ฮาร์วาร์ดแบบอย่างสร้างเครือข่ายศิษย์เก่าเข้มแข็ง




ในช่วงนี้จนถึงกลางปี ถือได้ว่าเป็นฤดูกาลของการจบการศึกษาของบัณฑิตจากสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ซึ่งผมขอใช้โอกาสนี้ นำเสนอแนวคิดหนึ่งที่เคยเสนอไว้ใน สยามรัฐสุดสัปดาห์วิจารณ์ ฉบับวันที่ 18-24 เดือน พฤษภาคม 2550.เป็นแนวคิดในการสร้างเครือข่ายศิษย์เก่าให้มีความเข้มแข็ง เพื่อให้คนเหล่านี้กลับมาทำประโยชน์ให้แก่มหาวิทยาลัย อันจะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพของการเรียนการสอนแก่มหาวิทยาลัย สถาบันการศึกษาต่าง ๆ ในอนาคต
มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดขับเคลื่อนสู่มหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของโลก ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดใช้ยุทธศาสตร์สร้างเครือข่ายศิษย์เก่า ให้เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนากิจการของมหาวิทยาลัย กล่าวกันว่า เครือข่ายที่เข้มแข็งของบรรดาศิษย์เก่า (Alumni) ทั่วโลกที่ได้ดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน สามารถสร้างชื่อเสียงให้กับมหาวิทยาลัย และเป็นแหล่งหาทุนสนับสนุนต้นทุนทางการศึกษา เครือข่ายศิษย์เก่าจึงนับเป็นเครื่องมือส่งเสริมการก้าวหน้าของมหาวิทยาลัยได้อย่างมาก
ไม่ว่าจะเป็นความร่วมมือทางวิชาการดังที่สมาคมศิษย์เก่าฮาร์วาร์ด (HAA) ร่วมมือกับมหาวิทยาลัย และหน่วยงานของประเทศต่างๆ จัดงานวิชาการในทุกภูมิภาค ทั้งในอินเดีย ตุรกี โมนาโค แคนนาดาและในสหรัฐอเมริกา การสนับสนุนเงินแก่มหาวิทยาลัย ศิษย์เก่ารวมตัวกันจัดตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนกิจการคณะ มหาวิทยาลัย เช่น Professorship Challenge Fund, The HMS Alumni Fund รวมถึงการสนับสนุนโอกาสให้ผู้เรียน ในภูมิภาคของตนได้เข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ดังเช่น Project Harvard Admission ของสมาคมศิษย์เก่าในภูมิภาคอาหรับ
ยุทธศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดใช้สร้างเครือข่ายศิษย์เก่าให้เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนากิจการของมหาวิทยาลัย มีดังนี้
สร้างช่องทางศิษย์เก่าทั่วโลกรวมตัวกัน
การก่อตัวขึ้นของ สมาคมศิษย์เก่าฮาร์วาร์ด (Harvard Alumni Association : HAA) ที่ทำหน้าที่เป็นแกนหลักของกลุ่มศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดในทุกระดับชั้น และทุกคณะในมหาวิทยาลัย ทำให้เกิดการขยายเครือข่ายของศิษย์เก่าในทุกภูมิภาค และนำมาซึ่งการสร้างความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัย ศิษย์เก่า และภาคีอื่นในทุกภูมิภาค
ปัจจุบันสมาคมศิษย์เก่า ได้สนับสนุนกลุ่มฮาร์วาร์ด (Harvard Clubs) ต่าง ๆ กว่า 190 แห่ง มากกว่า 70 ประเทศทั่วโลก รวมถึงกลุ่มศิษย์เก่าในประเทศไทย ที่นำโดย ดร.สารสิน วีระผลด้วยเช่นกัน โดยกลุ่มดังกล่าวทำหน้าที่จัดผังกลุ่มเครือข่าย (mapping) เพื่อให้ศิษย์เก่าได้พบปะสังสรรค์กันตามวาระ ประชาสัมพันธ์ชื่อเสียงและกิจกรรมของมหาวิทยาลัย ภายใต้กลุ่มนี้มีการขยายไปสู่กลุ่มที่มีวัตถุประสงค์ของการรวมตัวที่เจาะจงมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น Alumni Education,- มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างเครือข่ายศิษย์เก่ากับคณะในพันธกิจด้านการศึกษา การวิจัยของมหาวิทยาลัย Harvard Alumni Startupsมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแหล่งรวมศิษย์เก่าที่มีความรู้ในหลากหลายสาขาวิชาที่สนใจด้าน การเป็นผู้ประกอบการ เพื่อสร้างพัฒนาและสร้างชุมชนของผู้ประกอบการให้เกิดขึ้น เป็นต้น
กิจกรรมที่เกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือของกลุ่มต่างๆ ในสมาคมนั้นมีหลากหลายประเภท ยกตัวอย่างเช่น
การจัดประชุมสัมมนา (Conference) โดยเชิญวิทยากรที่มีชื่อเสียงระดับโลกมาร่วมบรรยาย ซึ่งในการเข้าร่วมสัมมนาแต่ละครั้งนั้น นอกจากศิษย์เก่าที่เข้าร่วมจะได้รับประโยชน์จากเนื้อหาสาระของการประชุมแล้ว ยังได้สายสัมพันธ์ใหม่ทั้งในทางธุรกิจและทางวิชาการอีกด้วย มหาวิทยาลัยเองได้รับประโยชน์ในด้านชื่อเสียง และการนำองค์ความรู้ที่ได้มาต่อยอดในงานวิชาการของมหาวิทยาลัยได้อีกทางหนึ่ง
กิจกรรมท่องเที่ยวพบปะกันของศิษย์เก่าทั่วโลก เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่บรรดาศิษย์เก่าจะได้มีโอกาสมาพบปะพูดคุย พักผ่อนหย่อนใจ รวมถึงแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการดำเนินงานเครือข่าย ซึ่งนับเป็นกิจกรรมที่ดึงดูดความสนใจให้คนได้มารวมตัวกันได้อย่างสม่ำเสมอ
การระดมทุน (endowment ) เป็นกิจกรรมหลักที่เครือข่ายมีการร่วมมือประสานงานอย่างชัดเจน เพื่อระดมเงินเข้าสมทบเข้ากองทุนของศิษย์เก่า สนับสนุนกิจการของมหาวิทยาลัย โดยทำผ่านการบริจาคเงิน ซึ่งเรียกว่า gift ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ผ่านบัตรเครดิต , Credit card gifts, Stock gifts, Mutual fund gifts และ Checksรวมถึงส่วนแบ่งรายได้จากกิจการสหกรณ์ที่เรียกว่า ldquo;The Harvard Cooprdquo; ซึ่งเป็นสหกรณ์เพื่อขายสินค้าและของที่ระลึกที่ได้รับมาตรฐานคุณภาพและใบอนุญาตพิมพ์ตราสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัย ให้แก่นักศึกษา สมาชิกในสมาคมต่าง ๆ และบุคคลทั่วไป

วางระบบองค์กรประสานงาน
เครือข่ายศิษย์เก่าต่าง ๆ ทั่วโลกจะมีช่องทางการประสานงานระหว่างองค์กร เพื่อสร้างแนวร่วมเครือข่ายให้เกิดขึ้น อาทิ การจัดบทบาทหน้าที่ของสมาชิกในเครือข่าย โดยสรรหาแกนนำของเครือข่ายเป็นผู้นำในการหาสมาชิก เปิดโอกาสให้สมาชิกมีหน้าที่ความรับผิดชอบในหน่วยงาน ทำให้สมาชิกมีความกระตือรือร้นในการสร้างสรรค์กิจกรรม เร่งสร้างความร่วมมือในด้านต่างๆ กับทางมหาวิทยาลัยและองค์กรอื่น ๆ การสื่อสารประชาสัมพันธ์ผ่านอินเทอร์เน็ต เพื่อเป็นช่องทางนำเสนอข้อมูลและติดต่อกับเครือข่ายทั่วโลก ตรวจสอบตารางกิจกรรมในแต่ละท้องถิ่น เป็นช่องทางสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดกันผ่านห้องสนทนา และสามารถแก้ไขข้อมูลส่วนบุคคลได้ทางอินเทอร์เน็ตด้วย
ช่องทางการประสานงานที่หลากหลายนี้ ทำให้เกิดพลังขับเคลื่อนกิจการของกลุ่มต่าง ๆให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเป็นการส่งเสริมให้ชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น
การแลกเปลี่ยนผลประโยชน์
ยุทธศาสตร์สำคัญในการสร้างแรงจูงใจ ให้เกิดความร่วมมืออย่างต่อเนื่องและจริงจัง คือ การที่มหาวิทยาลัยได้หยิบยื่นผลประโยชน์ต่างตอบแทนกับเครือข่ายศิษย์เก่า ภาคีต่าง ๆ ที่เข้าร่วมจัดกิจกรรม ช่วยเหลืองานพัฒนากิจการมหาวิทยาลัย ดังนี้
การให้สิทธิพิเศษต่าง ๆ ยกตัวอย่าง คนที่สมัครเป็นสมาชิกของ Harvard Extension School ซึ่งเป็นโปรแกรมศึกษาต่อด้านการศึกษา จะได้รับสิทธิในการเป็นสมาชิกเครือข่ายศิษย์เก่าฮาร์วาร์ด (HAA) โดยอัตโนมัติ และยังได้รับสิทธิพิเศษอื่น ๆ เช่น ได้รับการเชิญเข้าร่วมกลุ่มฮาร์วาร์ดในท้องถิ่นของตน (Local Harvard Club) ได้มีส่วนร่วมในโปรแกรมการเรียนต่าง ๆ ที่ HAA ได้จัดขึ้น เป็นต้น
บรรดาศิษย์เก่าที่บริจาคเงินก้อนใหญ่ให้แก่มหาวิทยาลัย จะได้รับตำแหน่งพิเศษของมหาวิทยาลัยซึ่งแสดงถึงเกียรติยศที่ได้รับ และบางกรณีก็มีการใช้ชื่อบุคคลนั้นตั้งชื่ออาคาร ห้องเรียน ห้องสมุด ซึ่งเป็นการขยายผลมากขึ้นจากการบริจาคเงิน
การพัฒนาความเป็นมืออาชีพของบุคลากร โดยมีคณะ (College) หลายแห่งที่มีการสอน program เกี่ยวกับการจัดการเครือข่ายศิษย์เก่า เช่น Harvard College Fund โดยมีการอบรมพัฒนาบุคลากรให้มีศักยภาพและความสามารถในการสร้างและพัฒนาเครือข่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ โปรแกรม Leadership workshop, Harvard College Fund Assembly, Undergraduates, Associates Program และ Class Goals and Participation เป็นต้น
ย้อนกลับมาสู่การประยุกต์ใช้แนวทางในการใช้ประโยชน์จากเครือข่ายศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยของไทย ผมเห็นว่า ผู้บริหารมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งควรมีวิสัยทัศน์ในการใช้ประโยชน์จากศิษย์เก่า โดยสร้างระบบบริหารจัดการที่ดีในการร่วมมือกับเครือข่ายศิษย์เก่า ทำประโยชน์แก่มหาวิทยาลัยในรูปแบบต่าง ๆ โดยสร้างกลไกที่กลุ่มคนเหล่านั้นได้รับประโยชน์จากการเข้าร่วม ซึ่งจะก่อเกิดการสร้างสรรค์เพื่อพัฒนามหาวิทยาลัยไปข้างหน้า ช่วยธำรงรักษาเครือข่ายให้ยิ่งขยายเติบโต และมีสมาชิกเพิ่มมากขึ้นเพื่อสนับสนุนให้เครือข่ายได้สร้างประโยชน์ให้กับมหาวิทยาลัย สังคม และชุมชนได้ต่อไป
การดึงศิษย์เก่าและภาคีต่าง ๆ เข้าร่วมพัฒนามหาวิทยาลัยในรูปแบบที่หลากหลายนี้ จะเป็นช่องทางในการพัฒนาความเข้มแข็งทางวิชาการ และประสานความร่วมมือกันระหว่างสถาบันการศึกษา สังคม บุคลากรในภาคส่วนต่าง ๆ โดยผลของกิจกรรมที่จัดขึ้น ย่อมสะท้อนกลับมายังมหาวิทยาลัย อันจะนำไปสู่การพัฒนาระบบการศึกษาได้อย่างแน่นอน

แสดงความคิดเห็น
admin
เผยแพร่: 
0
เมื่อ: 
2008-02-16