UK ขาดแคลนครู ต้องนำเข้าครูต่างชาติ

แม้ปัจจุบันมหาวิทยาลัยทั่วโลกได้เปิดรับนักศึกษามากขึ้น แต่กลับประสบปัญหาการขาดอาจารย์และนักวิชาการที่มีคุณภาพสูง จึงหาทางออกโดยการดึงอาจารย์และนักวิชาการจากต่างประเทศ
สถานการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นกับมหาวิทยาลัยในสหราชอาณาจักร ข้อมูลจากนิตยสารไทม์ไฮเออร์ 15 มิถุนายน 2550 พบว่า ปัจจุบันอาจารย์บางสาขาวิชาจำนวน 1 ใน 3 เป็นชาวต่างชาติ องค์การสถิติด้านการอุดมศึกษา (Higher Education Statistics Agency: HESA) สหราชอาณาจักร ได้เปิดเผยว่า จำนวนอาจารย์และนักวิชาการชาวต่างชาติในสหราชอาณาจักรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา และคาดว่าสัดส่วนอาจารย์และนักวิชาการชาวต่างชาติจะเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ร้อยละ 25 ในอีก 6 ปี และเพิ่มเป็นร้อยละ 50 ในอีก 20 ปี หากดูสัดส่วนอาจารย์และนักวิชาการต่างชาติตามสาขาวิชา พบว่า สาขาวิศวกรรมการไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์มีประมาณ 1 ใน 3 หรือร้อยละ 34 สาขาฟิสิกส์ ร้อยละ 31 สาขาคณิตศาสตร์ร้อยละ 30 สาขาสังคมศาสตร์ สาขาเวชศาสตร์คลินิก (clinical medicine) และสาขาไอที มีประมาณ 1 ใน 4 ของจำนวนอาจารย์และนักวิชาการในสหราชอาณาจักร
ผลการวิจัยจากสถาบัน Institute for Employment Studies (IES) ประเทศอังกฤษ พบว่า อาจารย์และนักวิชาการชาวต่างชาติกำลังเข้ามาอุดช่องว่างอุปทานของอาจารย์และนักวิชาการในสหราชอาณาจักร ลินดา มิลเลอร์ (Linda Miller) นักวิจัยอาวุโสสถาบัน IES กล่าวว่า เนื่องจาก บางสาขาวิชานักศึกษาปริญญาเอกในสหราชอาณาจักรไม่นิยมเข้ามาเรียน จึงทำให้จำนวนอาจารย์และนักวิชาการในสหราชอาณาจักรในบางสาขาวิชาน้อยลง เกิดช่องว่าของอุปทานอาจารย์และนักวิชาการใหม่ในสหราชอาณาจักร ซึ่งช่องว่านี้ต้องทดแทนด้วยการนำเข้าอาจารย์และนักวิชาการจากต่างประเทศ
ในอนาคต มหาวิทยาลัยไทยอาจมีแนวโน้มไปในทิศเดียวกับมหาวิทยาลัยในสหราชอาณาจักร เนื่องจากมีปัจจัยหลายประการ ดังนี้
ไทยมีรองศาสตราจารย์และศาสตราจารย์น้อย
มหาวิทยาลัยรัฐและเอกชนในประเทศไทยมีจำนวนรองศาสตราจารย์ ศาสตราจารย์น้อยมาก โดยมหาวิทยาลัยเอกชนทั่วประเทศ (รวมอาจารย์ประจำและอาจารย์พิเศษ) มีจำนวนอาจารย์ 10,784 คน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ 947 คน รองศาสตราจารย์ 682 คน และศาสตราจารย์ 156 คน ในมหาวิทยาลัยรัฐ (รวมข้าราชการพลเรือน พนักงาน และลูกจ้าง) จำนวนอาจารย์ 28,410 คน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ 10,252 คน รองศาสตราจารย์ 5,317 คน และศาสตราจารย์ 406 คน (สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา, 2549) มหาวิทยาลัยคุณภาพสูงทั่วโลก อาจารย์ส่วนใหญ่จะมีตำแหน่งทางวิชาการเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ขึ้นไป อันแสดงถึงความรู้ความสามารถของอาจารย์ผู้สอน ดังนั้น มหาวิทยาลัยไทยที่ต้องการสร้างความน่าเชื่อถือ อาจนำเข้าอาจารย์ชาวต่างชาติที่มีตำแหน่งทางวิชาการในระดับสูงเข้ามาสอน
ไทยมีการขยายบริการระดับอุดมศึกษามากขึ้น
ปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยและวิทยาลัยที่เปิดหลักสูตรปริญญา ซึ่งมีกว่า 199 แห่ง มหาวิทยาลัย ซึ่งรวมมหาวิทยาลัยรัฐและมหาวิทยาลัยราชภัฏ รวม 75 แห่ง มหาวิทยาลัยเอกชน 33 แห่ง และวิทยาลัยเอกชน 33 แห่ง และวิทยาเขตมหาวิทยาลัย/วิทยาลัยรัฐและเอกชน 58 แห่ง รวมถึงสภาพการเปิดการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา ประกอบกับยิ่งเมื่อประเทศไทยเปิดเสรีการศึกษามากขึ้น จะเกิดการแข่งขันกับระหว่างมหาวิทยาลัยทั้งในและต่างประเทศ ส่งผลให้อุปสงค์ในตัวอาจารย์และนักวิชาการมีมากขึ้น จนเกิดการแย่งตัวอาจารย์และนักวิชาการ แน่นอนว่าส่วนหนึ่งต้องมีการนำเข้าจากต่างประเทศ
การนำเข้าอาจารย์และนักวิชาการจากต่างประเทศ เป็นแนวทางหนึ่งในการดึงเอาองค์ความรู้ใหม่ ๆ เข้ามาในประเทศไทย แต่ควรระมัดระวัง เพราะอาจเป็นช่องทางของผู้ไม่หวังดีเข้ามาในประเทศ ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเพิ่มความระวัง โดยกำหนดเกณฑ์การคัดเลือกอาจารย์และนักวิชาการที่มีคุณภาพ มีการตรวจสอบทั้งประวัติความรู้ความสามารถ รวมถึงประวัติอื่นที่จำเป็นอย่างเข้มงวด

แสดงความคิดเห็น
admin
เผยแพร่: 
0
เมื่อ: 
2008-01-29