แก้ปัญหาสังคมแก้เด็กออกกลางคัน

พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ได้บัญญัติสิทธิของบุคคลในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่า 12 ปี โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และตาม พ.ร.บ. การศึกษาภาคบังคับ พ.ศ. 2545 บัญญัติให้มีการศึกษาภาคบังคับ 9 ปี นักเรียนที่จบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ทุกคนต้องเรียนต่อมัธยมต้น

หากพิจารณาการออกจากระบบการศึกษาของผู้เรียนการศึกษาภาคบังคับพบว่ามีจำนวนมากเช่นเดียวกัน คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า มีผู้เรียนที่ออกกลางคันประมาณ 1 แสนคนต่อปี ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น โดยมีสาเหตุมาจากความเบื่อหน่ายและเครียดกับการเรียน การทะเลาะวิวาท ติดเพื่อน ติดยาเสพติด และตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ ฯลฯ และยังพบปัญหาอีกว่า เมื่อพบกลุ่มเด็กที่เสี่ยงต่อการออกกลางคัน โรงเรียนไม่มีมาตรการรองรับหรือดำเนินการหรือส่งต่อเด็กกลุ่มนี้ให้ไปในทิศทางใด

เด็กที่ออกกลางคันจำนวนมากใช้ชีวิตอย่างไม่มีเป้าหมาย และมีแนวโน้มเข้าสู่วงจรปัญหาสังคม และกระทำความผิด เช่น ยาเสพติด ก่ออาชญากรรม ฯลฯ ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน บ้านกาญจนาภิเษก นางทิชา ณ นคร ได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า ปี 2548 มีเด็กและเยาวชนที่เข้าสู่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนทั่วประเทศ ประมาณ 36,000 คน ส่วนใหญ่เป็นเด็กระดับมัธยมต้น

ไทยไม่ได้เป็นประเทศเดียวที่มีปัญหาผู้เรียนออกกลางคัน แต่เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก เช่น สหรัฐอเมริกา ผลการศึกษาของคริสโตเฟอร์ บี สแวนสัน (Christopher B. Swanson) เรื่อง Who Graduate? Who Doesnrsquo;t? A Statistical Portrait of Public High School Graduation Rates, Class of 2001 และการศึกษาของ เจย์ พี กรีน (Jay P. Greene) และมาร์คัส วินเตอร์ส (Marcus Winters) เรื่อง Public High School Graduation and College Readiness Rates: 1991-2002 แสดงอัตราการสำเร็จการศึกษาของนักเรียนมัธยมปลายในอเมริกา มีประมาณร้อยละ 68-71 จากจำนวนเด็กมัธยมปลายทั้งหมด แสดงว่ามีเด็กมัธยมปลายจำนวน 1 ใน 3 ออกกลางคัน

สาเหตุของการออกกลางคัน จอห์น เอ็ม บริดจ์แลน์ด (John M. Bridgeland) John J. Dilulio และคาเรน เบิร์ก มอรีซัน (Karen Burke Morison) เรื่อง The Silent Epidemic: Perspective of High School Dropouts (2549) ผู้วิจัยได้ไปสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่างที่ออกกลางคัน อายุระหว่าง 16-24 ปี จำนวน 467 คน จาก 25 ประเทศ พบว่า การออกกลางคันของกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ไม่ได้มีสาเหตุจากผลการเรียนตกต่ำ กว่าร้อยละ 70 ให้สัมภาษณ์ว่า ldquo;พวกเขาสามารถสำเร็จการศึกษาได้หากมีความพยายามrdquo; แต่เกือบครึ่ง หรือร้อยละ 45 ให้เหตุผลว่า มาจาก ldquo;ความเบื่อหน่ายrdquo; ldquo;รู้สึกแย่กับการเรียนในโรงเรียนrdquo; อีกร้อยละ 32 ให้เหตุผลว่า ldquo;ต้องเรียนซ้ำชั้นrdquo; และยังพบอีกว่า ครอบครัวของกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ไม่ได้สนใจกับการเรียนของผู้เรียนมากนัก

ในต่างประเทศอย่างเช่นสหรัฐอเมริกา เด็กที่อยู่นอกระบบโรงเรียนมักจะรวมตัวเป็นแก๊ง และก่อปัญหาอาชญากรรม โรงเรียนในอเมริกาที่ตระหนักถึงปัญหานี้เป็นอย่างดี ได้หาทางแก้ไขปัญหาการออกกลางคันของเด็ก ซึ่งแนวทางที่ได้รับความสนใจอย่างมาก คือ การปฏิรูปโรงเรียนทั้งระบบ และการส่งต่อเด็กที่มีปัญหาให้กับผู้เชี่ยวชาญได้ช่วยเหลือ อาทิ

การปฏิรูปโรงเรียนทั้งระบบ การศึกษาวิจัยในประเทศสหรัฐอเมริกาหลายเรื่องได้พบว่า สาเหตุหลักที่ทำให้เด็กต้องออกกลางคัน คือ เด็กรู้สึกเบื่อหน่ายกับการเรียนในโรงเรียน โรงเรียนในอเมริกา จึงนำระบบ Accelerated Schools plus มาใช้ใน ซึ่งเป็นระบบหนึ่งของการปฏิรูปโรงเรียนทั้งระบบ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ ทำให้เด็กทุกคนสามารถเข้าถึงสิ่งที่เรียกว่าพลังแห่งการเรียนรู้ (Powerful Learning) ระบบนี้มีหลักการสำคัญ คือ ให้โรงเรียนจัดหาแนวทางที่ทำให้เด็กได้รู้พัฒนาศักยภาพของตัวเอง

ครูผู้สอนเปิดโอกาสได้ทำงานและศึกษาค้นคว้าตามความสนใจของผู้เรียน นำผู้เรียนออกสู่การเรียนรู้นอกห้องเรียน เปิดโอกาสให้เด็กได้ปะทะสังสรรค์ทางความคิด เพื่อให้ผู้เรียนมีทักษะคิดเชิงวิพากษ์ และประการสำคัญ ครูผู้สอนต้องเป็นนักเรียนรู้ แสวงหาองค์ความรู้ใหม่ ๆ รวมทั้งทำวิจัยด้วย

ผู้เรียน ผู้เรียนจะได้รับการเปลี่ยนแปลงทั้งในเชิงทักษะการคิดและลักษณะชีวิต ผ่านการลงมือปฏิบัติจริง โดยผู้เรียนทุกคนต้องทำผลงานที่สร้างสรรค์ตามความสนใจ ประยุกต์ใช้ความรู้ในสถานการณ์จริง และเรียนรู้ความผิดพลาดของตน มีทักษะการอยู่ร่วมกับผู้อื่น และบริหารชีวิต เช่น บริหารเวลา การใช้เงิน ฯลฯ

ผู้บริหารโรงเรียน จัดแสดงผลงานของนักเรียนทั่วบริเวณโรงเรียน จัดนิทรรศการแสดงผลงานของผู้เรียนให้ครอบครัวและชุมชนได้เข้าชม ซึ่งทำให้เด็กเห็นคุณค่าตัวเองมากขึ้น นอกจากนี้ ยังนำเอาความสนใจของผู้เรียนมาทำเป็นแผนดำเนินงานในโรงเรียน และกำหนดเป็นหลักสูตรการเรียนการสอนภายในโรงเรียน

มาตรการรองรับผู้เรียนออกกลางคัน แม้ว่าโรงเรียนในอเมริกาหลายแห่ง จะประสบความสำเร็จในการปฏิรูปโรงเรียนทั้งระบบ แต่ยังไม่สามารถแก้ปัญหาการออกกลางคันได้ทั้งหมด จึงมีมาตรการรองรับผู้เรียนที่ออกกลางคัน โดยเชื่อมโยงกับโรงเรียนทางเลือกที่เรียกว่า Affiliated Alternatives เป็นกลุ่มอาสาสมัคร ที่เกิดจากการรวมตัวของนักสังคมสงเคราะห์ ครู พยาบาล ผู้เชี่ยวชาญการให้คำปรึกษา และผู้ประกอบการ ฯลฯ โดยมีสถานที่จัดโปรแกรมเฉพาะ สอดคล้องปัญหาและความต้องการของผู้เรียน มี 4 โปรแกรม ดังนี้

Alternative Education Resource Option (AERO) เป็นโปรแกรมสำหรับผู้เรียนที่ตกซ้ำชั้นเกรด 8 หรือเสี่ยงต่อการซ้ำชั้นในเกรด 9 ซึ่งระดับเกรด 9 ถือเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ หากไม่ผ่านเกรด 9 มีความเสี่ยงต่อการออกกลางคันอย่างมาก อาสาสมัครที่จัดโปรแกรมจะเป็นครูสอนในวิชาต่าง ๆ ตามหลักสูตรปกติ ผู้เรียนที่ตกซ้ำชั้นในเกรด 8 สามารถจบหลักสูตรและเรียนต่อเกรด 9 ส่วนผู้เรียนเกรด 9 สามารถเรียนจบและศึกษาต่อในระดับมัธยมปลายได้

Cluster Program เป็นโปรแกรมที่ให้ความช่วยเหลือผู้เรียนระดับมัธยมต้นที่เสี่ยงต่อการออกกลางคัน เพราะมีปัญหาด้านการเรียนและพฤติกรรม โปรแกรมนี้จะเพิ่มความรู้ตามหลักสูตรระดับชั้นมัธยมต้น

School-Age Parent Program (SAPAR) โปรแกรมเฉพาะสำหรับผู้เรียนที่ตั้งครรภ์ หรือแต่งงานเมื่ออายุยังน้อย ภายใต้รูปแบบการจัดการศึกษาโดยครอบครัว ผู้เรียนจะได้เรียนตามหลักสูตรปกติ ทั้งที่เรียนในห้องเรียน และผ่านระบบออนไลน์ อีกทั้ง ยังได้รับความรู้เกี่ยวกับการตั้งครรภ์ การเกิดของเด็ก การดูแลเด็ก การรักษาสุขภาพ การจัดการด้านการเงิน เป็นต้น

Work and Learn Center (WLC) เป็นโปรแกรมสำหรับผู้เรียนที่เรียนในปีสุดท้ายของชั้นมัธยมปลาย แต่ต้องการทำงานไปพร้อมเรียน และผู้เรียนที่ออกกลางคันไปแล้ว สามารถเข้ามาเรียนได้เช่นเดียวกัน มี 4 ภาคเรียน ภาคเรียนแรก เป็นอาสาสมัครในโรงเรียนอนุบาลและโรงเรียนประถม ภาคเรียนที่สอง ทำงานในบ้านพักคนชรา โรงพยาบาล หรือเป็นอาสาสมัครในที่ต่าง ๆ ภาคเรียนที่สาม ทำงานเป็นช่างซ่อมหรือสร้างบ้าน โดยมีอาสาสมัครจากสถานประกอบให้คำแนะนำ ภาคเรียนที่สี่ ผู้เรียนสามรถเลือกทำงานในสถานประกอบการ หรือเลือกเข้าเรียนในหลักสูตรของวิทยาลัยเทคนิคมิลวอกี (Milwaukee Area Technical College) ผู้เรียนที่เรียนจบจะได้รับประกาศนียบัตรภายใต้รูปแบบการจัดการศึกษาโดยครอบครัว และสามารถเทียบโอนชั่วโมงเรียนเป็นหน่วยกิตเข้าเรียนในวิทยาลัยเทคนิคมิลวอกีได้

กรณีประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีมาตรการรองรับผู้เรียนที่เสี่ยงออกกลางคัน คือ ใช้กระบวนการพัฒนาทักษะชีวิต ในกรณีที่ผู้เรียนหนีเรียนเพราะไม่มีความสุขกับการเรียน ส่วนผู้เรียนที่จำเป็นต้องออกกลางคัน โรงเรียนจะรับผิดชอบดูแลจนกว่าจะเข้าโรงเรียนใหม่

มาตรการที่ สพฐ. สามารถเพิ่มเข้าไปได้ คือ จัดโปรแกรมสอนพิเศษภาคฤดูร้อน และคิดเป็นชั่วโมงเรียนสำหรับผู้เรียนที่มีปัญหาด้านการเรียน ติด ldquo;0rdquo; ldquo;รrdquo; ldquo;มส.rdquo; จนอาจทำให้ตัดสินใจออกกลางคัน มีการเทียบโอนหน่วยกิตไปเรียนในหลักสูตรประกาศนียบัตร ในกรณีที่พบว่าผู้เรียนไม่สามารถศึกษาต่อในระดับมัธยมปลายได้ เช่น ผู้เรียนที่ตั้งครรภ์ สพฐ. ควรให้มีการโอนหน่วยกิตไปเรียนในโรงเรียนศึกษาผู้ใหญ่ หรือในสถาบันการศึกษาที่เปิดสอนหลักสูตรการสอนตามอัธยาศัย ซึ่งผู้เรียนสามารถนำผลการเรียนไปเทียบโอนการศึกษาขั้นพื้นฐานและอุดมศึกษาที่ต่ำกว่าระดับปริญญาได้ เพราะที่ผ่านมา สพฐ. ได้อนุญาตผู้เรียนกลับมาเรียนต่อภายหลังคลอดบุตร แต่ผู้เรียนมักมีความอับอายไม่ต้องการเรียนที่เดิม นอกจากนี้ ควรร่วมมือกับนักสังคมสงเคราะห์ เพื่อช่วยเหลือและให้คำแนะนำผู้เรียน ในเรื่องการประกอบอาชีพ การจัดการด้านการเงิน การดูแลบุตร ฯลฯ

ผู้เรียนที่ออกกลางคันนับเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการก่อเกิดปัญหาทางสังคมต่าง ๆ ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และสังคมควรหันมาให้ความสำคัญกับผู้เรียนกลุ่มนี้มากขึ้น และในอนาคตอาจมีอีกหลายปัจจัยภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ที่อาจส่งผลให้ผู้เรียนออกกลางคันเพิ่มปริมาณขึ้นได้ ดังนั้น ศธ. ควรมีการวิจัยศึกษาและกำหนดมาตรการแก้ไขและป้องกันปัญหานี้ในเชิงรุกไว้ล่วงหน้า เพื่อพัฒนาผู้เรียนกลุ่มนี้เป็นบุคคลที่มีคุณภาพป้อนเข้าสู่สังคม
admin
Catagories: 
เผยแพร่: 
การศึกษาวันนี้
เมื่อ: 
2007-07-12