พัฒนาการเรียนรู้แบบ e-learning

ปัจจุบันการอุดมศึกษาของไทย นับว่ามีการตื่นตัวในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นเครื่องมือในการผลักดันให้มหาวิทยาลัยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะการเปิดหลักสูตรการเรียนการสอนออนไลน์ในหลายมหาวิทยาลัย ผมได้เสนอแนวความคิดเรื่องมหาวิทยาลัยที่เรียนแบบออนไลน์ไว้เมื่อปี พ.ศ. 2539 ในหนังสือศึกษิตแห่งศตวรรษที่ 21 ต่อมามหาวิทยาลัยไซเบอร์ไทยได้ถูกพัฒนาขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยเสมือนแห่งแรกของประเทศ โดยการริเริ่มของคณะกรรมการการอุดมศึกษาไทย (สกอ.) การเปิดหลักสูตรออนไลน์มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ซึ่งใช้ต้นแบบการจัดหลักสูตรจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ส่วนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยรามคำแหง และมหาวิทยาลัยศรีปทุม ซึ่งร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อพัฒนาการเรียนการสอนแบบออนไลน์ หรือ e-learning ให้มีความทันสมัย และดึงดูดความสนใจจากนักศึกษาและบุคคลทั่วไป
ในต่างประเทศพบว่า การศึกษาออนไลน์ นับเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่มหาวิทยาลัยทั่วโลก รวมถึงองค์กรภาคธุรกิจชั้นนำ ดังเช่น IBM G.E. CISCO ได้พัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน ให้มีความหลากหลายและมีคุณภาพ เป็นที่ยอมรับและมีความสอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้
มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยชั้นนำ ที่มีการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์ ปัจจุบันมีกว่าห้าร้อยวิชา และปรากฏในหลายรูปแบบที่เอื้อให้ผู้เรียนเข้าถึงได้ง่าย
เรียนระดับปริญญาผ่านระบบออนไลน์ กล่าวคือ การเปิดหลักสูตรที่ได้รับปริญญาบัตร เพื่อให้นักศึกษาที่สนใจ แต่มีความจำกัดเรื่องเวลา การเดินทาง สามารถเรียนร่วมกับนักศึกษาที่มาเรียนปกติได้ อาทิ หลักสูตรบัณฑิตศึกษาของวิทยาลัยสาธารณสุขได้จัดขึ้น (Master of Science Degree in Health Care Management Harvard School of Public Health) ที่การเรียนการสอนออนไลน์ โดยใช้กรณีศึกษา และการเรียนร่วมกับการศึกษาออนไลน์แบบอื่น
เรียนรู้ตามอัธยาศัยผ่านศูนย์ศึกษาต่อเนื่องมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (The Harvard Extension School) ศูนย์นี้ให้บริการหลักสูตรที่เรียนทางอินเทอร์เน็ตจำนวนมาก ซึ่งผู้เรียนจะสามารถเรียนผ่านวีดิโอ ออดิโอ และมัลติมีเดีย การบันทึกการเรียนการสอนในชั้นเรียนปกติและเผยแพร่แก่ผู้เรียนที่ลงทะเบียนวิชานั้น ๆ นอกจากนี้ยังมีเทคโนโลยีที่เอื้อให้ผู้เรียนสามารถปฏิสัมพันธ์กับผู้สอนและเพื่อร่วมชั้นได้อีกด้วย
เรียนรู้และใช้เครือข่ายออนไลน์ของฮาร์วาร์ด ภายใต้เว็บไซต์ของ Digital Harvard: A Collection of Online Educational Resources ได้บรรจุเครือข่ายของการเรียนรู้ออนไลน์ทั้งหมดที่มีในฮาร์วาร์ดไว้ ผู้ที่สนใจสามารถเข้ามาค้นหาข้อมูล เพื่อเข้าร่วมในชั้นเรียนออนไลน์ การสัมมนาที่เกิดขึ้น รวมถึงเป็นแหล่งรวมข่าวสารการเรียนออนไลน์ใหม่ ๆ ของฮาร์วาร์ดไว้ทั้งหมด
การศึกษาออนไลน์นับว่ามีประโยชน์ต่อการพัฒนาการศึกษาหลายประการ
ขยายโอกาสทางการเรียนรู้ สามารถรองรับผู้เรียนโดยไม่จำกัดในแง่สถานที่และจำนวน ทั้งยังสร้างโอกาสในการขยายตลาดการศึกษาให้กว้างขวาง ผู้เรียนสามารถศึกษาได้ทันทีที่ต้องการ มีความสะดวก สามารถเรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา ตารางเวลาเป็นไปตามความต้องการ โครงสร้างเวลา และศักยภาพในการเรียนรู้ของผู้เรียน
เพิ่มประสิทธิภาพจัดการเรียนรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาเนื้อหาอิเล็กทรอนิกส์สามารถส่งให้ผู้เรียนจำนวนมาก ส่งผลให้การจัดการศึกษามีต้นทุนที่ต่ำลง ผู้เรียนรับการศึกษาที่เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก รวมถึงแลกเปลี่ยนความคิดกับอาจารย์และผู้เรียนจากทั่วทุกมุมโลก
แม้ว่าระบบ E-learning จะมีประโยชน์ แต่ในส่วนของประเทศไทย คงมีอุปสรรคปัญหาหลายประการ เช่น ค่าใช้จ่ายที่สูง ทั้งด้านค่าใช้จ่ายสำหรับการเรียน ค่าติดตั้งอุปกรณ์ คุณภาพในการจัดการเรียนการสอนผ่าน E-learning ที่ยังไม่มีหน่วยงานควบคุมดูแลอย่างจริงจัง ข้อจำกัดในโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสานสนเทศ รวมถึงอุปสรรคการใช้ทักษะภาษาอังกฤษ
ทั้งนี้ผมมีแนวคิดเกี่ยวกับการลดข้อจำกัดของการเรียนการสอนออนไลน์ ดังที่ผมเคยเสนอในงานบรรยายต่าง ๆ ซึ่งขอหยิบยกมาเพื่อเป็นแนวทางที่ผู้เกี่ยวข้องจะนำไปประยุกต์ใช้ต่อไป

สร้างซอฟต์แวร์เพื่อการศึกษา คือ การสร้างโปรแกรมเพื่อทำให้เกิดการถ่ายทอดข้อมูลไปยังผู้เรียนกลุ่มต่าง ๆ เพื่อเพิ่มโอกาสและช่องทางการเรียนรู้ให้กลุ่มคนที่หลากหลายมากขึ้น เช่น ซอฟต์แวร์แปลภาษา หรือ ซอฟต์แวร์เพื่อกลุ่มคนพิการ เป็นต้น
สร้างโมดูลทางการศึกษา คือการให้ผู้เรียนสามารถเลือกเรียนวิชาข้ามมหาวิทยาลัยที่ตนถนัด และสนใจได้ เช่น สามารถเลือกเรียนวิชาบริหารธุรกิจจากมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด และเลือกเรียนวิชาการตัดแต่งพันธุกรรมจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาจูเซต (MIT) ไปพร้อมกัน
สร้างความน่าเชื่อถือของหลักสูตร โดยการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อและสถาบันการศึกษา รวมทั้งดำเนินการวิจัยเกี่ยวกับประสิทธิผลของการเรียนรู้ในระบบออนไลน์ การรับรองจากภาครัฐเทียบเท่ากับเรียนรู้ในแบบปกติ โดยให้ได้รับวิทยฐานะเหมือนกับการเรียนปกติ และให้สามารถเทียบโอนหน่วยกิตระหว่างการเรียนแบบอีเลิร์นนิ่งกับการเรียนรู้ในระบบปกติได้
สร้างระบบควบคุมคุณภาพ มาตรการสำคัญ ๆ ในการควบคุมและรักษาคุณภาพของหลักสูตร ได้แก่ การจัดอันดับ (ranking) หลักสูตรโดยพิจารณาจากหลักเกณฑ์ต่าง ๆ การให้เกรด (rating) เพื่อใช้ในการประเมินคุณภาพของหลักสูตรออกเป็นระดับคุณภาพต่าง ๆ การจัดการประเมินหลักสูตร โดยหน่วยงานของรัฐหรือเอกชนที่เป็นกลาง และให้ผู้เกี่ยวข้องได้ประเมินด้วย
การเรียนรู้ในระบบออนไลน์นับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศในอนาคต และเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการสร้างโอกาสในการศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำทางดิจิตอล ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาความยากจนและความไม่เท่าเทียมกันของการกระจายรายได้
admin
เผยแพร่: 
สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
เมื่อ: 
2008-02-01