คัดลอกผลงานผู้อื่น ปรากฏการณ์ที่ต้องเร่งแก้ไข
ปรากฏการณ์หนึ่งที่อาจกระตุ้นให้การศึกษาไทย ต้องหันมาปลูกฝังค่านิยมที่ถูกต้อง เกี่ยวกับการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา มาจากข่าวคราวเรื่อง การคัดลอกผลงาน งานวิจัยของผู้อื่น โดยในปี 2549 มีงานวิจัยที่พบว่า จากการสุ่มตัวอย่างวิทยานิพนธ์จำนวน 70 เล่ม มี 27 เล่ม ที่ผู้ทำวิจัยได้คัดลอกข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตและผลงานวิจัยผู้อื่น โดยไม่มีการอ้างอิง
การกระทำดังกล่าวไม่เพียงเป็นการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาเท่านั้น หากแต่อาจส่งผลกระทบต่อการสร้างสังคมฐานความรู้ในระยะยาว อันเนื่องจากผู้เรียนกลุ่มหนึ่งขาดความตระหนักในการต่อยอด และสร้างองค์ความรู้อย่างถูกต้อง
การขโมยคัดลอกผลงาน (Plagiarism) เป็นสิ่งที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดให้ความสำคัญ โดยถือว่า การคัดลอกผลงาน คำพูดคนอื่นโดยไม่อ้างอิงนั้น เป็นการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา เนื่องจากเชื่อว่า ความคิด คำที่ประดิษฐ์ขึ้นมานั้น เป็นทรัพย์สินส่วนบุคคล คนที่นำไปใช้ต้องได้รับการอนุญาตจากเจ้าของ ผู้ที่นำไปใช้ต้องให้เกียรติเจ้าของผลงาน โดยการอ้างอิงถึงแหล่งที่มา
ความร้ายแรงของการคัดลอกผลงานคนอื่น โดยไม่มีการอ้างอิงนั้น ถือว่าเป็นความผิดร้ายแรง หากคณะกรรมการคัดเลือก ซึ่งมีความเชี่ยวชาญพิเศษในการตรวจสอบการคัดลอก ตรวจพบว่านักศึกษา หรือบุคลากรที่กระทำนั้น จะถูกเรียกมาสอบสวน และหากผิดจริงอาจถึงขั้นให้ออกจากมหาวิทยาลัย
ทั้งนี้การคัดลอกผลงานของผู้อื่นในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดนั้นมีให้เห็นอยู่เนือง ๆ ทั้งจากข้อเขียนของผู้สมัครเข้าศึกษาต่อ นักศึกษาที่คัดลอกรายงานของเพื่อนนักศึกษา บุคลากรที่ทำงานให้มหาวิทยาลัย ที่นำแนวคิดของคนอื่นมาใช้ในงานของตน
การรับมือกับปัญหาดังกล่าว มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดได้ดำเนินการทั้งในเชิงรับและเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง ดังนี้
ในเชิงรับ มหาวิทยาลัยมีระบบตรวจสอบในรูปของโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ซึ่งมีการพัฒนากระบวนการตรวจจับให้มีความละเอียดมากขึ้น เพื่อให้เข้าถึงแหล่งข้อมูลนับล้าน ๆ ในอินเทอร์เน็ตได้อย่างรวดเร็วและครอบคลุมมากขึ้น ระบบดังกล่าวจะใช้ร่วมกับการทำงานของคณะกรรมการตรวจสอบซึ่งมีความเชี่ยวชาญพิเศษเพื่อวิเคราะห์และตัดสินว่า ผู้กระทำมีความตั้งใจกระทำการคัดลอกผลงานคนอื่นจริงหรือไม่
ในเชิงรุกเป็นการปลูกฝังจิตสำนึกที่ดีที่เคารพและให้เกียรติความคิดและผลงานผู้อื่น โดยใช้การสื่อสารและการให้ข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อป้องกันความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ กระทำการที่เข้าข่ายละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา เช่น ส่งจดหมายเวียนทางอีเมล์ให้นักศึกษาใหม่ เพื่อแนะนำ และบอกวิธีอ้างอิงที่ถูกต้องกรณีนำแนวคิดของคนอื่นมาใช้ ให้ผู้สอนสื่อสารในชั้นเรียน เพื่อย้ำถึงการให้เกียรติความคิดของคนอื่น ความร้ายแรงและโทษของการคัดลอกผลงานผู้อื่น โดยไม่อ้างอิง
สะท้อนคิดมาสู่การศึกษาของไทย ผมเห็นว่า ควรมีมาตรการป้องกันทั้งในเชิงรุกและเชิงรับ เพื่อแก้ไขการคัดลอกผลงานของผู้อื่นเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น
สร้างความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่างประเทศ พัฒนาระบบตรวจสอบการคัดลอกผลงานของผู้อื่น ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีระบบตรวจสอบ แต่หากมีการสร้างความร่วมมือกับมหาวิทยาลัย หน่วยงานในต่างประเทศที่สนใจศึกษา พัฒนาระบบดังกล่าว เพื่อการนำมาปรับใช้ อาทิ
Harvardrsquo;s Instructional Computing Group (ICG) ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และฝ่าย Academic Management Staff: Associate Dean ของมหาวิทยาลัยนอร์ทธัมเบรีย (Northumbria University) ที่ทำหน้าที่พัฒนาระบบตรวจจับการคัดลอกผลงานของนักศึกษา อันจะเป็นการช่วยลดการคัดลอกและตัดต่อบทความและงานวิจัยของนักศึกษา
ร่วมปลูกจิตสำนึกการให้เกียรติผลงานผู้อื่น ตั้งแต่วัยเยาว์ ในส่วนนี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ตั้งแต่ระดับสถานศึกษา ถึงรัฐบาล ที่เริ่มต้นปลูกฝังจิตสำนึกในการให้เกียรติผลงาน ความคิดของผู้อื่น และบังคับใช้บทลงโทษ กฎหมายอย่างจริงจังสำหรับผู้ที่ละเมิด อาทิ
ผู้สอนบอกวิธีการอ้างอิงที่ถูกต้อง เมื่อมอบหมายให้ผู้เรียนทำรายงาน และย้ำให้เห็นถึงโทษตามกฎหมายเมื่อผู้เรียนคัดลอกผลงานผู้อื่นโดยไม่อ้างอิง การสอดแทรกค่านิยมการให้เกียรติผลงานผู้อื่น ในการเรียนการสอนทุกวิชา การลงโทษผู้ที่ตั้งใจคัดลอกผลงานผู้อื่น การบังคับใช้กฎ ระเบียบ กฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจัง เพื่อป้องปราม และป้องกันการกระทำผิดในอนาคต
การพัฒนาสังคมไทยให้ก้าวสู่สังคมฐานความรู้ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเกิดจากการพัฒนาต่อยอดจากองค์ความรู้ที่มีอยู่ เพื่อให้เกิดการก่ายกันขึ้นทางปัญญา ไม่ใช่เกิดจากการคัดลอก หรือละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของผู้อื่น ด้วยเหตุนี้การสร้างระบบตรวจสอบที่ดี รวมถึงการปลุกจิตสำนึกที่ดีของทุกคนในสังคม ให้เคารพสิทธิของบุคคลในด้านทรัพย์สินทางปัญญา จะเป็นการส่งเสริมให้เกิดการสร้างสังคมฐานความรู้ในระยะยาว ที่เอื้อต่อการพัฒนาประเทศได้ต่อไป
Tags:
เผยแพร่:
สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
เมื่อ:
2007-11-23