วิทยาลัยศึกษาต่อเนื่องของฮาร์วาร์ด

การจัดการศึกษาเพื่อกลุ่มคนทำงาน ผู้สูงอายุ เพื่อพัฒนาความรู้ ทักษะที่สอดคล้องกับการทำงาน นับเป็นหลักสูตรหนึ่งที่มีความน่าสนใจ ด้วยปัจจัยอย่างน้อย 3 ด้านที่คาดว่าจะเอื้อให้การจัดการศึกษาในลักษณะนี้ได้รับความนิยมสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็น

การแข่งขันที่รุนแรงขึ้น ทั้งจากการเปิดเสรีทางการค้า การแพร่กระจายของเศรษฐกิจฐานความรู้ ส่งผลให้กลุ่มคนวัยทำงานต้องเร่งพัฒนาตนเอง ให้สอดคล้องกับงานและรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก

การส่งเสริมให้คนรักการเรียนรู้ตลอดชีวิต
อันเป็นผลจากความต้องการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในสังคมที่มีการแข่งขันรุนแรง ส่งผลให้คนรักการเรียนรู้มากขึ้น แม้คนจะพ้นจากการศึกษาในระบบ หรือพ้นจากวัยทำงานแล้ว จะยังคงแสวงหาความรู้ เพื่อพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง

การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างไปสู่สังคมผู้สูงอายุ อันเป็นผลมาจากอัตราการเกิดที่ลดลง ในอนาคตผู้เรียนที่อยู่ในวัยเรียนจะค่อย ๆ ลดลง ทำให้สถาบันการศึกษาต้องเร่งหาผู้เรียนกลุ่มใหม่ เช่น กลุ่มคนทำงาน ผู้สูงอายุ ฯลฯ เพื่อให้สถาบันการศึกษามีรายได้ทดแทน

สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงนี้ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดจึงต้องปรับตัวให้สอดรับ และมีส่วนในการพัฒนากลุ่มคนที่ต้องการยกระดับฝีมือแรงงานและพัฒนาความรู้อย่างต่อเนื่อง โดยฮาร์วาร์ดได้จัดตั้ง วิทยาลัยศึกษาต่อเนื่องมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (The Harvard Extension School) เป็นวิทยาลัยเฉพาะทางที่จัดตั้งขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้คนที่ทำงานแล้วหรือบุคคลที่ต้องการศึกษาเพิ่มเติมในสาขาที่ตนสนใจเรียน โดยคนเหล่านี้ต้องมีคุณสมบัติสอดคล้องตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด เช่น มีผลการเรียนดี มีประสบการณ์การทำงานในด้านนั้นหรือที่เกี่ยวข้อง ฯลฯ

วิทยาลัยดังกล่าว นับเป็นช่องทางของผู้ที่จบการศึกษาไปแล้วได้กลับเข้าสู่ระบบ เพื่อพัฒนาความรู้ ทักษะในการประกอบอาชีพ และพัฒนาตนเองตามความถนัดและความสนใจ ความโดดเด่นของวิทยาลัยนี้ไม่เพียงมาจากชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยเท่านั้น แต่รวมถึงการจัดการหลักสูตรที่มีคุณภาพและสามารถในการจัดหลักสูตรที่หลากหลายเพื่อรองรับความต้องการของผู้สนใจแต่ละกลุ่มได้เป็นอย่างดี

ดึงดูดผู้เรียนกลุ่มใหม่ ด้วยหลักสูตรที่ยืดหยุ่นเหมาะสมกับกลุ่มคน กลุ่มเป้าหมายของวิทยาลัยศึกษาต่อเนื่อง มีทั้งกลุ่มคนทำงาน ผู้ประกอบการ ผู้สูงอายุ รวมถึงนักเรียนมัธยม ดังนั้นโปรแกรมจึงมีให้เลือกอย่างหลากหลายเหมาะสมกับบริบทของแต่ละคน สามารถเลือกเรียนตอนเย็นหลังเวลางาน เรียนช่วงภาคฤดูร้อน เรียนผ่านทางอินเทอร์เน็ต เรียนทางไกล โดยสามารถเลือกเรียนตามความสนใจเฉพาะทาง

ทั้งนี้ผู้เรียนสามารถเลือกเรียนทั้งแบบประกาศนียบัตร หรือปริญญาบัตรในระดับปริญญาตรี หรือปริญญาโทได้

ความหลากหลายของหลักสูตรนี้ ส่งผลให้มีผู้สนใจเข้าร่วมโปรแกรมเป็นจำนวนไม่น้อย ในแต่ละปีมีผู้สมัครเข้าเรียนประมาณ 13,000 คน มีตั้งแต่วัยรุ่นจนถึงอายุ 80 ปี จากทั่วสหรัฐอเมริกาและทั่วโลก สมัครเรียนทั้งแบบเรียนในมหาวิทยาลัยและระบบออนไลน์

ดึงคณะต่าง ๆ ร่วมสร้างหลักสูตรหลากหลายสอดคล้องกับกลุ่มอาชีพ
การร่วมมือระหว่างวิทยาลัยฯ และคณะต่าง ๆ ทำให้เกิดหลักสูตรที่เน้นการสร้างทักษะเฉพาะทางเพื่อการทำงาน เช่น ด้านสิ่งแวดล้อม การจัดการสิ่งแวดล้อม การศึกษา การสอนคณิตศาสตร์ การบริหารจัดการ สารสนเทศ เทคโนโลยีชีวภาพ พิพิธภัณฑ์ศึกษา นิเทศศาสตร์ ฯลฯ

การสร้างความร่วมมือนี้เอง ทำให้มีการนำเสนอหลักสูตรจำนวนมากถึง 620 หลักสูตร ครอบคลุมทั้งอาชีพสายวิทยาศาสตร์ และสังคมศาสตร์ สามารถเลือกเรียนผ่านระบบออนไลน์ได้ถึง 100 หลักสูตร

นอกจากนี้ยังมีการสร้างสาธารณูปโภค เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักศึกษา และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาการศึกษา ล่าสุดคือการติดตั้งระบบการศึกษาทางไกลที่ผู้เรียน ผู้สอนสามารถติดต่อปฏิสัมพันธ์กันได้ในเวลานั้น (Real time)

ข้อคิดอีกประการคือ แม้ว่าจะมีการขยายตัวของหลักสูตรต่อเนื่องแต่มหาวิทยาลัยยังคำนึงถึงคุณภาพของการจัดการศึกษา ที่ต้องรักษาคุณภาพด้านวิชาการ เสมือนหนึ่งการเรียนการสอนในหลักสูตรปกติ แต่มีความยืดหยุ่นเหมาะสมกับสถานภาพของผู้เรียน

ในทำนองเดียวกันมหาวิทยาลัยไทยเองสามารถเตรียมความพร้อม เพื่อรองรับแนวโน้มการจัดการศึกษาสำหรับกลุ่มคนวัยทำงานจะทวีความสำคัญมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น

การพัฒนาหลักสูตรที่เหมาะสำหรับบริบทของกลุ่มคนทำงาน
อาจเปิดหลักสูตรระยะสั้น หลักสูตรภาคค่ำนอกเวลาทำงาน หลักสูตรทางไกลที่เรียนผ่านอินเทอร์เน็ต โดยเนื้อหาหลักสูตรควรมีความหลากหลาย มีความน่าสนใจ และตอบสนองความต้องการของผู้เรียนในวัยทำงานได้เป็นอย่างดี อาทิ หลักสูตรที่เกี่ยวกับ Global literacy ได้แก่ กฎหมายระหว่างประเทศ สังคมและวัฒนธรรมในโลก การสร้างเครือข่าย การเจรจาต่อรอง การประสานประโยชน์ หลักสูตรการคิด ได้แก่ การคิดเชิงสร้างสรรค์ การคิดเชิงกลยุทธ์ การคิดเชิงอนาคต การคิดเชิงวิพากษ์ การคิดเชิงสังเคราะห์ ฯลฯ

การสร้างความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ
เพื่อพัฒนาหลักสูตรที่สอดคล้องกับตลาดแรงงาน รวมถึงสนับสนุนให้มีแหล่งเรียนรู้ตามอัธยาศัยที่มีคุณภาพและหลากหลาย ด้วยความร่วมมือระหว่างหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อช่วยคนในวัยแรงงานมีโอกาสได้เรียนรู้และพัฒนาทักษะด้วยตนเองมากขึ้น

การปรับตัวของมหาวิทยาลัยในยุคเปลี่ยนผ่าน สภาพสังคมที่เปลี่ยนไปนี้ มหาวิทยาลัยจึงไม่เพียงมองหาช่องทางพัฒนาตนเองให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เพื่อดึงดูดกลุ่มคนใหม่ ๆ เข้าศึกษาต่อเท่านั้น หากแต่ยังต้องรักษาคุณภาพของการจัดการศึกษา และสร้างความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ มากขึ้น เพื่อเป็นฐานกำลังสำคัญในการพัฒนาขีดความสามารถของทรัพยากรมนุษย์ อันจะนำไปสู่การพัฒนาประเทศได้แท้จริง

admin
เผยแพร่: 
สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
เมื่อ: 
2007-11-16