะกรรมการจากองค์กรอาสาสมัครหลายองค์กร ปัจจุบันมีศูนย์อาสาสมัคร (Volunteer Centres) มากกว่า 200 ศูนย์ทั่วประเทศ คอยให้บริการตามชุมชนต่าง ๆ และเปิดรับอาสาสมัครผ่านเว็บไซต์ส่วนกลาง www.volunteer.ca เพื่อแนะนำที่ตั้งองค์กรอาสาสมัครที่มีอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งมีการเก็บข้อมูลใหม่ตลอดเวลา เด็กนักเรียนในแคนาดาสามารถเข้ามาค้นหาข้ออาสาสมัครด้านที่สนใจ อาทิ ด้านสุขภาพ การศึกษา การบริการสังคม เด็กและเยาวชน กีฬาและนันทนาการ ศิลปและวัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม เด็กและเยาวชนส่วนใหญ่ที่เข้าร่วมเป็นอาสาสมัครให้เหตุผลว่า ต้องการเข้ามาแสวงหาความท้าทาย ต้องการเรียนรู้เกี่ยวกับชุมชนและสังคม ต้องการสร้างความมั่นใจให้ตนเอง ต้องการฝึกการพึ่งพาตนเอง รวมถึงเข้ามาเพื่อค้นหาทางเลือกในการทำงาน
ตัวอย่างจาก 2 ประเทศ เป็นตัวอย่างการจัดกิจกรรมที่แตกต่างกัน แต่ทั้งหมดเป็นกิจกรรมที่ให้ทั้งความสนุกสนานและพัฒนาทักษะชีวิตด้านต่าง ๆ หากประเทศไทยต้องการผลักดันกิจกรรมทางเลือกในลักษณะนี้ให้เกิดขึ้น ควรเริ่มจากการดำเนินการในสองเรื่องหลักคือ ประการแรก มีหน่วยงานที่รับผิดชอบการจัดกิจกรรมนอกห้องเรียน เพื่อเป็นหน่วยงานที่พัฒนาการเรียนรู้นอกห้องเรียนที่มีคุณภาพ น่าสนใจ และปลอดภัย ให้บริการข้อมูลเกี่ยวกับกิจกรรมที่จัดขึ้นในที่ต่าง ๆ มีระบบการชักชวนให้เข้าร่วมกิจกรรม ให้ความเข้าใจแก่พ่อแม่ผู้ปกครองในการสนับสนุนบุตรหลานเข้าร่วมกิจกรรมช่วงปิดเทอม และมีระบบประเมินผลการจัดกิจกรรมต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ฯลฯ ประการที่สอง สำรวจกิจกรรมนอกห้องเรียนที่เด็กนักเรียนสนใจ แนวทางที่สามร่วมมือกับภาคเอกชนและหน่วยงานต่าง ๆ รัฐบาลควรขอความร่วมมือจากภาคเอกชนและหน่วยงานต่าง ๆ ในการจัดกิจกรรมตามความถนัดหรือทรัพยากรที่มีอยู่ เพื่อสร้างความหลากหลายของจัดกิจกรรม อาทิ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สถานสงเคราะห์ องค์กรอาสาสมัคร สำนักพิมพ์ ค่ายเพลง สถานีโทรทัศน์ การรถไฟ หรือการไฟฟ้า สวนเกษตร ฯลฯ ในการจัดกิจกรรมทางเลือก ให้เด็กและเยาวชนที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงได้
นอกจากนั้นยังพบว่า ช่วงปิดเทอมการใช้เวลาของเด็กนักเรียนเด็กจำนวนมากเบี่ยงเบนไปในทางไม่สร้างสรรค์ ส่วนหนึ่งมาจากการไม่มีทางเลือกในการทำกิจกรรมมากนัก ดังนั้น ผู้เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมหรือมีศักยภาพในการจัดกิจกรรมต่าง ๆ จึงควรร่วมมือและวางแผนในการพัฒนาและนำเสนอทางเลือกกิจกรรมต่าง ๆ ที่หลากหลายและเป็นประโยชน์สำหรับเด็กและเยาวชนช่วงปิดเทอม ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ให้ทั้งความรู้และความเพลิดเพลินสนุกสนานไปพร้อมกัน อันจะเป็นแนวทางหนึ่งที่สามารถดึงดูดเด็กนักเรียนให้หันมาใช้เวลาอย่างคุ้มค่า หลีกเลี่ยงการเวลาที่อาจก่อเกิดความเสี่ยงที่อาจเกิดปัญหาตามมา และเกิดประโยชน์ต่อตนเองได้มากขึ้นด้วย
admin
เผยแพร่: 
สยามรัฐรายวัน (ศึกษาทัศน์)
เมื่อ: 
2008-04-09